xs
xsm
sm
md
lg

“แสงซินโครตรอน” ร่วมพิพิธภัณฑ์วิทย์ จัดใหญ่ “มหัศจรรย์กระจก” ครั้งแรกภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.น.ท.ดร. สราวุฒิ สุจิตจร ผอ. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ ดร. พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการ อพวช. ร่วมเปิด“นิทรรศการภาพสะท้อน” ขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาค ที่ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา วันนี้ ( 12 พ.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จับมือ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จัดใหญ่ “นิทรรศการภาพสะท้อน” ครั้งแรกในภูมิภาค และภาคอีสาน เผยนำเสนอมุมภาพสะท้อนที่ปรากฏบนกระจกหลากรูปแบบ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแสง-ภาพ และการพัฒนาการของกระจก พร้อมโชว์กระจกส่องผู้ต้องหาเป็นแห่งแรก หวังเปิดโอกาสให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และ ปชช.อีสานได้ศึกษาเรียนรู้การสะท้อนของแสง เผยจัดแสดงต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ย. เป็นต้นไป

วันนี้ (12 พ.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกันเป็นประธานเปิด “นิทรรศการภาพสะท้อน” ขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาค และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และการสะท้อนของแสงในรูปแบบต่างๆ ผ่านกระจก

สำหรับนิทรรศการภาพสะท้อน (Reflection Exhibition) เป็นนิทรรศการที่ใช้กระจกเป็นเนื้อหาหลัก โดยนำเสนอในมุมของภาพสะท้อนที่ปรากฏจากกระจกในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น หลักการของแสง การสะท้อนของภาพและแสง ประวัติ ขั้นตอนการผลิต และพัฒนาการของกระจก โดยการนำเสนอแบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก จัดแสดงบนพื้นที่กว่า 650 ตารางเมตร มีกระจกรูปแบบต่างๆ รวมกว่า 25 รูปแบบ ประกอบด้วย

โซน 1.ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแสง ในโซนนี้จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับแสง เพราะการเห็นสิ่งต่างๆ ได้นั้นก็เพราะแสงมาตกกระทบกับวัตถุ โดยลักษณะการสะท้อนจะขึ้นอยู่กับชนิด และลักษณะของตัวกลางที่แสงตกกระทบ ชิ้นงานที่อธิบายความรู้เกี่ยวกับแสง คือ ใยแก้วนำแสง, กระจกส่องดูผู้ต้องหา, ภาพลวงตา, ค้นฟ้าคว้าเพชร, กระปุกออมสินลวงตา และภาพ 3 มิติ

โซน 2.ปรากฏการณ์ภาพสะท้อนจากแสง โซนนี้ทำให้ทราบว่ากระจกสามารถสะท้อนแสง และภาพได้อย่างไร ด้วยการศึกษาถึงประวัติการค้นพบกระจก และขั้นตอนการผลิต ส่วนประกอบ ประเภท และการสะท้อนภาพของกระจก ชิ้นงานในโซนนี้สร้างสรรค์จากสิ่งที่ได้จากการสะท้อนของกระจก เช่น ศีรษะมายา, กระจกสร้างภาพ, ไม้กวาดเหินเวหา, เขาวงกตมายา และแท่นกระจกไม่รู้จบ เป็นต้น

โซน 3.เลื่อมพรายสายรุ้ง สิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่มีลักษณะปรากฏคล้ายกระจกในตัวของมัน ด้วยความสวยงามจากสีสันของกระจกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เรียกกระจกในสิ่งมีชีวิตว่า “เลื่อมพรายสายรุ้ง” (Iridescent Wilderness) ซึ่งสิ่งที่คล้ายกระจกนี้ เกิดจากสารประกอบหลายชนิด เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต ไคตินเคอราติน หรือ สารโปรตีน เราพบเลื่อมพรายรุ้งในสิ่งมีชีวิต เช่น ปีกผีเสื้อ แมลงทับ หอยมุก หางปลากัด ผิวหนังของงู และเส้นผมมนุษย์

ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ อพวช. ในการร่วมกันสร้างกิจกรรมด้านการเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่สาธารณะ รวมถึงการเผยแพร่ผลการดำเนินงาน และประชาสัมพันธ์กิจกรรมของทั้ง 2 หน่วยงานให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางต่อภาคประชาชน และเสริมสร้างให้ภาคประชาชนของประเทศมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง มีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทั้ง 2 หน่วยงานต้องร่วมกันสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้แก่บุคลากรของแต่ละหน่วยงาน โดยการแลกเปลี่ยนวิทยากรเพื่อให้ความรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพ

สำหรับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และให้บริการด้านแสงซินโครตรอนแก่นักวิจัยทั้งใน และต่างประเทศ มีความร่วมมือกับทั้งองค์กรภาครัฐ และเอกชนระดับชั้นนำของประเทศเพื่อให้นักวิจัยเข้ามาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี แสงซินโครตรอนในการพัฒนาขีดความสามารถให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ

ด้าน ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า การจัดแสดง “นิทรรศการภาพสะท้อน” ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในภูมิภาค และครั้งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นกิจกรรมแรกในการลงนามความร่วมมือของ 2 สถาบัน ซึ่งนิทรรศการดังกล่าวไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน และมีบางชิ้นที่พัฒนขึ้นมาใหม่ เช่น กระจกภาพ 3 มิติ และกระจกส่องผู้ต้องหา เป็นต้น โดยใช้งบประมาณในการจัดสร้างกระจกในรูปแบบต่างๆ นี้กว่า 4 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้นิทรรศการดังกล่าวเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการสะท้อนของแสง โดยงานนี้จะจัดแสดงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ย.55 เป็นต้นไป ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และในวันเด็กปี 2556 ทางสถาบันฯ จะจัดกิจกรรมขึ้นเพื่อเชิญชวนให้เด็กๆ และเยาวชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้

นอกจากนี้ อพวช. ยังมีโครงการที่จะจัดคาราวานวิทยาศาสตร์ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อนำวิทยาศาสตร์ออกไปสู่เยาวชน และประชาชนทั่วประเทศ พร้อมดึงท้องถิ่นเข้ามาร่วมซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เยาวชน และประชาชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวให้มากขึ้นด้วย

“ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมชมนิทรรศการภาพสะท้อนดังกล่าวได้ในวันเวลาราชการ โดยติดต่อส่วนงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1251-2 เชื่อว่าทุกท่านจะได้สัมผัส เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ และได้รู้ว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สนุกที่อยู่รอบๆ ตัวเรา” ดร.พิชัยกล่าว







กำลังโหลดความคิดเห็น