xs
xsm
sm
md
lg

คาดการณ์ฝนหลัง “แกมี” สลายตัวเป็น “หย่อมความกดอากาศต่ำ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพาดการณ์ปริมาณน้ำฝน โดยบริเวณแถบสีแดงจะมีปริมาณฝนตกหนักมาก
“รอยล” คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนหลังพายุ “แกมี” สลายตัวเป็น” หย่อมความกดอากาศต่ำ” ทำให้เกิดฝนในประเทศไทยตั้งแต่อีสานใต้ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก โดยเฉพาะกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบหนักในช่วง 8-9 ต.ค.ซึ่งคาดจะมีฝนถึง 90-100 มม.หรืออาจจะมากกว่า เพราะปัจจัยเสริมด้านมลพิษและการใช้แอร์

ผศ.ดร.รอยล จิตรดอน ประธานคณะทำงานคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ ในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เผยแก่ผู้สื่อข่าวและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากอิทธิพลของพายุ “แกมี” (GAEMI) ซึ่งก่อตัวทางฝั่งตะวันตกของฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้

ทั้งนี้ ผศ.ดร.รอยล อ้างข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา โดยคาดว่า พายุจะเข้าเวียดนามในบ่ายวันที่ 6 ต.ค.นี้ ซึ่งช้ากว่าที่คาดไปวันกว่าๆ จากนั้นจะเข้าลาว และกัมพูชา ซึ่งจะได้รับผลกระทบหนัก โดยพายุแกมีเริ่มสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ในวันที่ 7 ต.ค.ที่ลาว เนื่องจากผ่านเส้นทางที่มีภูเขา แล้วจะเข้ามาทางอีสานใต้ ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และอาจเลยไปถึงราชบุรี และเพชรบุรี

สำหรับไทยแม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากพายุเข้ามาโดยตรง แต่ ผศ.ดร.รอยล กล่าวว่า จะมีปริมาณฝนมาก ที่มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ซึ่งคาดว่าเขื่อนลำปาวยังคงไม่ได้รับน้ำฝน ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนสิรินธร จะได้รับน้ำจากฝน แต่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ บริเวณเขื่อนลำพระเพลิง ที่มีปริมาณน้ำอยู่มาก

จากนั้นหย่อมความกดอากาศต่ำจะแผ่อิทธิพลมายังบุรีรัมย์ นครราชสีมา ปราจีนบุรี ระยอง ชลบุรี จันทบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ส่วน กรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบในช่วงวันที่ 8-9 ต.ค.โดยจะมีปริมาณฝนตลอดวัน 90-100 มิลลิเมตร ซึ่งปกติฝนจะตกต่อเนื่องประมาณ 3 ชั่วโมง จึงน่าจะมีปริมาณฝนราว 33.33 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.รอยล ระบุว่า สำหรับกรุงเทพฯ นั้น ค่อนข้างต่างจากที่อื่น เนื่องจากปริมาณฝนจริงมักมากกว่าปริมาณฝนที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีการใช้เครื่องปรับอากาศเยอะ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดฝนมาก เพราะทำให้เกิดความร้อนที่ลอยขึ้นไปปะทะอากาศเย็นแล้วตกเป็นฝน รวมถึงละอองฝุ่นจากมลพิษทางอากาศ ทำให้ไอน้ำเกาะตัวกลายเป็นฝนมากขึ้น ขณะที่บริเวณอื่นๆ มักมีฝนตกน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

คาดการณ์ปริมาณฝนดังกล่าวมาจากแบบจำลองสภาพอากาศ (WRF Model) เมื่อวันที่ 29 ก.ย.55 ซึ่งคาดการณ์ฝนได้ล่วงหน้า 7 วัน แต่ ผศ.ดร.รอยล ย้ำว่า เป็นเพียงแค่คาดการณ์ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้
ดร.รอยล จิตรดอน






กำลังโหลดความคิดเห็น