xs
xsm
sm
md
lg

พาชมภาพวาดวิทยาศาสตร์ผลงาน “วิชัย มะลิกุล” นักวาดจากสมิทโซเนียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิทรรศการภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ “วาด..เส้นสายลายวิทยาศาสตร์” โดย วิชัย มะลิกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ จากภาควิชากีฏวิทยา สถาบันสมิทโซเนียน สหรัฐอเมริกา
อพวช.จัดโชว์ “ลายเส้นวิทยาศาสตร” ผลงาน “วิชัย มะลิกุล” นักวาดภาพวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญการวาดผีเสื้อประจำ “สมิทโซเนียน” พิพิธภัณฑ์ความรู้ของสหรัฐฯ โดยจัดแสดงตั้งแต่ผลงานที่บอกเล่าประวัติการทำงานของศิลปินผู้อยู่เบื้องลังการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ ผลงานแสดงเกียรติประวัติและผลงานที่ต้องอาศัยความเพียรพยายามอย่างการวาด “มอร์ธ” แมลงตัวจิ๋วเพียง 3.5 มิลลิเมตร ถึงวันที่ 21 ก.ย.นี้

หากใครมีเวลาว่างอย่าพลาดชมนิทรรศการภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ “วาด...เส้นสายลายวิทยาศาสตร์” ณ จตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. อาคารจตุรัสจามจุรี ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ สถาบันสมิทโซเนียน สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 5-21 ก.ย.54 โดยนิทรรศการดังกล่าวได้จัดแสดงผลงาน “วิชัย มะลิกุล” ผู้เชี่ยวชาญด้านการวาดภาพวิทยาศาสตร์ประจำภาควิชากีฏวิทยา สถาบันสมิทโซเนียน

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้เข้าชมนิทรรศการดังกล่าว ซึ่งแบ่งการจัดแสดงผลงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ นิทรรศการส่วนบอกเล่าประวัติและผลงานที่ปูทางนักวาดภาพชาวไทยผู้นี้สู่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี นิทรรศการแสดงรางวัลเกียรติคุณต่างๆ และนิทรรศการรวบรวมผลงานยากๆ ของเขา พร้อมกันนี้ได้เก็บภาพและรายละเอียดนิทรรศการบางส่วนมาฝาก

ในส่วนนิทรรศการบอกเล่าประวัติของวิชัยนั้นจัดแสดงภาพชุด “ปีกแห่งสวรค์และภาพดอกไม้พระราชทาน” ซึ่งเป็นภาพดอกไม้ที่มีชื่อพระราชทานทั้งหมด 7 ภาพ และภาพแมลง “สิรินธร ไทยแลนไดเอนซิส” (Sirindhorn thailandiensis) แมลงที่ได้รับชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และผลงานจากหนังสือภาพวาดชุด “ยุงก้นปล่อง” ซึ่งเป็นภาพวาดชุดแรกในฐานะนักวาดภาพวิทยาศาสตร์ และเป็นผลงานที่นำเขาเข้าสู่สถาบันสมิทโซเนียน

มาถึงนิทรรศการส่วนจัดแสดงเกียรติคุณต่างๆ ที่วิชัยได้รับจากสมิทโซเนียนและรางวัลจากประเทศไทย ในส่วนนี้มีภาพวาดสีน้ำรูปผีเสื้อจากคู่มือดูผีเสื้อ “เดอะปีเตอร์สัน ฟิล์ด ไกด์ ออฟ นอร์ธอเมริกา” (The Peterson Field Guide of North America) ซึ่งที่มีภาพวาดสีน้ำรูปผีเสื้อกว่า 500 ชนิด ซึ่งได้รับรางวัลรูปวาดแมลงสีน้ำดีเด่น ภายในการประชุมงานสัมมนาการสื่อสารเชิงชีวภาพระดับโลกด้านสุขภาพและวิทยาศาสตร์ (World Congress of Bio-Communication Conference Global Health and Science, Media Expo 1994) เมื่อปี 2533 ณ รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ

ส่วนสุดท้ายคือนิทรรศการผลงานยากที่วิชัยรวบรวมไว้ อาทิ ภาพวาดผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก (Micro Moth) ที่มีขนาดเพียง 3.5-9.0 มิลลิเมตร ซึ่งในการวาดภาพนั้นต้องตัดเอาอวัยวะเพศของผีเสื้อกลางคืนมาวาดเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์นำไปศึกษาและจำแนกวงศ์และสายพันธุ์ด้วย ดังนั้น ในการวัดภาพขนาดเล็กมากนี้เขาต้องใช้เทคนิคพิเศษเข้าช่วย ซึ่งเป็นเทคนิคที่ได้เห็นช่างวาดภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์หน้าโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยเขียนเส้นตารางบนรูปถ่ายเล็กๆ เพื่อนำไปขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นตามสัดส่วน

วิชัยนำเทคนิคของช่างวาดภาพโปสเตอร์มาประยุกต์โดยตีตารางใส่แผ่นกระจกแล้วนำไปใส่ไว้ในตำแหน่งเลนส์ใกล้ตา (Eye Piece) ของกล้องจุลทรรศน์ เพื่อวัดสัดส่วนเล็กๆ ของตัวอย่างแมลงที่นำมาวาด จากร่างภาพที่เห็นลงบนกระดาษ แล้วลอกลายด้วยกระดาษแก้วหรือกระดาษลอกแบบ เพื่อนำไปวาดลงกระดาษวาดรูปในชั้นสุดท้าย ซึ่งจะได้ขนาดมาตรฐานตามที่นักวิชาการและโรงพิมพ์กำหนด สำหรับการวิจัยผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กนี้ใช้เวลากว่า 20 ปีแล้ว และยังเหลืออีกประมาณ 300 สายพันธุ์ให้วาดภาพประกอบ ซึ่งหากแล้วเสร็จทั้งหมด จะเป็นชุดภาพวาดผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งยังไม่มีใครทำสำเร็จมาก่อน และจะเป็นสารานุกรมผีเสื้อฉบับแรกของโลก

ในนิทรรศการส่วนสุดท้ายนี้ยังมีภาพผีเสื้อกลางคืนชนิดใหม่คือ “คาโลสิมา มาลิกุลี” (Calosima malikuli) ที่ค้นพบโดย ดร.เดวิด อดามสกี (Dr.David Adamski) และได้ตั้งชื่อเพื่อให้เกียรติแก่วิชัย เนื่องจาก ดร.อดามสกีเคยเรียนวาดภาพกับวิชัย และยังมีอีกภาพไฮไลท์คือภาพ “มดในอำพัน” ซึ่งเป็นภาพของฟอสซิลอำพันที่มีอายุกว่า 200 ปี ที่วิชัยต้องใช้กล้องดิจิทัลบันทึกภาพจากกล้องจุลทรรศน์ แล้วนำมาเป็นแบบในการวาดภาพ

นอกจากนำผลงานมาจัดนิทรรศการแล้ว วิชัยยังเป็นวิทยากรในอบรมวาดภาพวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนอายุระหว่าง 9-15 ปี ซึ่งเขาบอกว่าการวาดภาพวิทยาศาสตร์นั้นจะช่วยให้เด็กๆ ได้ฝึกทำสมาธิ และยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติให้เยาวชนรุ่นนี้ ซึ่งจะเติบโตไปเป็นผู้พัฒนาประเทศในอนาคต และให้ประสบการณ์ให้เด็กๆ ได้รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร และจะได้เดินตามเส้นทางที่ชอบ สำหรับเยาวชนหรือ คนสนใจวาดภาพทางวิทยาศาสตร์นั้น ควรจะต้องเป็นคนที่มีใจรักในเรื่องของการวาดภาพแมลง หรือชอบในการวาดภาพทางด้านชีววิทยา ซึ่งการศึกษาทางด้านกีฏวิทยาและชีววิทยาในประเทศไทยนั้นมีการเรียนการสอนแบบให้วาดภาพประเภทนี้เช่นกัน

“งานศิลปะทางด้านวิทยาศาสตร์คืองานศิลปะด้านการวาดลายเส้น รายละเอียดบางอย่างไม่สามารถบันทึกภาพได้ด้วยกล้องได้ เช่น ในการเก็บรายละเอียดเหล่านั้นมาทำเป็นหนังสือหรือว่าคู่มือต่างๆ เราจะต้อง เก็บรายละเอียดที่เป็นตัวบ่งชี้ว่ามันเป็นสัตว์ประเภทไหน สายพันธุ์อะไร ในแมลงที่มีขนาดตัวเล็กมากๆ อวัยวะเพศของมันเท่านั้นถึงเป็นตัวบ่งชี้ว่าแมลงพวกนี้เป็นชนิดไหน สายพันธุ์อะไร ซึ่งการวาดภาพจะแสดงให้เห็นถึงว่าอวัยวะต่างๆ เหล่านั้นมีลายเส้นอย่างไร มีรูปแบบของจุดแบบไหน และโครงสร้างส่วนไหนที่ซ้อนทับกันบ้าง คล้ายกับฟิล์มเอ็กซเรย์ เมื่อนักวิทยาศาสตร์นำรูปวาดไปใช้งานนั้นจะสามารถเห็นข้อบ่งชี้ได้ทันทีว่าเป็นแมลงชนิดไหน” อาจารย์วิชัย กล่าว

สำหรับผู้สนใจชมนิทรรศการภาพวาดทางวิทยาศาสตร์ “วาด...เส้นสายลายวิทยาศาสตร์” สามารถเข้าชมได้ฟรี ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 21 ก.ย.54 เวลา 10.00 -21.00 น. ณ จตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 จตุรัสจามจุรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ภาพวาดชุด “ปีกแห่งสวรรค์และภาพดอกไม้ชื่อพระราชทาน” เป็นภาพดอกไม้ที่มีชื่อพระราชทานจากเจ้าฟ้าองค์ต่างๆ
ภาพ ก้ามกุ้งใหญ่หรือธรรมรักษาหนึ่งในภาพวาดชุด“ปีกแห่งสวรรค์และภาพดอกไม้ชื่อพระราชทาน”
ชื่อพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพฯ ชื่อภาพ “Sirindhorn thailandiensis” ทูลเกล้าถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
หนังสือภาพวาดชุด “ยุงก้นปล่อง”ที่นำอ.วิชัยสู่สถาบันสมิธโซเนียน
ผลงานภาพวาดผีเสื้อที่ได้รับรางวัลภาพวาดแมลงสีน้ำดีเด่น ณ รัฐฟลอริด้าและยังถูกใช้เป็นคู่มือของนักนิยมธรรมชาติและตำราการศึกษา
ภาพวาดผีเสื้อสีน้ำดีเด่นจากชุดเดียวกันมีกว่า 500 ชนิด
ภาพปีกแมลงไมโคร มอธ แมลงที่มีขนาดเล็กเพียง 3.5-9 ม.ม. ต้องใช้อวัยวะเพศผู้-เพศเมียเป็นตัวแยกวงศ์ และสายพันธุ์
ชื่อที่ตั้งไว้เพื่อเป็นเกียรติแก่อ.วิชัย “Calosima malikuli”
ภาพ“มดในอำพัน” อยู่ในฟอสซิลที่มีอายุกว่า 200 ล้านปี
กำลังโหลดความคิดเห็น