xs
xsm
sm
md
lg

นักกายวิภาคศาสตร์ชื่อ Leonardo da Vinci

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพวาดด้านกายวิภาคศาสตร์ของ Leonardo 87 ภาพ ซึ่งเป็นภาพที่ราชวงศ์อังกฤษเก็บสะสมเป็น Royal Collection จากภาพทั้งหมด 550 ภาพ กำลังถูกนำออกแสดงที่ Queen’s Gallery ในกรุงลอนดอน
Leonardo da Vinci คือ ต้นแบบของมนุษย์ Renaissance ผู้รอบรู้และสามารถในศาสตร์ทุกด้าน แต่ในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ เขาเป็นที่รู้จักและยกย่องว่าเป็นสุดยอดจิตรกรที่ทำงานวิทยาศาสตร์เป็นงานอดิเรก เมื่อถึงวันนี้ Leonardo เองก็คงไม่นึกว่า ผลงานวิทยาศาสตร์ที่ตนทำ (เล่นๆ) นั้น ยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับผลงานศิลปะทีเดียว

หากเราได้ศึกษางานวิทยาศาสตร์ของ Leonardo แล้ว เราก็จะเห็นว่ามีทั้งงานธรณีวิทยา ทัศนศาสตร์ พฤกษศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ชลศาสตร์ ฯลฯ แต่งานกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์เป็นวิทยาศาสตร์ที่ Leonardo สนใจและผูกพันมากที่สุด

ขณะนี้ภาพวาดด้านกายวิภาคศาสตร์ของ Leonardo 87 ภาพ ซึ่งเป็นภาพที่ราชวงศ์อังกฤษเก็บสะสมเป็น Royal Collection จากภาพทั้งหมด 550 ภาพ กำลังถูกนำออกแสดงที่ Queen’s Gallery ในกรุงลอนดอน ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคมจนกระทั่งถึงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2555 ภายใต้ชื่อว่า Leonardo da Vinci: Anatomist ซึ่งมีทั้งภาพของกล้ามเนื้อ กระดูก เส้นประสาท ลำไส้ มดลูก ตัวอ่อนในครรภ์มารดาที่ Leonardo ได้เคยวาดไว้ในปี 1490 กับในช่วงปี 1507-1513

การนำผลงานด้านกายวิภาคศาสตร์ของ Leonardo ออกเสนอต่อสาธารณชนในครั้งนี้จึงนับเป็นการแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ครั้งสุดท้ายที่ได้มีการนำผลงานเรื่องเดียวกันออกแสดงในปี 1977 คือ เมื่อ 35 ปีก่อน

Leonardo ได้สร้างผลงานนี้จากการผ่าตัด และชำแหละศพประมาณ 30 ศพ และได้ตั้งใจจะเผยแพร่ผลงานทั้งหมดโดยการตีพิมพ์ แต่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งถ้าได้ทำวิทยาการด้านกายวิภาคศาสตร์คงได้ก้าวหน้ากว่านี้มาก เพราะบางสิ่งที่ Leonardo เห็นและวาดนั้น ไม่มีนักกายวิภาคศาสตร์คนใดได้เห็นจนอีก 400 ปีต่อมา สำหรับสาเหตุที่ทำให้ Leonardo ไม่ตีพิมพ์ผลงาน นักประวัติศาสตร์คิดว่าคงเพราะสิ่งที่ Leonardo เห็นมิได้เป็นไปตามที่นักสรีรวิทยาในสมัยนั้นเชื่อ ดังนั้น Leonardo จึงมิกล้าโต้แย้งกับ “ผู้รู้” จนกระทั่งเสียชีวิต
ภาพวาดตัวเองด้วยสีชอล์คแดงของ ลีโอนาร์โด ดาวินชี
Leonardo เกิดเมื่อปี 1452 (ตรงกับรัชสมัยของพระบรมไตรโลกนาถ) ที่หมู่บ้าน Vinci ในแคว้น Tuscany ของอิตาลี บิดา Ser Piero เป็นนักกฏหมาย และมารดาเป็นสาวชาวนาชื่อ Caterina เพราะเป็นลูกนอกสมรส ดังนั้น จึงใช้ชีวิตในวัยเด็กอยู่กับปู่ย่า และเรียนหนังสือที่บ้านจนอ่านออกเขียนได้ แต่ไม่ถนัดวิชาคณิตศาสตร์และไม่ได้เรียนภาษากรีกกับละติน ซึ่งเป็นภาษาที่นักวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นใช้ในการสื่อสารกัน (การไม่รู้ละตินนับว่าเป็นเรื่องดีสำหรับ Leonardo เพราะสมองไม่ได้ถูกล้างหรือจิตใจถูกรบกวนด้วยข้อมูลผิดๆ ที่มีมากมายในยุคนั้น)

ตามปกติ Leonardo เล่นพิณ (lyre) เก่ง กินอาหารมังสวิรัติ มีจิตใจอ่อนโยน และเมตตาต่อสัตว์ เพราะคิดว่าสัตว์มีวิญญาณและรู้จักคิด ดังนั้นเวลาวาดนก แมว และม้าทุกตัวจะมีแววตาฉลาด

เมื่ออายุ 15 ปี Leonardo ได้เดินทางไปพำนักกับบิดาในบ้านใหญ่โตที่เมือง Florence เพราะ Piero ไม่มีลูกกับภรรยาเดิม และ Caterina ผู้ซึ่งเป็นแม่ของ Leonardo ได้ไปแต่งงานกับคนอื่น ดังนั้น Piero จึงยอมรับให้ Leonardo เป็นลูกจริง และได้นำไปฝึกวาดภาพกับจิตรกรและปฏิมากรที่มีชื่อเสียงชื่อ Andrea del Verrocchio แต่ Leonardo ทำงานที่นี่ได้ไม่นาน เพราะไม่ได้มีเสรีภาพในการวาดภาพตามที่ตนพอใจ แต่ก็ได้ความรู้พื้นฐานด้านวิศวกรรมศาสตร์บ้าง

ในปี 1482 Leonardo ได้เดินทางจาก Florence ไป Milan เพื่อทำงานกับ Ludovico Sforza ในฐานะนักดนตรีมิใช่นักประดิษฐ์ และไม่ใช่จิตรกร แต่ตลอดเวลา 17 ปีที่อยู่ที่ Milan ความสนใจของ Leonardo ก็เบ่งบาน โดยเริ่มศึกษาเรขาคณิตก่อน เพราะ Leonardo คิดว่าเป็นแขนงหนึ่งของวิชาคณิตศาสตร์ที่ยากที่สุด และความเข้าใจเรขาคณิตนั้นจะทำให้เข้าใจกลศาสตร์ ซึ่ง Leonardo เรียกว่า เป็นสวรรค์ของวิทยาศาสตร์ทฤษฎี และความรู้กลศาสตร์จะนำไปสู่ความเข้าใจธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงมนุษย์ด้วย

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็ได้เริ่มสนใจเทคนิค และทฤษฎีการวาดภาพด้วย โดยเฉพาะภาพคนซึ่ง Leonardo มีความคิดว่า ไม่ควรแสดงเพียงความเหมือนนายแบบหรือนางแบบ แต่ควรแสดงอารมณ์ และความรู้สึกลึกๆ ในจิตใจของผู้ถูกวาดด้วย ดังนั้น Leonardo จึงคิดต่อไปว่า เพียงแค่วาดอวัยวะที่เห็นจากภายนอกคงไม่เพียงพอ เขาต้องการรู้ว่า อวัยวะเหล่านั้นทำงานอย่างไรด้วย ทำให้ต้องมีการชำแหละเนื้อ และเจาะลึกลงไปในร่างกายคน
The Uterus of a Gravid Cow
ในความเป็นจริง การผ่าศพเป็นเรื่องที่สันตะปาปาแห่งกรุงวาติกันได้ทรงอนุญาต ให้แพทย์กระทำได้ตั้งแต่ปี 1482 แต่ Leonardo เป็นเพียงจิตรกรโนเนม และมิใช่หมอ ดังนั้นจึงไม่มีทางจะได้ศพมาผ่าศึกษา ทำให้ต้องพึ่งพาศพสัตว์เป็นการแก้ขัดไปก่อน

จนถึงปี 1489 Leonardo จึงได้รับกระโหลกคนมาศึกษา และได้ผ่าดูเพื่อบันทึกรายละเอียดทุกอย่างที่เห็นลงในสมุดบันทึก แต่ข้อมูลที่ได้และภาพที่เห็นไม่ได้ช่วยให้ Leonardo เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างของสมองกับจิตใจของคนแต่อย่างใด เมื่อถึงทางตัน Leonardo จึงหยุดวาดภาพสรีระของคน

ในปี 1492 Leonardo ได้วาดภาพ The Last Supper ซึ่งแสดงสานุศิษย์ที่มีอารมณ์ต่างๆ แต่ภาพนั้นมิได้แสดงข้อมูลด้านกายวิภาคศาสตร์แต่อย่างใด

เมื่ออายุ 52 ปี Leonardo ได้วาดภาพการสู้รบในสงครามประดับผนังของ Palazzo della Signoria ใน Florence ซึ่งแสดงทหารที่มีรายละเอียดของกล้ามเนื้อ ภาพนี้จึงแสดงว่า Leonardo ได้รับอนุญาตให้ใช้ศพในการวาดภาพอย่างเป็นทางการแล้ว เพราะขณะนั้น Leonardo คือจิตรกรที่มีชื่อเสียงที่สุดของอิตาลี

จากนั้นอีก 3 ปี เมื่อ Leonardo เห็นชายชราคนหนึ่งกำลังจะตายในโรงพยาบาลที่ Florence เขาได้เขียนบันทึกว่า ต้องการจะชำแหละศพชายคนนี้ เพื่อหาสาเหตุการตาย และหลังจากที่ได้ผ่าศพ เขาก็พบว่า เส้นเลือดแดงของชายคนนั้นตีบมาก นี่คือการบรรยาย 2,000 คำที่กล่าวถึงอาการผนังหลอดโลหิตแดงแข็ง atherosclerosis เป็นครั้งแรกในวงการแพทย์ Leonardo ยังได้บันทึกสภาพของตับชายคนนั้นว่าแห้งผาก แข็ง และซีด (อาการโรคตับแข็ง cirrhosis)

การศึกษาศพของของชายคนนั้นได้จุดประกายให้ Leonardo หันมาสนใจวิชากายวิภาคศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง และได้ศึกษาเรื่องนี้นาน 5 ปี ร่วมกับ Marcantonio della Torre ซึ่งเป็นศาสตราจารย์กายวิภาคศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Pavia ตำแหน่งศาสตราจารย์ของ Marcantonio ได้ช่วยให้ Leonardo มีศพศึกษาประมาณ 20 ศพ

ในฤดูหนาวของปี 1510 Leonardo ได้บันทึกว่าได้ศึกษากระดูก กล้าม เนื้อส่วนต่างๆ และวิเคราะห์โครงสร้างของอวัยวะเหล่านี้อย่างละเอียด ยกเว้นกะโหลกศรีษะ จึงคิดว่าจะวางมือด้านกายวิภาคศาสตร์แล้ว

แต่มิได้กระทำ เพราะในปี 1511 เมือง Milan มีสภาพปั่นป่วนเนื่องจากเกิดสงคราม และกาฬโรคระบาดจนทำให้ Marcantonio เสียชีวิต Leonardo จึงอพยพไปพักอาศัยในคฤหาสถ์ของลูกศิษย์ชื่อ Francesco Melzi ที่ตั้งอยู่นอกเมือง
The Last Supper
เมื่อไม่มีศพคนจะให้ชำแหละ Leonardo ได้หันไปศึกษากายวิภาควิทยาของสัตว์แทน จึงใช้หัวใจวัวที่มีโครงสร้างแตกต่างจากหัวใจคนเล็กน้อย และได้วาดภาพของช่องว่างในหัวใจ รวมถึงได้วิเคราะห์หน้าที่ของลิ้นหัวใจอย่างละเอียด จากนั้นได้ออกแบบอุปกรณ์แสดงการทำงานของหัวใจ โดยใช้น้ำแทนโลหิต เพื่อศึกษาการไหลของเลือดในเส้นโลหิตแดงใหญ่ และพบว่ากระแสวนที่เกิดขึ้นมีบทบาทสำคัญในการปิดลิ้นหัวใจซึ่งองค์ความรู้นี้ได้รับการยืนยันว่าถูกต้องในปี 1912 นี้เอง

เมื่อ Leonardo ไม่สามารถอธิบายสิ่งที่เห็นให้เข้ากับความเชื่อ (ความรู้) ของคนยุคนั้นได้ ที่ว่าหัวใจสูบฉีดเลือดทั้งเข้าและออก Leonardo ก็ถึงทางตัน จึงหยุดทำงานด้านกายวิภาควิทยาตั้งแต่นั้นมา

โลกไม่มีหลักฐานใดๆ ที่แสดงว่า Leonardo ได้พยายามนำภาพที่วาดและข้อความที่บันทึกไปเผยแพร่ เพราะเมื่อเสียชีวิตในปี 1519 Leonardo ได้ทิ้งผลงานทั้งหมดให้กับศิษย์ Melzi และประวัติชีวิตของ Leonardo ก็กล่าวแต่เพียงว่า สนใจเรื่องกายวิภาคศาสตร์ แต่รายงานและบันทึกต่างๆ มิได้ถูกจัดเรียงอย่างเป็นระบบ อีกทั้งภาษาเขียนก็เข้าใจยากด้วย ดังนั้น เมื่อไม่มีการตีพิมพ์ผลงาน จึงไม่มีใครรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ Leonardo พบ
Mona Lisa
ในปี 1543 เมื่อ Andreas Vesalius เสนอผลงานเรื่อง “On the fabric of the human body” วิชากายวิภาคศาสตร์ก็ได้ถือกำเนิด ซึ่งถ้า Leonardo ได้เผยแพร่ผลงานที่ตนทำก่อน Vesalius ร่วม 30 ปี เกียรติการเป็นบิดาของวิชา Anatomy ก็ต้องตกเป็นของ Leonardo อย่างมิต้องสงสัย

หลังจากที่ Leonardo เสียชีวิต ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ผลงานภาพวาดด้านกายวิภาคศาสตร์จำนวน 150 ชิ้น ได้ถูกนำไปอังกฤษ และถูกเก็บรวมกับภาพอื่นๆ ของ Leonardo อีก 450 ภาพ เป็นสมบัติในราชวงศ์อังกฤษ (Royal Collection) จนกระทั่งปี 1900 ภาพเหล่านี้จึงถูกนำออกตีพิมพ์ แต่ ณ เวลานั้นวิทยาการด้านกายวิภาควิทยาได้ก้าวเกินที่ความคิดของ Leonardo จะมีอิทธิพลใดๆ แล้ว

ในงานแสดงที่ Queen’s Gallery นี้ ผู้เข้าชมจะได้เห็นภาพ “The Uterus of a Gravid Cow”, “The Lungs”, “Blood Flow through the Aortic Valve”, “The Hemisection of a Man and Woman in the Act of Coition” ซึ่งน่าจะทำให้นึกถึง Leonardo ในขณะผ่าศพเมื่อ 500 ปีก่อน โดยไม่มียาดองศพ ไม่มีตู้เย็น ในห้องผ่าตัดที่สกปรกและมีกลิ่นเน่ารุนแรงจนจิตรกรธรรมดาไม่น่าจะทนได้ (Michelangelo เองก็บ่นว่า ตนวาดภาพศพไม่ได้เพราะกลิ่นที่สูดดม ทำให้กินอาหารไม่ลง)

แต่ Leonardo เป็นคนอยากรู้จึงใช้ความสามารถที่มีทั้งด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ (ในสมัยนั้นความสามารถทั้งสองด้านยังไม่แยกกันเหมือนในสมัยนี้) เจาะลึกอย่างละเอียดด้วยการใช้สายตาที่แหลมคม อีกทั้งยังได้บรรยายสิ่งที่เห็นในเชิงวิทยาศาสตร์ด้วย

ภาพวาดที่โด่งดังของ Leonardo เช่น Mona Lisa ได้เปลี่ยนโลกศิลปะ แต่ภาพวาดกายวิภาคศาสตร์ของ Leonardo กลับไม่มีใครเห็นในยุคนั้น ซึ่งถ้าได้เห็น กายวิภาควิทยาจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ไม่มีใครรู้

อ่านเพิ่มเติมจาก The Science of Leonardo: Inside the Mind of the Great Genius of the Renaissance โดย Fritjof Capra จัดพิมพ์โดย Doubleday ปี 2007

*******************

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์

ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์

*********

สำหรับผู้สนใจต่อยอดความรู้ หนังสือ "สุดยอดนักผจญภัย" โดย ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน มีวางจำหน่ายแล้วในราคาเล่มละ 250 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น