xs
xsm
sm
md
lg

พิษ “งูแมมบ้า” เลิศกว่ามอร์ฟีน ผลข้างเคียงน้อยกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยพบ พิษจากงูแบล็คแมมบ้ามีฤทธิ์ระงับปวดเทียบเท่ามอร์ฟีน แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า (ภาพประกอบทั้งหมดจากบีบีซีนิวส์)
ข่าว “งูแมมบ้า” อาจเคยสร้างความตระหนกแก่คนไทยช่วงน้ำท่วมใหญ่ปีที่ผ่านมา แต่ข่าวนี้เป็นข่าวดีเมื่อนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส พบว่า พิษของงูสายพันธุ์แอฟริกานี้ มีฤทธิ์ระงับปวดเทียบชั้น “มอร์ฟีน” แต่ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงเท่า

นักล่าอย่าง งูแมมบ้า (mamba) ที่มีพิษรุนแรงที่สุด และเลื้อยได้เร็วที่สุดจากแอฟริกานี้ ใช้พิษของตัวเองที่มีฤทธิ์ทำลายประสาท เพื่อทำให้เหยื่อเป็นอัมพาตและฆ่าให้ตาย แต่งานวิจัยใหม่ได้ใช้พิษจอมเลื้อยไปทดสอบในหนูทดลอง แล้วพบว่าพิษงูดังกล่าวมียาระงับปวดอันทรงประสิทธิภาพ และได้เผยแพร่ผลงานลงวารสารเนเจอร์ (Nature)

ทีมวิจัยยอมรับว่า พวกเขางุนงงว่าเหตุใดงูแมมบ้าต้องผลิตสารที่มีฤทธิ์ระงับปวดด้วย ซึ่งทางบีบีซีนิวส์ ได้รายงานว่า ทีมวิจัยได้ค้นหาพิษจากงูกว่า 50 สปีชีส์ ก่อนที่จะได้พบโปรตีนระงับปวดจากงูแบล็กแมมบ้า (black mamba) ที่เรียกว่า “แมมบาลกินส์” (mambalgins)

ดร.อีริค ลินกูกลียา (Dr Eric Lingueglia) จากสถาบันเภสัชวิทยาเชิงโมเลกุลและเซลล์ (Institute of Molecular and Cellular Pharmacology) จากเมืองนิซ ฝรั่งเศส บอกทางบีบีซีนิวส์ ว่า เมื่อทำการทดสอบในหนูทดลองพบว่าภาวะไร้ความเจ้บปวดนั้นเทียบเท่ามอร์ฟีน แต่กลับไม่มีผลข้างเคียงมากเท่ายาระงับปวดที่มีฤทธิ์เป็นสารเสพติด

ทั้งนี้ มอร์ฟีนทำปฏิกิริยากับสมอง ซึ่งสามารถระงับความเจ็บปวด แต่ก็ทำให้เสพติดและเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะได้ แล้วยังทำให้คิดอะไรได้ช้า อาเจียน และกล้ามเนื้อกระตุกด้วย แต่สำหรับโปรตีนแมมบาลกินส์แล้วมีวิธีระงับปวดต่างจากมอร์ฟีนอย่างสิ้นเชิง และยังเกิดผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย

ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในหนูทดลองและคนนั้นมีวิถีทางคล้ายคลึงกัน ซึ่ง ดร.ลินกูกลียา คาดหวังว่า จะสามารถพัฒนายาระงับปวดจากพิษงูแมมบ้าที่สามารถในระดับคลินิกได้ และการทดสอบกับเซลล์มนุษย์ในห้องปฏิบัติการ ก็แสดงให้เห็นว่า แมมบาลกินส์ นั้น ให้ผลเชิงเคมีในมนุษย์แบบเดียวกับหนูทดลองด้วย

อย่างไรก็ดี นักวิจัยระบุว่า การทดลองนี้ยังเป็นเพียงการทดลองระยะแรก ซึ่งยากจะบอกได้ว่าโปรตีนจากพิษงูนี้จะนำไปใช้เป็นยาระงับปวดได้หรือไม่ และยังคงต้องทำการทดลองอีกมากในสัตว์

ด้าน ดร.นิโคลัส เคสเวลล์ (Dr.Nicholas Casewell) ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษงูจากวิทยาลัยการแพทย์เขตร้อนลิเวอร์พูล (Liverpool School of Tropical Medicine) ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของพิษงูในฐานะวัตถุดิบสำหรับผลิตยาให้ความเห็นต่อการศึกษาพิษงูแมมบ้า ว่า เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และเป็นตัวอย่างสำคัญของยาจากพิษงู ซึ่งนับเป็นยาระงับปวดประเภทใหม่

ส่วน ดร.ลินกูกลียา ผู้ทำวิจัยเองก็รู้สึกแปลกใจอย่างยิ่งที่พิษงูแบล็กแมมบ้านั้น มีสารระงับปวดอยู่ด้วย และ ดร.เคสเวลล์ ก็เห็นด้วยว่าการค้นพบดังกล่าวเป็นเรื่องแปลก และเสริมว่า ผลของการออกฤทธิ์ให้เหยื่อไร้ความเจ็บปวดนี้อาจทำงานร่วมกับพิษอื่นๆ เพื่อกันไม่ให้เหยื่อหนีรอดไปได้ หรือเป็นไปได้ว่าอาจจะส่งผลต่อสัตว์ชนิดต่างๆ ในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น หากทดลองในนกอาจไม่ได้ผลเช่นทดลองในหนูก็ได้
งูแบล็คแมมบ้าจากแอฟริกา เลื้อยเร็วที่สุด พิษร้ายแรงที่สุด







หมายเหตุ*
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงงู เผยข่าวการหลุดของงูกรีนแมมบ้าในช่วงน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา น่าจะเป็นเพียงข่าวลือ และหากเป็นความจริงโอกาสที่งูเหล่านั้นจะมีชีวิตรอดจากสภาพแวดล้อมเมืองไทยที่ร้อนชื้นก็เป็นไปได้น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น