xs
xsm
sm
md
lg

4 ลูกน้อยผุดความหวังออสซี่ไม่สิ้น “ควอลล์หางจุด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม่ควอลล์หางจุดให้กำเนิดลูกน้อย 4 ตัวภายในศูนย์อนุรักษ์ ซึ่งจุดประกายความหวังให้ออสเตรเลียดำรงเผ่าพันธุ์นักล่ามีกระเป๋าหน้าท้องต่อไปได้ (ภาพ Ali Corke)
4 ลูกน้อยของ “ควอลล์หางจุด” สัตว์ประจำถิ่นออสเตรเลีย ผุดความหวังให้นักอนุรักษ์ ว่า สัตว์นักล่ามีกระเป๋าหน้าท้องที่ติดบัญชี “ใกล้สูญพันธุ์” นี้จะยังพอดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้

“ควอลล์หางจุด” (tiger quolls) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ดาไซอูรัส มาคูลาตัส (Dasyurus maculatus) เป็นสัตว์นักล่ามีกระเป๋าหน้าท้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย และติดอยู่ในบัญชี “ใกล้สูญพันธุ์” (Endangered) ขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)

หากแต่ ลิซซี คอร์เก (Lizzie Corke) ผู้บริหารสูงสุดของศูนย์อนุรักษ์นิเวศวิทยา (Conservation Ecology Centre) ที่แหลมออทเวย์ วิคตอเรีย ออสเตรเลีย เผยว่า ลูกน้อยของควอลล์หางจุดที่กำเนิดขึ้นในศูนย์อนุรักษ์ทั้ง 4 ตัว และปัจจุบันอายุ 3 เดือนแล้วนั้น จะมีบทบาทในการช่วยนักวิจัยอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตสปีชีส์นี้ไว้
หนึ่งในลูกน้อย ควอลล์หางจุด (ภาพ CEC)
“เจ้าตัวน้อยเหล่านี้จะโตขึ้นเพื่อแสดงบทบาทสำคัญในการเผ่าพันธุ์ของพวกมันไว้ ด้วยการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมให้แก่ประชากรที่ถูกเลี้ยงไว้ในที่กักขัง โดยจะถูกกระจายไปให้ทีมอนุรักษ์ได้รู้จักพฤติกรรมของควอลล์” ออสเตรเลียนจีโอกราฟิกระบุคำพูดของลิซซี

ทั้งนี้ โครงการอนุรักษ์ควอลล์หางจุดของศูนย์อนุรักษ์นี้เริ่มขึ้น เพื่อรับมือกับการลดจำนวนของควอลล์หางจุดทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ซึ่งเชื่อว่า ในรัฐวิคตอเรียเหลือควอลล์อยู่เพียงครึ่งหนึ่งของประชากรเดิม นับแต่ชาวยุโรปเข้ามาตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลีย และเชื่อว่าที่ออทเวย์นั้นไม่เหลือควอลล์ในธรรมชาติตั้งแต่ต้นสหัสวรรษใหม่ (2000)

การศึกษาพฤติกรรมและอิทธิพลของไทเกอร์ควอลล์ต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์ปรับปรุงเทคนิคในการตรวจนับประชากรควอลล์ อย่างเช่นการฝึกสุนัขให้ช่วยดมกลิ่นการกระจายตัวของควอลล์ นอกจากนี้ ศูนย์อนุรักษ์ยังมีโครงการฟื้นฟูถิ่นอาศัยของควอลล์และลดจำนวนหมาป่าลงด้วย







กำลังโหลดความคิดเห็น