xs
xsm
sm
md
lg

“ดิเอโก” ดาวดวงใหม่แห่งกาลาปากอสแทน “เต่าจอร์จผู้โดดเดี่ยว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปลี่ยนจากเต่าที่สืบทายาทไม่ได้ เป็นเต่าที่มีลูกดก ดิเอโก เต่าประจำเกาะเอสปาโนลาที่จะเป็นดาวดวงใหม่แทน เต่าจอร์จผู้เดียวดาย  (เอพี/อุทยานแห่งชาติกาลาปากอส)
หลังจาก “เต่าจอร์จผู้โดดเดี่ยว” ลาโลกโดยไม่สามารถให้ทายาทสืบสายพันธุ์ไว้ได้ “ดิเอโก” เต่าอายุร่วมร้อยปีก็ผงาดขึ้นเป็นดาวดวงใหม่แห่งหมู่เกาะกาลาปากอส อีกทั้งยังพลิกสถานการณ์วิกฤตเผ่าพันธุ์ที่กำลังจะสูญสิ้นด้วยการให้กำลังลูกหลานอีกหลายร้อยตัว

หมู่เกาะกาลาปากอส (Galapagos Islands) ได้สูญเสีย “เต่าจอร์จผู้โดดเดี่ยว” (Lonesome George) เต่าตัวสุดสุดท้ายของสายพันธุ์เต่าเกาะพินตา (Pinta Island) ซึ่งไม่อาจสืบทายาทสายพันธุ์เต่าหายากไปเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.55 แต่เอพีรายงานว่าตอนนี้มีดาวดวงใหม่มาแทนที่แล้ว

ดิเอโก (Diego) เต่าอายุนับร้อยปีจากเกาะเอสปาโนลา (Espanola Island) เคยตกอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกับทวดจอร์จตรงที่สายพันธุ์เต่าใกล้จะสูญพันธุ์ แต่เจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติกาลาปากอส (Galapagos National Park) ในเอกวาดอร์ระบุว่า เต่าตัวนี้ได้พลิกสถานการณ์ด้วยการให้ทายาทออกมาหลายร้อยตัว

วอชิงตัน ทาเปีย (Washington Tapia) หัวหน้าโครงการอนุรักษ์ของอุทยานให้ข้อมูลว่า ดิเอโกถูกพรากไปจากเกาะเอสปาโนลาโดยคนของคณะสำรวจที่เดินทางมาเยือนหมู่เกาะระหว่างปี 1900-1930 แล้วลงเอยที่สวนสัตว์ซานดิเอโก (San Diego Zoo) ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ จากนั้นสวนสัตว์ได้ส่งเต่ากลับคืนกาลาปากอสในปี 1975 ซึ่งตอนนั้นทราบว่ามีเต่าสายพันธุ์เดียวกันหลงเหลือเพียงตัวผู้ 2 ตัว และตัวเมียอีก 12 ตัว

ทาเปียกล่าวอีกว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทราบอายุที่แน่ชัดของดิเอโก แต่ประมาณได้ว่าเกิน 100 ปีแน่ๆ ทั้งนี้ เต่าตัวนี้เป็นพ่อของเต่า 40-45% ในจำนวน 1,781 ตัวที่เกิดจากโครงการขยายพันธุ์เต่าและอยู่บนเกาะเอสปาโนลา

“เชโลนอยดิส ฮูเดนซิส” (Chelonoidis hoodensis) คือชื่อของเต่าสปีชีส์นี้ แต่บ้างก็ว่าเป็นเพียงสปีชีส์ย่อย โดยศัตรูตัวสำคัญของเต่าสายพันธุ์นี้คือสัตว์ท้องถิ่นที่กินไข่ของเต่าชนิดนี้เป็นอาหาร ซึ่งศัตรูเหล่านั้นถูกนำมาสู่เกาะโดยน้ำมือมนุษย์

ดังนั้น ดิเอโกและเต่าชนิดนี้ตัวอื่นๆ จึงถูกกักขังอยู่ในศูนย์เพาะพันธุ์ของอุทยานในซานตา ครูซ (Santa Cruz) อันเป็นเกาะหลักของหมู่เกาะกาลาปากอส ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่มีดอกไม้และพืชเฉพาะถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ และยังเป็นแรงบันดาลใจให้ ชาร์ลส ดาร์วิน (Charles Darwin) สร้างผลงานเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการ

อย่างไรก็ดี ดิเอโกค่อนข้างมีอิทธิพลและก้าวร้าว โดยทำตัวอันธพาลด้วยการกัดและขัยไล่เต่าตัวผู้ตัวอื่นๆ ทำให้ทวดเต่าตัวนี้ถูกแยกไปอยู่ในคอกอื่นพร้อมกับตัวเมียอีก 5 ตัว และนอกจากเต่าด้วยกันแล้ว ฟอสโต เลิลรีนา (Fausto Llerena) ผู้ดูแลเต่ากล่าวว่า ดิเอโกยังดุร้ายใส่คนด้วย ซึ่งเขาเองถูกกัดมาแล้วครั้งหนึ่งและหลายสัปดาห์ก่อนก็เกือบจะถูกกัดอีก โดยเมื่อเปิดคอกเข้าไปเจ้าเต่าตัวร้ายจะตรงเข้ามาใกล้และแสดงออกอย่างไม่เป็นมิตรนัก

ด้าน ลินดา คาโยต์ (Linda Cayot) นักสัตววิทยาสัตว์เลื้อยคลานจากองค์กรอนุรักษ์กาลาปากอส (Galapagos Conservancy) ซึ่งประจำอยู่ที่สหรัฐฯ กล่าวว่า ดิเอโกมีความกระตือรือร้นทางเพศมากที่สุดในกลุ่ม เพราะตัวใหญ่ที่สุดและแก่ที่สุดท่ามกลางตัวผู้ด้วยกัน ซึ่งธรรมชาติของเต่านั้นตัวที่โตที่สุดจะได้ปกครอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวผู้อื่นๆ ไม่กระตือรือร้น เพียงแต่ดิเอโกได้ปกครองฝูงเท่านั้นเอง

ทั้งนี้ มีเต่ายักษ์อย่างน้อย 14 สปีชีส์ที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะกาลาปากอสซึ่งห่างจากชายฝั่งแปซิฟิกของเอกวาดอร์ประมาณ 1,000 กิโลเมตร และมีอยู่ 10 สปีชีส์ที่ยังเหลือรอด ซึ่งลักษณะของแต่ละสปีชีส์นั้นได้พัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เต่าอาศัยอยู่ ทั้งนี้อ้างอิงจากการสังเกตของดาร์วิน

เกาะเอสปาโนลามีพื้นที่ราว 130 ตารางกิโลเมตร มีสภาพแห้งแล้ง และเต่าต้องปรับตัวเพื่อกินพืชที่ค่อนข้างสูง ทำให้เต่าบนเกาะนี้พัฒนาจนมีขาและคอยาวที่สุดในบรรดาเต่าของกาลาปากอส สำหรับดิเอโกนั้นมีความยาวเกือบ 90 เซ็นติเมตร หนัก 80 กิโลกรัม มีกระดองสดำลักษณะเหมือนอานม้า ซึ่งเลิลรีนาเชื่อว่าดิเอโกจะสืบทอดตำแหน่งสัญลักษณ์แห่งหมู่เกาะกาลาปากอสแทนเต่าจอร์จได้

ก่อนที่มนุษย์จะไปถึงหมู่เกาะกาลาปากอส เกาะทั้ง 6 แห่งของกาลาปากอสนั้นเป็นที่อาศัยของเต่ายักษ์นับแสนตัว และในปี 1974 ก็ลดจำนวนลงเหลือประมาณ 3,000 ตัว แต่จากโครงการฟื้นฟูประชากรเต่าโดยอุทยานและมูลนิธิชาร์ลสดาร์วิน (Charles Darwin) นั้น ได้เพิ่มประชากรเต่าขึ้นเป็น 20,000 ตัวแล้ว โดยลูกหลานของดิเอโกรวมถึงตัวผู้อื่นๆ ที่อยู่ในคอกซานตาครูซได้มีลูกหลานของตัวเองตามธรรมชาติมาตั้งแต่ปี 1990

ทาเปียกล่าวว่า ตอนนี้เรามั่นใจได้ในการเพิ่มประชากรเต่าชนิดนี้ แต่ก็มีคำถามว่าจะเป็นปัญหาต่อไปหรือไม่เมื่อลูกหลานเต่าจำนวนมากเกิดจากเต่าพ่อแม่พันธุ์ไม่กี่ตัว ซึ่งคาโยต์ให้ความเห็นว่าอาจจะเป็นปัญหา แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการรักษาสปีชีส์ของเต่าชนิดนี้ไว้ให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น