xs
xsm
sm
md
lg

คนวงการวิทย์คอนเฟิร์มเกิดขึ้นแน่ใน 2012

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปี 2012 เป็นที่กล่าวถึงล่างหน้ามาหลายปี จากผลพวงของภาพยนตร์ดังที่สื่อว่าโลกจะพบหายนะในปีนี้ รวมถึงคำพยากรณ์มากมายที่เผยแพร่กันในอินเทอร์เน็ต เราไม่อาจบอกได้ว่าโลกจะสิ้นสุดเมื่อไร แต่คนวงการวิทยาศาสตร์บอกได้ว่าปีนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

...ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ รวบรวมข้อมูลจากคนวงการวิทยาศาสตร์ ซึ่งฟันธงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2012 ...

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา
รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

“ปี 2012 ในวันที่ 6 มิ.ย. จะเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งใน 105.5 ปีข้างหน้า ครั้งที่แล้วเกิดเมื่อเดือน มิ.ย.ปี 2004 ซึ่งลักษณะปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์จะเกิดห่างกันเป็นคู่ๆ ครั้งนี้กับครั้งก่อนห่างกัน 8 ปี และครั้งนี้กับครั้งหน้าห่างกัน 105.5 ปี ส่วนครั้งถัดไปอีกจะเกิดขึ้นใน 8 ปีถัดไป จากนั้นต้องรออีก 120.5 ปี ซึ่งปรากฏการณ์เมื่อปี 2004 ก็ห่างจากปรากฏการณ์ก่อนหน้านั้น 120.5 ปี

ปรากฏการณ์ในเดือน มิ.ย.จะเกิดขึ้นในช่วงเช้าถึงเที่ยง ซึ่งเราจะถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ครั้งนี้ด้วย ลักษณะปรากฏการณ์ก็คล้ายสุริยุปราคา แต่เปลี่ยนจากดวงจันทร์เป็นดาวศุกร์และมีขนาดเล็กกว่า ในอดีตเราใช้ปรากฏการณ์นี้หาระยะระหว่างทางระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ จากการศึกษาของนักวิจัยในสถาบันพบว่าในอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 มีนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษมาศึกษาปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์นี้ที่เมืองไทยด้วย”

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี/ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

“เรื่องน่าติดตามในปี 2012 ของวงการวิทยาศาสตร์ระดับโลก คือการพัฒนาสเต็มเซลล์ (stem cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งดูเหมือนว่าในปีนี้จะสามารถนำมาใช้งานได้ โดยเฉพาะเซลล์ต้นกำเนิดสำหรับหัวใจที่มีความชัดเจนขึ้นว่าจะนำมารักษาโรคได้ แต่ในส่วนของสมองนั้นยังไม่ค่อยชัดเท่าไร ส่วนในวงการวิทยาศาสตร์ไทยนั้นก็มีเรื่องความก้าวหน้ายามาลาเรีย ที่กลุ่มวิจัยของผมกำลังพัฒนาอยู่ โดยจะคุยกับผู้สนับสนุนจากเครือข่ายยาต้านมาลาเรีย (Medicines for Malaria Venture: MMV) ในกรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ว่าจะให้ทุนเราในการพัฒนายาต่อหรือไม่ ซึ่งเราก็รอมาปีกว่าแล้ว เพราะเขาอยากรู้ว่าจะมีการดื้อยาหรือไม่ และเราก็ได้ทดสอบแล้วว่ามีการดื้อยาน้อยมาก ก็หวังว่าเขาจะให้ทุนพัฒนาต่อไปจนได้ยามารักษา คาดว่าอีก 1-2 เดือนจะรู้ว่าจะได้ทุนพัฒนาต่อหรือไม่”

ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม
นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

“สิ่งที่น่าตื่นเต้นในปี 2012 คือการทดลองว่านิวทริโนจะเดินทางได้เร็วหว่าแสงจริงหรือไม่ แล้วเราจะได้เจอฮิกก์สหรือเปล่า ถ้าได้เจอก็ดีแต่ไม่ได้เจอก็น่าตื่นเต้นกว่า ซึ่งความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์นั้นมักจะเกิดขึ้นแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เราคาดการณ์ไม่ได้ ในทางวิทยาศาสตร์นั้นเพียง 1 การทดลองที่พิสูจน์ก็สรุปได้ว่าล้านกว่าการทดลองไม่ใช่เรื่องจริง ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นในรูปแบบนี้ ตรงข้ามกับเรื่องไสยศาสตร์ที่ผิดล้านครั้งแต่ถูกแค่ครั้งเดียวก็เชื่อแล้ว”

นายธนากร พละชัย
รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

“ปี 2012 นี้ทาง อพวช.จะเปิดพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะทำให้เรามีพิพิธภัณฑ์ครบ 3 พิพิธภัณฑ์ คือ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และพิพิธภัณฑ์ไอที ซึ่งพิพิธภัณฑ์นี้จะเน้นการทำความเข้าใจเรื่องข้อมูล การพัฒนระบบการสื่อสาร การใช้ข้อมูล ที่เก็บข้อมูลโดยประมวลเทคโนโลยีทางด้านข้อมูลของแต่ละยุค และอีกก้าวที่สำคัญคือจะเริ่มก่อสร้างพิพิธภัณฑ์พระราม 9 ได้อย่างเป็นทางการ โดยจะใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 4 ปี ซึ่งพิพิธภัณฑ์นี้จะเน้นเรื่องการทรงงานของในหลวง และให้ความสำคัญในนิทรรศการเกี่ยวกับดิน น้ำ และระบบนิเวศน์ นอกจากนี้คาราวานวิทยาศาสตร์ของเราที่เดินสายให้ความรู้และสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์ของเราก็จะเพิ่มเป็น 2 ทีม จากเดิมที่มีอยู่แค่ทีมเดียว”

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์
รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสรเทศ (องค์การมหาชน)

“ปีที่ผ่านมามีภัยพิบัติเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งภัยแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น งานทางด้านวิทยาศาสตร์ก็จะเปลี่ยนไปมากขึ้น โดยจะหันมาให้ความสำคัญกับภับพิบัติมากขึ้น และเราน่าจะได้เห็นงานวิจัยที่ตอบคำถามเรื่องเหล่านี้ได้มากขึ้น เช่น การเวิเคราะห์เรื่องสถิติการเกิดฝนในระดับพื้นที่ และจะมีข้อมุลเยอะขึ้น การทำนายแผ่นดินทรุด เป็นต้น ส่วนเรื่องโลกแตกนั้น โลกแตกไม่ได้แต่เกิดภัยพิบัติได้ ภัยพิบัติที่มีคนตายเป็นแสนๆ นั้นโอกาสที่จะเกิดก็มีแต่น้อยมาก และจะต้องเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากสาเหตุอย่างแผ่นดินไหว อุกกาบาตหรือระเบิดนิวเคลียร์ เป็นต้น และภัยพิบัติก็ไม่ได้เกิดแค่ในปี 2012 แต่มีโอกาสเกิดขึ้นทุกปี ต้องเฝ้าระวังทุกปี แต่ถ้าโลกแตกไปเลยก็ไม่น่าห่วงอะไร”
กำลังโหลดความคิดเห็น