อธิบดีกรมควบคุมโรค ยันโรคมือ-เท้า-ปาก เอาอยู่! ขณะที่ สธ.เตรียมรับมือการระบาดของ โรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ คืนชีพและกลายพันธุ์ ทั้ง “หวัด 2009-วัณโรค-ฉี่หนู” และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ระบาดรุนแรง ต้นเหตุจากวัยรุ่นยุคใหม่นิยมมีเซ็กซ์แบบสวิงกิ้ง ด้าน ผอ.สำนักระบาดวิทยา ระบุอีก 4 โรคระบาดที่มากับนักเดินทาง และแรงงานไทย หวั่นคนไทยไม่มีภูมิต้านทาน สามารถติดโรคนี้ได้ทุกคน!
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ไม่อยากให้คนไทยมัวตื่นตระหนกกับโรค มือ-เท้า-ปาก เพียงอย่างเดียว จนลืมที่จะระวังดูแลรักษาตัวให้ห่างจากโรคอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้น และแพร่กระจายหรือมีการระบาดอย่างรวดเร็วได้ไม่ต่างจากโรค มือ-เท้า-ปาก ทั้งโรคอุบัติซ้ำ โรคอุบัติใหม่ โรคประจำถิ่น และอีก 4 โรคระบาดที่มากับนักเดินทางที่เข้ามายังประเทศไทยทุกรูปแบบ หรือคนงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ ฯลฯ ก็สามารถเป็นผู้แพร่เชื้อได้ง่าย ที่สำคัญก็อาจทำให้ผู้รับเชื้อถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน!
‘มือ-เท้า-ปาก’ สธ.เอาอยู่
ตัวเลขการแพร่ระบาดโรคมือ-เท้า-ปาก สู่เด็กเล็กที่ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ณ วันที่ 25 ก.ค. 2555 สำนักระบาดวิทยารายงานว่ามีผู้ป่วยโรคมือ-เท้า-ปาก นับตั้งแต่ต้นปีสูงถึง 17,656 ราย จาก 77 จังหวัด เทียบกับปีที่แล้วซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 18,000 กว่าราย อธิบดีกรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าปีนี้ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยจะพุ่งสูงมากกว่าปีที่แล้วแน่นอน เพราะโรคนี้จะยังมีการระบาดต่อไปอีกประมาณ 6-8 สัปดาห์ ล่าสุดเพิ่งมีเด็ก 2 ขวบเสียชีวิตจากโรคนี้
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมั่นใจว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิตมากนัก เพราะข่าวสารของโรคมือ-เท้า-ปาก กระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวที่จะรีบพาลูกหลานไปพบแพทย์เมื่อมีไข้สูงนานกว่า 48 ชั่วโมง ทำให้สถิติจำนวนผู้ป่วยนอกดูเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่จำนวนผู้ป่วยในและผู้เสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ
“โรคมือ-เท้า-ปาก ในไทยปีนี้ถือว่ามีการระบาดมาก แต่อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รุนแรงกว่าปกติ โรคนี้ เกิดจากเชื้อไวรัสในลำไส้ หรือเอนเทอโรไวรัสหลายสายพันธุ์ย่อย ซึ่งสายพันธุ์ที่พบบ่อยในไทยเป็นเชื้อคอกซากี เอ (Coxsackievirus A16) ซึ่งไม่รุนแรง”
โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ตั้งหน่วยเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคนี้อย่างใกล้ชิด โดยมีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (Surveillance Rapid Response Team : SRRT) ที่ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมงกว่า 1,000 ทีมทั่วประเทศ เพื่อเข้าถึงพื้นที่อย่างรวดเร็ว และในจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากกว่า 10 รายต่อวันให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด (War Room) เพื่อป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่
ขณะเดียวกันก็มีการคุมเข้ม 2 มาตรการ คือ 1. ควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโดยเร็วที่สุด โดยประสานกับโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา และศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่ ให้เน้นเรื่องการทำความสะอาดป้องกันการแพร่เชื้อ หากมีเด็กป่วยต้องให้หยุดเรียน และให้เด็กหมั่นล้างมือ กินอาหารร้อนและสุกใหม่ 2. ดูแลรักษาผู้ป่วยเพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยเน้นย้ำผู้ปกครองทุกคน หากพบเด็กมีไข้สูง 2 วัน ซึมลง และอาเจียน ให้รีบพบแพทย์ทันที และกำชับแพทย์ให้ระมัดระวังภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรคมากขึ้น รวมไปถึงผู้ป่วยที่ไม่มีตุ่มขึ้นที่ปาก หรือฝ่ามือ ฝ่าเท้าด้วย
“โรคนี้จะเกิดกับคนที่มีภูมิคุ้มกันตัวเองน้อย เด็กที่ถูกเลี้ยงดูแบบสะอาดมากเกินไปจะเป็นโรคนี้ได้ง่ายกว่าเด็กที่มีภูมิคุ้มกัน ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ยิ่งต้องมีภูมิคุ้มกัน เพราะโรคนี้ผู้ใหญ่ก็เป็นได้ แต่จะแสดงอาการเป็นตุ่มเหมือนร้อนใน และหายได้ไม่ยาก”
ดังนั้น สธ.จึงเน้นย้ำในเรื่องการรักษาความสะอาดในทุกๆ สถานที่ และต้องดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง เนื่องเพราะช่วงฤดูฝน ตามด้วยฤดูหนาว มักจะมีโรคระบาดอื่นๆ เกิดขึ้นตามมาได้อีก
หวัด 2009 กลายพันธุ์ทุกปี
อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า โรคอุบัติใหม่ หรือโรคระบาดที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้น ที่น่าเป็นห่วงที่สุด ยังคงเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ที่ถือว่าเป็นโรคที่เชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากกล่าวตามภาษาแพทย์เรียกว่าเป็นเชื้อโรคที่ไม่มีเปลือกหุ้ม กล่าวคือ เมื่อเชื้อเหล่านี้เข้าร่างกายแล้ว จะไปเจอเม็ดเลือดขาวขนาดเล็กเรียกว่า CD4 เพื่อเข้าไปเอานิวเคลียสของดีเอ็นเอมาสร้างไวรัส หรือแบ่งตัวออกมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นเชื้อที่มีการเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนตัวเดิม
“ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นโรคที่ต้องสู้กับมันตลอดเวลา เพราะอุบัติใหม่ทุกปี ต้องสู้กับมัน โดยองค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้พยากรณ์ว่าในปีหน้า เชื้อจะเป็นอย่างไร แล้วจะเริ่มมีการผลิตวัคซีนรักษา”
“โรคเพศสัมพันธ์-วัณโรค”อุบัติซ้ำรุนแรง
ส่วนโรคอุบัติซ้ำนั้น ก็ยังคงพบว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประทศไทย ส่วนใหญ่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ โรคโกโนเรีย ซิฟิลิส และโรคเอดส์
“พฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่น คือไม่ใช้ถุงยางอนามัย มีการเปลี่ยนคู่นอน และมีพฤติกรรมทางเพศแบบหมู่คณะ (สวิงกิ้ง) ตรงนี้ทำให้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เคยเบาบางไปแล้ว กลับมาระบาดหนักอีก”
ส่วนโรคอุบัติซ้ำที่ยังคงมีการเสียชีวิตอยู่ตลอดเวลานั้น อีกโรคหนึ่งคือ “วัณโรค” ปัจจุบันเชื่อว่าคนไทยเป็นโรคนี้กันจำนวนมาก มีทั้งแสดงอาการ และไม่แสดงอาการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญโดยพยายามหาคนที่เป็นโรคนี้ให้เจอและรีบรักษา
โดยสัดส่วนการรักษาอยู่ในระดับที่เป็นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกคือ หาเจอและรักษาได้ร้อยละ 70 ของคนที่เป็นโรคนี้ทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้จะต้องมีการให้กินยาครบอย่างน้อยร้อยละ 90 เพราะหากกินยาน้อยกว่านี้จะทำให้เชื้อโรคดื้อยา ดังนั้นคนที่พบว่าเป็นวัณโรคแล้วจะต้องกินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอถึงจะรักษาโรคของตัวเองให้หายขาดได้
ทิ้งอาหารเรี่ยราด-ระวังโรคฉี่หนู
ด้านโรคประจำถิ่น โรคที่น่าเป็นห่วงที่สุดในกลุ่มนี้คือ โรคฉี่หนู (Leptospirosis) ที่ยอมรับว่ารู้จักโรคนี้มานาน แต่ยังไม่สามารถเอาชนะโรคนี้ได้ เพราะการแพร่กระจายของเชื้อโรคผ่านหนูนั้นควบคุมได้ยาก ทำให้ปีที่แล้ว (2554) มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้มากถึง 70 คน ขณะที่ปี 2555 นี้ แค่ 6 เดือนมีคนตายไปแล้ว 21 ราย
สำหรับวิธีดูว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ ให้สังเกตง่ายๆ ว่า “ไข้สูง ปวดหัว ปวดน่อง” ให้รีบไปหาหมอ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัมผัสกับที่ชื้นตลอดเวลา แต่ถ้าสถานที่ไหนเป็นที่แห้ง เชื้อจะตายได้ง่ายกว่า
“โรคนี้ตอนน้ำท่วมเป็นห่วงมาก ก็ต้องรีบให้ความรู้ เพราะว่าตอนน้ำท่วมโรคนี้ไม่น่ากลัว แต่จะรุนแรงตอนน้ำแห้ง ต้องรีบทำความสะอาดอย่าให้มีเศษอาหารทิ้งเรี่ยราด เพราะเป็นแหล่งอาหารของหนู และระหว่างทางที่หนูเดินก็จะมีการฉี่เรี่ยราด ทิ้งเชื้อโรคมาตลอดทาง”
ทั้งนี้ บุคคลที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคฉี่หนูอีก คือคนในออฟฟิศที่มีหนูอาศัยอยู่ และมีหนูมาฉี่และอึทิ้งไว้ตามโต๊ะ จะต้องหมั่นทำความสะอาด เพราะเป็นแหล่งเชื้อโรค ทำให้เป็นโรคฉี่หนูได้เช่นเดียวกัน
จับตา 4 โรคระบาดมากับนักเดินทาง
ด้านสำนักระบาดวิทยา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า โรคอุบัติใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังติดตามและเฝ้าระวังอย่างหนักคือ โรคอุบัติใหม่ที่นักเดินทาง หรือผู้ที่ไปทำงานต่างประเทศจะนำติดตัวกลับมาแพร่กระจายได้ด้วย
นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุ 4 โรคอุบัติใหม่ที่ต้องเฝ้าระวังการนำเชื้อโรคเข้ามาของนักเดินทางหรือคนงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ ได้แก่ โรคไข้เหลือง โรคกาฬโรค โรคโปลิโอ และโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ ซึ่งถือเป็น 4 โรคร้ายแรงที่ต้องจับตา เพราะเป็นโรคที่ติดเข้ามาได้ง่าย และคนไทยยังไม่มีภูมิต้านทาน
“ไข้เหลือง จะเป็นโรคที่ติดมาจากแถบประเทศแอฟริกา, กาฬโรคจะติดมาจากแอฟริกา และบางส่วนของเอเชียกลาง เช่น บางพื้นที่ของจีน อินเดีย, โปลิโอ ซึ่งหายจากเมืองไทยไปเป็น 10 ปี ก็สามารถติดได้จากแอฟริกา ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน สำหรับไวรัสนิปป้า ที่จะมีอาการเหมือนสมองอักเสบ ก็จะมีมากทางบังกลาเทศ ซึ่งเชื้อนี้เคยเกิดขึ้นในภาคใต้ของไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนด้วย”
อาการบ่งชี้ 4 โรคที่มากับนักเดินทาง
1. โรคไข้เหลือง (Yellow fever) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ ในพื้นที่เขตร้อนแถบแอฟริกาและอเมริกาที่มีไข้เหลืองเป็นโรคประจำถิ่น เคยมีการระบาดเกิดขึ้นในยุโรป หมู่เกาะแคริบเบียน อเมริกาเหนือ และอเมริกากลาง ยังไม่เคยมีรายงานพบโรคนี้ในประเทศไทยรวมถึงประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากยุงและลิง
ส่วนอาการที่ปรากฏ จากการเป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลัน จึงมีระยะเวลาป่วยสั้นและมีความรุนแรงของโรคที่หลากหลาย อาการของโรคคือ จะมีไข้ทันทีทันใด หนาวสั่น ปวดศีรษะ อาเจียน ชีพจรอาจเต้นช้าลงและเบาตามสัดส่วนอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้น ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ปรากฏในช่วงต้นของอาการ และเกิดขึ้นในวันที่ 5 อาการดีซ่านและไข้เลือดออก รวมทั้งเลือดกำเดาไหล มีเลือดออกจากเหงือก อาเจียนเป็นเลือดสดลักษณะเลือดเก่าคล้ายสีกาแฟ และถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหนียว และมีกลิ่นเหม็นคาว เอนไซม์ในตับเพิ่มขึ้น ความผิดปกติของปัจจัยการแข็งตัวของเลือดพบไข่ขาวในปัสสาวะ และปัสสาวะน้อย เป็นผลจากความล้มเหลวของตับและไต อัตราการตายโดยรวมเท่ากับร้อยละ 20-50 ระยะฟักตัวของโรค เพียง 3-6 วัน
สำหรับการแพร่ติดต่อโรคนั้น ติดต่อโดยการถูกยุงที่มีเชื้อกัด ยุงลายที่ดูดเลือดเข้าไปแล้วไวรัสจะใช้เวลาฟักตัว 9-12 วัน ในเขตอากาศร้อน และเมื่อติดเชื้อแล้ว เชื้อจะอยู่ในตัวยุงตลอดชีวิตของยุงนั้น โรคไม่ติดต่อโดยการสัมผัสหรือจับต้องสิ่งของ
การระบาดอาจเกิดขึ้นเมื่อนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อเข้าไปแพร่เชื้อในชุมชนที่มีประชากรอยู่หนาแน่น ยุงลายตามบ้านจะเป็นพาหะนำเชื้อจากคนสู่คน การระบาดรูปแบบนี้จะทำให้เกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างได้
การป้องกันโรค : การฉีดวัคซีนเป็นมาตรการเดียวที่สำคัญที่สุดในการป้องกันไข้เหลือง ในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมของวัคซีนต่ำจะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และมีการควบคุมโรคที่รวดเร็ว มาตรการกำจัดยุงยังจำเป็นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสจนกว่าจะมีการฉีดวัคซีนได้ครอบคลุม
2. โรคกาฬโรค (Plague)
ประเทศไทยปลอดจากโรคนี้ตั้งแต่ปี 2495 ในอดีตกาฬโรคเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่ร้ายแรงที่ได้ทำลายชีวิตผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก แต่จากความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะการพัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง และการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราป่วยและอัตราตายจากกาฬโรคลดลง
อย่างไรก็ตาม ขณะที่กาฬโรคของคนในเขตเมืองเกือบทั่วโลกถูกควบคุมได้หมดแล้ว แต่การระบาดก็ยังเกิดขึ้นหลายประเทศในแอฟริกา ได้แก่ แองโกลา บอตสวานา เคนยา มาดากัสการ์ นามิเบีย แอฟริกาใต้ มาลาวี โมซัมบิก แทนซาเนีย ยูกันดา ซิมบับเว ซาอีร์ และลิเบีย
กาฬโรคยังเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศจีน อินโดนีเซีย มองโกเลีย พม่า อินเดีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีรายงานผู้ป่วยกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองปีละนับพันราย ทั้งจากในเมืองและชนบท ส่วนกาฬโรคปอดบวมมีรายงานประปรายระหว่างปี พ.ศ. 2505-2515 ในปี พ.ศ. 2537 มีการระบาดของกาฬโรคปอดบวมปฐมภูมิในเมืองสุรัต แคว้นกุจารัต ประเทศอินเดีย สำหรับทวีปอเมริกามีแหล่งรังโรคอยู่ที่บราซิล และเขตแอนดีน (เปรูและโบลิเวีย) ทำให้เกิดโรคประปราย และการระบาดเป็นครั้งคราว
โดยโรคนี้ เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ฟันแทะและหมัด ซึ่งแพร่เชื้อแบคทีเรียไปยังสัตว์อื่นอีกหลายชนิดรวมทั้งคน อาการแสดงเริ่มแรกจะยังไม่จำเพาะ คือ มีไข้หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ไม่มีเรี่ยวแรง เจ็บคอ และปวดหัว
สำหรับระยะฟักตัวอยู่ระหว่าง 1-7 วัน หรืออาจจะนานกว่านั้นสัก 2-3 วัน ในคนที่มีภูมิต้านทานแล้ว แต่สำหรับกาฬโรคปอดบวมปกติจะสั้นมาก 2-4 วัน
ในการแพร่ติดต่อโรคนั้นถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม เชื้อกาฬโรคในหมัดจะติดต่อไปยังที่อื่นได้นานนับเดือน กาฬโรคต่อมน้ำเหลืองไม่ติดต่อโดยตรงจากคนสู่คน นอกจากจะสัมผัสถูกกับหนองจากฝีมะม่วง กาฬโรคปอดบวมติดต่อได้ง่ายที่สุดถ้าอุณหภูมิอากาศเหมาะ ฝูงชนที่แน่นหนาแออัดจะช่วยให้การแพร่ระบาดเกิดได้ง่าย
วิธีการป้องกันโรคต้องลดความเสี่ยงต่อการถูกหมัดติดเชื้อกัด หลีกเลี่ยงการจับต้องสัมผัสกับเนื้อเยื่อหรือสารคัดหลั่งติดเชื้อ หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยกาฬโรคปอดบวม
อีกทั้งป้องกันหนูในบริเวณบ้านไม่ให้เข้าไปทำรังหรือหาอาหาร โดยจัดเก็บเสบียงอาหารและจัดการกองขยะมูลฝอยให้ถูกสุขลักษณะ
3 .โรคโปลิโอ (Poliomyelitis) เคยมีในประเทศไทยเมื่อ 10 ปีก่อน แต่หายไปเพราะมีการให้วัคซีนอย่างครอบคลุม อย่างไรก็ตาม โรคโปลิโอถือเป็นโรคที่ร้ายแรงเพราะเชื้อไวรัสโปลิโอจะทำให้มีการอักเสบของไขสันหลัง และมีการอัมพาตของกล้ามเนื้อแขนขา ในรายที่อาการรุนแรงจะทำให้มีความพิการตลอดชีวิต หรือเสียชีวิตได้ ปัจจุบันโรคโปลิโอเป็นโรคประจำถิ่นในแถบแอฟริกา ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน
โดยร้อยละ 5-10 ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการ โดยมีไข้และอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เจ็บคอ บางรายปวดศีรษะมาก ปวดตามลำตัวและขา ร้อยละ1 ของผู้ติดเชื้ออาจมีอาการรุนแรง โดยมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อตามมา หรือมีการอัมพาตของกล้ามเนื้อแขน ขา ซึ่งทำให้เกิดความพิการ ในรายที่รุนแรงมากอาจมีการอัมพาตของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
ส่วนระยะฟักตัวของผู้ป่วยที่มีอาการอัมพาต อยู่ระหว่าง 1-2 สัปดาห์ แต่อาจนานถึง 5 สัปดาห์หรือสั้นเพียง 3-4 วันได้
ในการแพร่ติดต่อโรคนั้นเชื้อนี้จะอยู่ในลำไส้ของคนเท่านั้น ไม่มีแหล่งรังโรคอื่นๆ โดยเชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ในลำไส้ของคนที่ไม่มีภูมิต้านทานและอยู่ภายในลำไส้ 1-2 เดือน การติดต่อที่สำคัญคือ เชื้อที่ถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระเข้าสู่อีกคนหนึ่งโดยผ่านเข้าทางปาก โดยเชื้อปนเปื้อนติดมือผ่านจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง และเข้าสู่ร่างกายเมื่อหยิบจับอาหารเข้าปาก ในพื้นที่ที่มีอนามัยส่วนบุคคลและการสุขาภิบาลไม่ได้มาตรฐานจะพบโรคโปลิโอได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
สำหรับการป้องกันโรคในเด็กทั่วไป การให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ (OPV) นับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการให้วัคซีนป้องกัน 5 ครั้งเมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4 ปี และไปรับวัคซีนทุกครั้งที่มีการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ นอกจากนั้นจะป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อโปลิโอได้ด้วยการกินอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด ถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง
4. โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสนิปาห์ (Hendra and Nipah Viral Diseases) เป็นไวรัสที่ก่อโรคในสัตว์ ก่อโรคไข้สมองอักเสบเป็นหลัก ถูกค้นพบครั้งแรกในมาเลเซียช่วงปี 2541-2542 และพบในบังกลาเทศและอินเดียด้วย อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีรายงานพบผู้ป่วยในไทย แต่เคยมีการศึกษาสำรวจค้างคาวในบางจังหวัดทางภาคใต้ของไทยพบว่า ค้างคาวแม่ไก่ร้อยละ 7 มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนิปาห์ และพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสนิปาห์ในน้ำลายและปัสสาวะของค้างคาวแม่ไก่ด้วย ดังนั้น พื้นที่เสี่ยงทางภาคใต้จึงควรเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและป้องกันไม่ให้โรคแพร่มายังสัตว์เลี้ยงตามมาตรการของกรมปศุสัตว์
อาการที่ปรากฏมีเพียงเล็กน้อยไปจนถึงมีอาการมาก โคม่า และ/หรือระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิต รวมทั้งมีไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ วิงเวียน ซึม และสับสน หรืออาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และปอดอักเสบผิดปกติ ในผู้ป่วยไวรัสนิปาห์จะมีอาการอักเสบของสมองเป็นส่วนใหญ่ อาจทำให้วินิจฉัยว่าเป็นไข้สมองอักเสบ ส่วนหนึ่งจะมีอาการแสดงของปอด ผู้ป่วยทั้งหมดที่มีชีวิตรอดจากสมองอักเสบเฉียบพลันจะสามารถฟื้นตัวได้เป็นปกติ แต่มีประมาณร้อยละ 20 ที่พบร่องรอยความบกพร่องของระบบประสาท อัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 40 และพบว่าในคนที่มีการติดเชื้อไวรัสบางรายไม่แสดงอาการ
ส่วนระยะฟักตัวของโรค ประมาณ 4-18 วัน บางรายอาจใช้เวลาหลายเดือน และการแพร่ติดต่อโรค เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับหมู (ไวรัสนิปาห์) หรือผลิตภัณฑ์จากหมูที่ติดเชื้อ
ในการป้องกันโรคนั้นผู้ทำงานปศุสัตว์ควรสวมชุดป้องกัน รองเท้าบูต หมวก ถุงมือ แว่นตา กระจังบังหน้า ล้างตัวและมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนออกจากฟาร์ม, เผาทำลายซากม้าและหมูที่ติดเชื้อ โดยการควบคุมดูแลของหน่วยงานรัฐ, ห้ามขนย้ายสัตว์ออกจากบริเวณที่มีการระบาดของโรค, แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อหากปรากฏการแพร่เชื้อจากคนสู่คน
โดยทั้ง 4 โรคระบาดที่มากับนักเดินทางนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เฝ้าระวังและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทยได้