xs
xsm
sm
md
lg

สงสารแพนด้า...อนาคตจะไม่มีไผ่กินเพราะโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบบจำลองภูมิอากาศชี้โลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อการเจิรญเติบโตของไผ่ซึ่งเป็นอาหารอย่างเดียวของแพนด้า (ไลฟ์ไซน์/Jessie Cohen/Smithsonians National Zoo)
แม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่คนหลงมากที่สุดด้วยหน้าตาน่าเอ้นดู แต่ “แพนด้า” ก็ไม่รอดพ้นจากการถูกภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศคุกคาม เมื่อนักวิจัยศึกษาว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงศตวรรษหน้านั้น จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของไผ่ซึ่งเป็นอาหารอย่างเดียวของหมีตาขอบดำ เว้นแต่พืชชนิดนี้จะย้ายถิ่นเจริญเติบโตไปยังบริเวณที่สูงขึ้นก็ยังจะพอมีหวังได้บ้าง

อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยระบุว่า ความหวังที่พอมีในการกอบกู้พื้นที่เจริญเติบโตของไผ่ ซึ่งเป็นอาหารแพนด้านั้นอาจถูกมนุษย์แย่งชิงไปเป็นถิ่นอาหารและใช้สร้างกิจกรรมต่างๆ หากว่าเราเริ่มโครงการอนุรักษ์ช้าเกินไป โดย หลิว เจี้ยนกั๋ว (Jianguo Liu) สมาชิกทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย (Michigan State University) สหรัฐฯ บอกทางไลฟ์ไซน์ ว่า หากเราเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ตอนนี้เลยก็ยังคงพอมีหวัง แต่หากมัวก็จะช้าเกินไป

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ใช้แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่อคาดคะเนอนาคตของไผ่ 3 สปีชีส์ ที่จำเป็นต่อแพนด้าในภูเขาฉินหลิ่ง (Qinling Mountain) ของจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ 1 ใน 4 ของที่อยู่อาศัยของแพนด้า แต่ละแบบจำลองนั้นแตกต่างกันไปตามคาดการณ์ที่จำเพาะ แต่ทุกแบบจำลองพยากรณ์ถึงระดับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นภายในศตวรรษที่จะมาถึง

ผลการพยากรณ์ชี้ว่า หากไผ่เหล่านั้นยังถูกกำจัดการกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน ไผ่จำนวน 80-100% ของปัจจุบันจะหายไปภายในปลายศตวรรษที่ 21 เพราะไม่สามารถเจิรญเติบโตได้ในอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทีมวิจัยได้ตีพิมพ์ผลวิจัยลงวารสาร เนเจอร์ไคลเมทแชงจ์ (Nature Climate Change)

อย่างไรก็ดี ในอนาคตหากไผ่สามารถย้ายไปเติบโตในพื้นที่ใหม่ซึ่งหนาวเย็นกว่า และเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิเท่าถิ่นที่อยู่เดิมในปัจจุบัน (เนื่องจากคาดการณ์ว่าอนาคตจะร้อนขึ้น) ก็ยังพอมีหวังแก่การอยู่รอดของไผ่เหล่านั้นต่อไปได้ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์เราจะสามารถจำกัดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ด้วยการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตได้หรือไม่

“แบบจำลองทั้งหมดค่อนข้างสอดคล้องกัน แนวโน้มทั่วไปนั้นเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างกันคืออุณหภูมิของการเปลี่ยนแปลง แม้จะมีภาพความหวังอยู่บ้างเมื่อเรายอมให้ให้ไผ่กระจายพันธุ์ไปได้ทุกที่ แต่ก็ยังคงมีผลตามมาที่น่ากลัว และชัดเจนว่าหากไผ่ไม่มีที่ไปจริง ถิ่นอาศัยของแพนด้าก็จะลดลงอย่างรดเร็วด้วย” หลิวอธิบายผลคาดการณ์จากแบบจำลองสภาพอากาศแก่ไลฟ์ไซน์

ตอนนี้แพนด้าจำนวนมากอาศัยอยู่ในป่าอาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งกันไม่ให้มนุษย์บุกรุกเข้าไป ถึงอย่างนั้น พื้นที่เกือบทั้งหมดที่แพนด้าอาศัยอยู่ก็จะไม่ใช่ถิ่นเจริญเติบโตที่ยั่งยืนสำหรับไผ่ในอนาคต หากอุณหภูมิยังคงพุ่งสูงขึ้นไปตามที่พยากรณ์ไว้ แต่หากนักอนุรักษ์เดินหน้าตั้งแต่ตอนนี้เพื่อย้ายพื้นที่อนุรักษ์แพนด้าไปตามขอบเขตถิ่นที่อยู่ของไผ่ ก็มีความเป็นไปได้ในการอนุรักษ์พื้นที่ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของแพนด้าได้

อย่างไรก็ดี นักวิจัยระบุว่า ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กำลังคุกคามแพนด้ายักษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลก แต่กิจกรรมของมนุษย์ก็ได้จำกัดถิ่นที่อยู่ของสัตว์ ซึ่งอาศัยแหล่งอาหารเพียงอย่างเดียว ที่อาหารอื่นซึ่งให้สารอาหารและอุดมพลังงานไม่อาจทดแทน

นอกจากแพนด้าในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติในจีนแล้ว ยังมีแพนด้าที่กระจายตัวไปตามสวนสัตว์ต่างๆ และศูนย์ขยายพันธุ์ทั่วโลก แต่หลิวก็ไม่อาจคาดเดาอนาคตของแพนด้าหากพวกมันสูญเสียแหล่งอาศัยตามธรรมชาติไปหมด และการอนุรักษ์ไม่ใช่เพียงการขยายพันธุ์ในศูนย์หรือสวนสัตว์ ซึ่งจะเป็นการทำลายความหลากหลายทางพันธุกรรมของสัตว์ และไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถาวร







กำลังโหลดความคิดเห็น