xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นพายุสุริยะรุนแรง กระเทือนคนยุคติดหนึบเทคโนโลยี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 15 ก.พ.54 ซึ่งเกิดการลุกจ้ารุนแรงที่สุดนับแต่ ธ.ค.2006 และจัดอยู่ในคลาสเอกซ์ ระดับ 2 ในภาพนี้เห็นเป็นภาพในย่านรังสียูวี (รอยเตอร์)
ผู้เชี่ยวชาญหวั่นพายุสุริยะครั้งใหญ่ เหมือนเมื่อเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนจะเกิดขึ้นอีก แล้วจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่พึ่งพาเทคโนโลยีเป็นหลักในชีวิตประจำวัน พร้อมยอมรับ ยังไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดพายุรุนแรงเมื่อไร

หลังดวงอาทิตย์เกิดการลุกจ้า (Flare) รุนแรงที่สุดในรอบ 4 ปี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นการลุกจ้าถึงระดับคลาสเอกซ์ (Class X) ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงที่สุดนั้น ทางผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาแสดงความกังวลต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตยุคใหม่ที่ติดอยู่กับการพึ่งพาเทคโนโลยี

จากรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี ที่ระบุความเห็นของผู้เชี่ยวชาญว่า สังคมยุคใหม่มีความเสี่ยงจาก “สภาพอวกาศ” (space weather) มากขึ้น เพราะเราพึ่งพิงระบบดาวเทียม ในการประสานเวลาคอมพิวเตอร์ ระบบนำทาง เครือข่ายการสื่อสารทางไกล และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป

ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญภายในการประชุมประจำปีของสมาคมเพื่อความหน้าวิทยาศาสตร์อเมริกัน (American Association for the Advancement of Science) บอกว่า พายุสุริยะที่รุนแรงสามารถรบกวนเทคโนโลยีเหล่านั้น ไปจนถึงทำลายดาวเทียม ตลาดหุ้น และเป็นสาเหตุให้ไฟดับได้นานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน สถานการณ์ที่กล่าวมานั้นดูจะรุนแรงขึ้นเพียงเพราะวัฎจักรสุริยะ (solar cycle) กำลังเข้าสู่ช่วงที่กิจกรรมสูงสุดในรอบ 11 ปี

นี่ไม่ใช่เรื่องว่า จะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อไร และรุนแรงแค่ไหน ครั้งสุดท้ายที่เกิดช่วงสูงสุดในวัฎจักรสุริยะคือเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ซึ่งโลกยังไม่เชื่อมโยงถึงกันมาเท่านี้ ตอนนี้โทรศัพท์มือถือมีให้พบอยู่ทั่วไป ก่อนหน้านี้ก็มีอยู่ทั่วแต่เราก็ไม่ได้พึ่งพามันเพื่อทุกสิ่งทุกอย่างเท่านี้” ความเห็นของ เจน ลุบเชนโก (Jane Lubchenco) จากองค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศสหรัฐฯ หรือโนอา (National Oceanographic and Atmospheric Agency: NOAA)

ลุบเชนโกบอกด้วยว่า ทุกอย่างที่เราใช้ในวันนี้นั้นมีแนวโน้มที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสภาพอวกาศมากกว่าเมื่อครั้งที่ดวงอาทิตย์เข้าสู่ช่วงสูงสุดของวัฎจักรสุริยะครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็ยอมรับว่า ปัจจุบันเราสามารถทำนายการเกิดพายุสุริยะที่รุนแรง จนก่อความเสียหายอย่างที่กล่าวมาได้เพียงเล็กน้อย อย่างมากที่สุดที่ทำได้ คือปกป้องระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าของโลกโดยหาทางป้องกันบางอย่าง ไม่อย่างนั้นก็หยุดจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่เสี่ยงจนกว่าช่วงอันตรายจะผ่านไป

“อย่าเพิ่งตื่นตระหนก” สตีเฟน เลชเนอร์ (Stephan Lechner) ผู้อำนวยการศูนย์คณะกรรมการความร่วมมือวิจัยยุโรป (European Commission Joint Research Center) ซึ่งเข้าร่วมในการประชุมดังกล่าวด้วย เรียกสติทุกคนหลับคืน พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า การตื่นตระหนกเกินไปนั้นจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย

เลชเนอร์กล่าวว่า สิ่งที่เป็นต้นเหตุของความเสี่ยงในโลกยุคใหม่ คือระบบนำทางจีพีเอสนั่นเอง ซึ่งระบบช่วยนำทางดังกล่าวต้องประสานเวลากับเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จีพีเอสนั้นช่วยและสร้างให้เกิดการพึ่งพารูปแบบใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีอิทธิพลครอบคุลมตั้งแต่ยานอวกาศ กลาโหม การถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัล การบริการทางการเงิน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ

เฉพาะแค่ในยุโรปอย่างเดียว เลชเนอร์บอกว่ามีผู้ให้บริการการสื่อสารทางไกลมากถึง 200 ราย และยังไม่มีอะไรที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเรายังมีความเข้าใจที่ห่างไกลอยู่มาก รัฐบาลทั่วโลกกำลังเร่งทำยุทธศาสตร์ในความร่วมมือและการแบ่งปันข้อมูล เพื่อเตรียมป้องกันพายุสุริยะในครั้งหน้า แม้ว่าผู้มีหน้าที่พยากรณ์เรื่องนี้ จะยอมรบว่าพวกเขายังไม่มั่นใจว่าเมื่อไรจะเกิดปรากฏการณ์ขึ้นอีก

“ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่อาจบอกได้ว่าจะเกิดพายุสุริยะครั้งใหญ่จากนี้อีก 6 เดือนข้างหน้า แต่เราบอกได้ว่าเมื่อไรที่เงื่อนไขจะสุกงอมพอที่จะเกิดพายุสุริยะขึ้น” จูฮะ-เพกกะ ลันทามา (Juha-Pekka Luntama) จากองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) ให้ความเห็น

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดการปะทุครั้งใหญ่บนดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบประมาณ 5 ปี ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ส่งอนุภาคมีประจุหมุนควงพุ่งตรงมายังโลกด้วยความเร็ว 900 กิโลเมตรต่อวินาที โดยเป็นพายุสุริยะคลาสเอกซ์ที่ทรงพลังที่สุดในกิจกรรมบนดวงอาทิตย์ และได้ทำให้เกิดแสงเหนือหรือแสงออโรราและรบกวนระบบสื่อวิทยุบางแห่ง แต่ผลกระทบดังกล่าวจำกัดบริเวณแค่แถบซีกโลกเหนือเท่านั้น

“เอาเข้าจริงกลายเป็นว่าเราได้รับการปกป้องอย่างดีในตอนนี้ สนามแม่เหล็กเรียงขนานดังนั้น จึงไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก แต่ในกรณีอื่นอาจจะไม่เป็นอย่างนี้” ลันทามากล่าว

พายุสุริยะนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ครั้งแรกที่เราบันทึกปรากฏการณ์ลุกจ้าของดวงอาทิตย์ครั้งใหญ่ได้คือเมื่อปี 1859 โดยนักดาราศาสตร์อังกฤษชื่อ ริชาร์ด คาร์ริงตัน (Richard Carrington) แล้วก็มีการตรวจพบพายุสุริยะอื่นๆ อีกหลายครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

จากข้อมูลขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) โดยพายุสุริยะครั้งใหญ่เมื่อปี 1972 ได้ตัดขาดการสื่อสารโทรศัพท์ทางไกลทางฝั่งตะวันตกของอิลลินอยส์ สหรัฐฯ ส่วนพายุครั้งใหญ่ครั้งใหญ่คล้ายๆ กันที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1989 ได้ทำให้เกิดพายุสนามแม่เหล็กโลก (geomagnetic storm) ที่รบกวนการแจกจ่ายกระแสไฟฟ้า และเป็นเหตุให้เกิดไฟดับทั่วแคว้นคิวเบคของแคนาดา

พร้อมกันนี้นักวิทยาศาสตร์ของนาซาได้จุดประเด็นไว้ในรายงานเมื่อปี 2009 ว่า การลุกจ้าของดวงอาทิตย์ที่รุนแรงนั้นทำให้เกิดแรงดันและกระแสไฟฟ้ามหาศาลที่ทำให้ระบบจ่ายพลังงานลัดวงจรได้ และเหตุหายนะเช่นนั้นจะทำให้สหรัฐฯ ต้องใช้เงินนับแสนล้านดอลลาร์เพื่อซ่อมแซมความเสียหายในปีแรก และยังต้องใช้เวลาถึง 10 ปีเพื่อฟื้นฟูความเสียหาย
ภาพ การลุกจ้าครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 4 ปี ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (จุดขาวด้านขวา) ส่งผลกระทบต่อการสื่อสารวิทยุทางตอนใต้ของจีน (นาซา/เอเอฟพี)
ภาพจากยานสำรวจอวกาศของนาซา ที่เผยให้เห็นการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์เมื่อปี 2000 (นาซา/เอเอฟพี)
ออโรรา แสงสวยเหนือสวีเดนจากพายุสุริยะเมื่อปี 2006 (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น