xs
xsm
sm
md
lg

พบปูใต้ทะเลลึกมองเห็นได้!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปูใต้ทะเลลึกอาศัยอยู่กับปะการังที่เป็นพิษได้ (บีบีซีเนเจอร์)
นักวิจัยดำดิ่งสู่ใต้ทะเลลึก 1,000 เมตร ที่แสงสว่างส่องไม่ถึง พบสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเรืองแสงได้ และยังพบว่าปูและสัตว์เปลือกแข็งใต้ทะเลตอบสนองต่อแสงสีน้ำเงิน และรังสีอัลตราไวโอเลต ชี้ว่า ปูในโลกมืดเหล่านี้อาศัยความสามารถในการมองเห็นเพื่อค้นหาอาหารที่กินได้

การทดลองนี้นำโดย ศ.ซองเก จอห์นเซน (Prof. Sonke Johnsen) จากมหาวิทยาลัยดุค (Duke University) ในนอร์ธคาโรไลนา สหรัฐฯ และ ดร.ทามารา แฟรงก์ (Dr.Tamara Frank) จากมหาวิทยาลัยโนวาเซาธ์อีสเทิร์น (Nova Southeastern University) ในฟลอริดา สหรัฐฯ พร้อมด้วยคณะ ซึ่งได้นั่งเรือดำน้ำดำดิ่งสำรวจมหาสมุทรบาฮามัสที่ความลึกตั้งแต่ 600-1,000 เมตร

ที่ระดับความลึกดังกล่าวนักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตแสงวาบของการเรืองแสงชีวภาพบริเวณที่แพลงก์ตอนกระทบกับหินก้อนใหญ่และปะการัง โดยบีบีซีเนเจอร์ ระบุว่า พวกเขาได้บันทึกชนิดสิ่งมีชีวิตที่เรืองแสงแตกต่างกันตามที่พวกเขาได้เจอ เพื่อเริ่มต้นทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่ความลึกระดับนี้ และใช้ท่อดูดพิเศษของเรือดำน้ำดูดเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำเปลือกแข็งที่มีชีวิตจากจจุดสำรวจเพื่อทดสอบว่าสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่กว่าสิ่งมีชีวิตเรืองแสงเล็กๆ นั้นรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมโดยปราศจากแสงอาทิตย์ได้อย่างไร

มีสิ่งมีชีวิตที่พวกเขาศึกษา 8 สปีชีส์ที่ไวต่อแสงสีน้ำเงินและ 2 สปีชีส์ในจำนวนนั้นมีการตอบสนองต่อความยาวคลื่นย่านอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวี ซึ่ง ศ.จอห์นเซน ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากที่มีสิ่งมีชีวิตซึ่งสัมผัสรังสียูวีได้อยู่ในแหล่งอาศัยซึ่งมีรังสียูวีอยู่น้อยที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

อ้างตามผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์ทางทะเลบีบีซีเนเจอร์ ระบุว่า สิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถในการตรวจจับสีใน 2 ย่านดังกล่าวนั้น จะใช้ความสามารถนี้ในการบอกถึงความแตกต่างระหว่างการเรืองแสงสีเขียวซึ่งมักจะเป็นปะการังมีพิษที่สัตว์เปลือกแข็งเหล่านั้นอาศัยอยู่ กับแสงสีน้ำเงินซึ่งเป็นแพลงก์ตอนที่พวกมันกิน แต่นักวิจัยย้ำว่าคำอธิบายนี้ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน

เป้าหมายเดิมของส่วนหนึ่งในปฏิบัติการนั้น เพื่อยืนยันว่า ที่พื้นทะเลนั้นปูไปด้วยพื้นเรืองแสงหนาๆ จากการที่เศษซากต่างๆ จมลงมาระดับน้ำด้านบนซึ่งถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียเรืองแสง แต่สภาพที่ความลึกซึ่งยังไม่ได้รับการสำรวจอย่างกว้างขวางนั้นขวางไม่ให้นักวิทยาศาสตร์ได้รับหลักฐานใดๆ ที่จะสนับสนุนทฤษฎีดังกล่าว ซึ่ง ดร.แฟรงก์ บอกทางบีบีซีเนเจอร์ว่า กระแสน้ำที่ด้านล่างนั้นรุนแรงเกินกว่าจะยอมให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ลงไปเก็บตัวอย่างซากที่จมอยู่ ซึ่งเป็นภารกิจที่เหลือไว้สำหรับการสำรวจในอนาคต

ดร.แฟรงก์ สันนิษฐานว่า เราอธิบายถึงการมองเห็นที่ไม่ไวนักของปูใต้ทะเลลึกได้ด้วยการมีปรากฏของหย่อมเรืองแสงเหล่านั้น ซึ่งเธอเชื่อว่าความช้าของตาปูดังกล่าวนั้นจะทำงานเหมือนการเปิดหน้ากล้องเป็นเวลานานแล้วได้ภาพของสิ่งเคลื่อนไหวอย่างมัวๆ ซึ่งทำให้ปูมองเห็นพื้นที่เรืองแสงหรี่ๆ ได้

ด้าน ศ.จอห์นเซน ยังเห็นด้วยว่า การสำรวจทะเลที่ลึกลงไปอีกนั้นเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อตระหนักถึงระบบอันซับซ้อนระหว่างสำรวจ เขากล่าวว่าพื้นทะเลนั้นเป็นพื้นที่ 3 ใน 4 ของพื้นที่โลก และห้วงน้ำก็เป็นพื้นที่ถึง 99% สำหรับดำรงชีวิต และตอนนี้เราก็รู้จักห้วงน้ำเหล่านั้นน้อยกว่ารู้จักพื้นผิวดวงจันทร์เสียอีก

“ผมเชื่อว่า คนเราจะปกป้องเพียงสิ่งที่พวกเขารัก และพวกเขาก็จะรักเฉพาะสิ่งที่พวกเขารู้จัก ดังนั้น ส่วนหนึ่งในงานของเราคือการแสดงให้ทุกคนได้เห็นว่ามีอะไรอยู่ข้างล่างนั่น” ศ.จอห์นเซน กล่าว
ในทะเลลึกที่แสงเข้าถึงยาก นักวิจัยพบปูและสัตวืน้ำเปลือกแข็งที่มองเห็นสีได้ (บีบีซีเนเจอร์)
ภาพแพลงก์ตอนเรืองแสงเป็นสีน้ำเงินรอบๆ กุ้งที่เห็นเป็นสีแดงเนื่องจากแสงของเรือดำน้ำ (บีบีซีเนเจอร์)
แพลงก์ตอนเรืองแสงสีน้ำเงินขณะผ่านเข้าไปยังปะการังเรืองแสงสีเขียว (บีบีซีเนเจอร์)
เรือดำน้ำในการสำรวจ (บีบีซีเนเจอร์)






กำลังโหลดความคิดเห็น