xs
xsm
sm
md
lg

“แสงเหนือ” สวยๆ จากพายุสุริยะครั้งรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปรากฏการณ์แสงออโรราเมื่อคืนวันที่ 24 ม.ค.2012 เหนือท้องฟ้าตอนเหนือของนอร์เวย์ (ภาพประกอบทั้งหมดจากเอเอฟพี)
พายุสุริยะครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 6 ปี ทำให้เกิด “แสงเหนือ” ที่สวยงามเหนือท้องฟ้าทางขั้วโลกเหนือ และแม้แต่นักดาราศาสตร์ผู้มากประสบการณ์ยังตะลึงงันในความสวยของการแต้มสีสันบนฟากฟ้าจากปรากฏการณ์รรมชาติครั้งนี้

“มันน่าทึ่งจริงๆ ผมเคยเห็นแสงออโรราครั้งแรกเมื่อ 40 ปีก่อน และครั้งนี้เป็นครั้งที่เยี่ยมที่สุด” จอห์น เมสัน (John Mason) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งล่องเรือสำราญเพื่อไปชมปรากฏการณ์แสงเหนือหรือออโรรา (aurora) ร้องด้วยอาการตื่นเต้น พร้อมกับให้ความเห้นแก่ทางเอพี โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 24 ม.ค.2012 ตามเวลาท้องถิ่นของนอร์เวย์

ทางด้านองค์การมหาสมุทรและบรรยากาศสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือโนอา (NOAA) เผยว่า จนถึงตอนนี้ทางองค์การยังไม่ได้ยินปัญหาใดๆ จากการพายุสุริยะที่กระตุ้นให้เกิดแสงออโรราในครั้งนี้ ซึ่งเกิดปรากฏการณ์ลงใต้ถึงแคว้นเวลส์ของอังกฤษ แต่สภาพอากาศก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการชมปรากฏการณ์สวยๆ นี้

ดีก บีเซคเกอร์ (Doug Biesecker) จากศูนย์พยากรณ์สภาพอวกาศสหรัฐฯ (U.S. Space Weather Prediction Center) กล่าวว่า แสงออโรราที่ปรากฏในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของพายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปี แต่ดูเหมือนว่าดวงอาทิตย์กำลังเข้าสู่ช่วงมีกิจกรรมมากขึ้นในอีก 2-3 เดือนและอีกหลายปีข้างหน้า

“สำหรับผมแล้วนี่เป็นสัญญาณปลุก ดวงอาทิตย์กำลังเตือนเราว่าช่วงช่วงสูงสุดของดวงอาทิตยืกำลังใกล้เข้ามาแล้ว สิ่งที่แย่กว่ากำลังรอเราอยู่ เราหวังว่าพวกคุณทั้งหลายจะแสดงความสนใจ แต่ผมอยากจะบอกว่าเราจะผ่านมันไปได้โดยง่าย” บีเซคเกอร์กล่าว

แม้ว่าอนุภาคจากพายุสุริยะซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเกือบเที่ยงคืนวันอาทิตย์ที่ 22 ม.ค.2012 ตามเวลามาตรฐานตะวันออกจะเพิ่งมาถึงโลกเมื่อวันอังคารตามเวลามาตรฐานเดียวกัน และทำให้เกิดแสงเหนือดังกล่าวนี้ขึ้น แต่ก็มีรายงานว่าเกิดแสงเหนือก่อนหน้านี้ลงต่ำถึงไอร์แลนด์และอังกฤษ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีโอกาสเกิดแสงออโรราได้น้อย แต่บีเซคเกอร์กล่าวแสงดังกล่าวนั้นเกิดจากลมสุริยะปกติ ไม่ใช่ผลจากพายุสุริยะเดียวกันนี้แต่อย่างใด

แสงออโรราปรากฏขึ้นเมื่อลมสุริยะที่ส่งอนุภาคแม่เหล็กออกมาปะทะเข้ากับสนามแม่เหล็กโลก แล้วไปกระตุ้นอิเล็กตรอนของออกซิเจนและไนโตรเจนในชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าการปะทุของดวงอาทิตย์จะเข้มข้นมากขึ้นกว่านี้เมื่อดวงอาทิตย์เข้าสู่ช่วงคุกรุ่นตามรอบวัฏจักร 11 ปี ซึ่งคาดว่าเกิดกิจกรรมสูงสุดในปี 2013 หากแต่ในช่วง 2-3 ปีมานี้ดวงอาทิตย์ค่อนข้างจะเงียบสงบมากกว่าปกติ และทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มคาดเดาว่าดวงอาทิตย์อาจจะเข้าสู่วัฏจักรเงียบกว่าปกติ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นประมาณศตวรรษละ 1 ครั้ง

กำลังโหลดความคิดเห็น