จากคำร้องขอข้ามปีเพื่อให้ไปแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเศรษฐศาสตร์ได้ฟัง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลายร่างมาเป็นหนังสือที่ไม่มีคำกริยาในชื่อว่า “วิทยาศาสตร์ เพื่ออะไร” ซึ่งถ่ายทอดทั้งความคิดและประสบการณ์ของ “ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์” อีกเสาหลักของวงการวิทยาศาสตร์ไทย
ปกติ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ในฐานะผู้เป็นหลานจะได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในโอกาสครบรอบวันเกิดของ ศ.ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในวันที่ 9 มี.ค. ของทุกปี ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แต่สำหรับการประชุมในปี 2554 นั้น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับการทาบทามจากคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ให้แสดงปาฐกถาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในเรื่องอะไรก็ได้ โดยมีเวลาในการเตรียมตัวปีกว่าๆ
“ปกติการบรรยายจะเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์แต่คราวนี้คณบดีท่านต้องการให้ปาฐกถาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในประเด็นอะไรก็ได้ ตอนนั้นก็ยังนึกไม่ออกแต่ก็มานึกถึงหัว “วิทยาศาสตร์เพื่ออะไร” เพราะอยากจะบอกว่าวิทยาศาสตร์มไว้เพื่ออะไร” ศ.ดร.ยงยุทธ เผยระหว่างการเปิดตัวหนังสือ ณ จตุรัสวิทยาศาสตร์ จตุรัสจามจุรี
เดิมที ศ.ดร.ยงยุทธเตรียมหัวข้อดังกล่าวเพื่อให้ผู้ฟังที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ทั้งอาจารย์ นักเศรษฐศาสตร์ โดยมองประเด็นเรื่องเศรษฐศาสตร์จะเป็นวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ แต่เมื่อเขียนไปได้ระยะหนึ่งหัวข้อดังกล่าวก็ก้าวไปสู่ทุกภาคส่วนของสังคม จึงพยายามเขียนด้วยภาษาง่ายๆ ซึ่งหัวข้อแบ่งเป็น 2 ชุด คือ ชุดที่เตรียมสำหรับการแสดงปาฐกถา มีการบรรยายเชิงวิชาการ และมีการอ้างอิงที่ชัดเจน ส่วนอีกชุดเป็นหนังสือที่เขียนให้ดูอ่อนลง และมีภาพประกอบเพื่อให้เหมาะสมแก่เยาวชน
ตอนหนึ่งของหนังสือวิทยาศาสตร์เพื่ออะไรนี้กล่าวถึง “วิญญาณวิทยาศาสตร์” ซึ่ง ศ.ดร.ยงยุทธกล่าวว่าวิทยาศาสตร์ก็มีวิญญาณ แต่ไม่ใช่วิญญาณที่เป็นภูติผี หากแต่เป็นเนื้อแท้ของวิทยาศาสตร์ 2 อย่างคือ วิญญาณของความมีวินัย มานะบากบั่นศึกษาในสิ่งที่มีคนค้นพบมาแล้ว และวิญญาณขบถ ซึ่งเป็นลักษณะของการเชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่งในสิ่งที่มีคนศึกษามาแล้ว ซึ่งนำไปสู่การค้นพบใหม่ๆ ในวิญญาณอย่างหลังนี้เราจำเป็นต้องคิดฉีกแนวว่ามีอะไรที่ดีกว่าสิ่งที่เคยคิดหรือไม่ และก็เป็นแนวคิดที่ใช้ได้กับเรื่องทั่วไป
“วิทยาศาสตร์ต้องมีจินตนาการ และคิดอย่างบรรเจิด แล้วจึงค่อยๆ เลาะออกมาว่าความจริงจะเป็นอย่างไร” อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
หลังจากเขียนหนังสือแล้ว ศ.ดร.ยงยุทธมีโอกาสทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หลังทรงอ่านแล้วได้ตรัสว่าเป็นหนังสือที่ดี สมควรที่เยาวชนจะได้อ่าน จึงเป็นการบ้านให้นักวิจัยอาวุโสกลับมาขบคิดว่าจะทำเช่นไร และที่สุดได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนประมหากษัตริย์เพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือโดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์
อย่างไรก็ดี ในมุมหนึ่งวิทยาศาสตร์ก็มีความเสี่ยงและสร้างความเสียหายต่อสังคมได้ เหมือน “ก็อดซิลลา” ในภาพยนตร์ที่เป็นผลพวงจากวิทยาศาสตร์ ซึ่งในนักวิทยาศาสตร์ในชีวิตจริงจำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะทำเช่นไรหากเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้น และด้วยเนื้อหาที่พาดพิงถึงอสูรร้ายสัญญาณญี่ปุ่นนี่เองนักวิทยาศาสตร์อาวุโสจึงเกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ในการนำภาพดังกล่าวมาใช้ แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพฯ จึงทรงพระราชทานภาพฝีพระหัตถ์ “ก๊อดซิร่า (เริง)” ให้เป็นภาพประกอบหน้าปก
“วิทยาศาสตร์มีไว้เพื่อความรู้ เพื่อจินตนาการซึ่งเป็นสิ่งที่ไปไกลความรู้อีกและมีไว้เพื่อประโยชน์ ซึ่งในแง่ของการนำไปใช้วิทยาศาสตร์ก็จะเป็นพื้นฐานสำหรับศาสตร์ทั่วๆ ไป ส่วนจะทำอย่างไรให้หนังสือวิทยาศาสตร์น่าอ่านนั้น ผมก็กำลังพยายามอยู่ ซึ่งการทำเช่นนี้ก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง” ศ.ดร.ยงยุทธให้ความเห็นสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์พร้อมทั้งให้ความเห็นเปรียบความสำคัญระหว่างวิทยาศาสตร์และคุณธรรมว่า หากมีความรู้แต่ไม่มีความดีนั้นแย่กว่าไม่มีความรู้ด้วยซ้ำไป
***
ตอบคำถามชิงหนังสือ “วิทยาศาสตร์ เพื่ออะไร” จำนวน 5 เล่ม
ถ้าด้านลบของวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ “ก๊อดซิลลา”? (คำถามชิงรางวัล)