xs
xsm
sm
md
lg

เข้าใจผิดมา 150 ปี “เต่ายักษ์กระดองอานม้า" แห่งกาลาปากอสยังไม่สูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เต่าลูกผสมระหว่าง ซี.อีเลแฟนโทปุส กับ เต่ายักษ์ จี. เบคกี(G. Becky) ซึ่งเป็นเต่าในท้องถิ่นของเกาะอิสาเบลา (ภาพทั้งหมดจาก PhysOrg.com/มหาวิทยาลัยเยล)
หลงเข้าใจผิดมา 150 ปีว่า “เต่ายักษ์กระดองอานม้า” แห่งหมู่เกาะกาลาปากอสสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่การตรวจพันธุกรรมล่าสุดโดยทีมวิจัยจากเยลชี้ว่า ยังเหลือเต่าสายพันธุ์ดังกล่าวอย่างน้อยกว่า 30 ตัว บริเวณตีนภูเขาไฟอันห่างไกลจากถิ่นกำเนิดเดิมออกไปกว่า 300 กิโลเมตร

ผลจากการวิเคราะห์พันธุกรรมของเต่ายักษ์ 38 ตัวในหมู่เกาะกาลาปากอส (Galapagos Islands) โดยทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ชี้ว่าเต่าเหล่านั้นเป็นลูกหลานสายเลือดบริสุทธิ์ของเต่าสายพันธุ์ เชโลนอยดิส อีเลแฟนโทปุส (Chelonoidis elephantopus) ซึ่งพวกมันอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลาดชันของภูเขาไฟทางชายฝั่งตอนเหนือของเกาะอิสาเบลา (Isabela Island) ซึ่งอยู่ห่างจากถิ่นเดิมของบรรพบุรุษในเกาะฟลอรีนา (Floreana Island) ที่พวกมันได้สาบสูญไปจากถิ่นเดิมนี้เนื่องจากการล่าโดยนักล่าวาฬ

“นี่ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นทางวิชาการเท่านั้น หากเราค้นหาสัตว์ที่มีลักษณะจำเพาะนี้ได้ เราก็สามารถคืนพวกมันกลับสู่เกาะอันเป็นถิ่นกำเนิดเดิมได้ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญเพราะเต่าเหล่านี้เป็นสายพันธุ์หลักที่มีบทบาทสำคัญมากในการคงความสมบูรณ์เชิงนิเวศให้แก่กลุ่มสิ่งมีชีวิตของเกาะ” PhysOrg.com ระบุคำพูดของ กิเซลลา แคคโคน (Gisella Caccone) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากภาควิชาชีววิทยานิเวศและวิวัฒนาการของเยล และผู้เขียนหลักในรายงานเผยแพร่ผลศึกษานี้ลงวารสารเคอเรนต์ ไบโอโลจี (Current Biology)

จากการเดินทางสู่หมู่เกาะกาลาปากอสเมื่อปี 1835 ของ ชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin) เขาได้สังเกตว่า กระดองเต่าที่อาศัยอยู่บนเกาะต่างๆ กันนั้นมีรูปร่างต่างกัน ซึ่งข้อสังเกตการณ์นั้นเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของทฤษฎีการคัดเลือดโดยธรรมชาติที่เขาเสนอขึ้น ตัวอย่างเช่น กระดองของ ซี. อีเลเฟนโทปุส ที่เกาะฟลอรีนามีรูปร่างเหมือนอานม้า ขณะที่เต่ายักษ์บนเกาะอื่นๆ มีกระดองรูปร่างเหมือนโดม อย่างไรก็ดี เต่าที่เกาะฟลอรีนาได้หายไปเนื่องจากการล่าของนักล่าวาฬ และคนงานของโรงงานน้ำมันที่ตั้งอยู่บนเกาะ

เมื่อปี 2008 ทีมวิจัยจากเยลได้ไปเยือนภูเขาไฟวอล์ฟ (Volcano Wolf) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะอิสาเบลา แล้วเก็บตัวอย่างเลือดของเต่ายักษ์มากกว่า 1,600 ตัว จากนั้นเปรียบเทียบพันธุกรรมกับฐานข้อมูลของเต่ายักษ์ทั้งที่ยังไม่สูญพันธุ์และสูญพันธุ์ไปแล้ว

จากการวิเคราะห์พบเต่าจากภูเขาไฟดังกล่าว 84 ตัวมีพันธุกรรมของเต่า ซี. อีเลเฟนโทปุส นั่นหมายความว่ามีพ่อแม่ของเต่าสายพันธุ์นี้คู่หนึ่งที่เป็นสายเลือดบริสุทธิ์ของเต่ายักษ์ที่สาบสูญ และมีการขยายพันธุ์ 30 กรณีที่เกิดขึ้นภายในช่วง 15 ปีมานี้ และเพราะเต่ายักษ์มีอายุยืนได้ถึง 100 ปี ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะยังมีเต่าสายเลือดบริสุทธิ์หลงเหลืออยู่จำนวนมาก

“เท่าที่ทราบ นี่เป็นรายงานแรกของการค้นพบสายพันธุ์สัตว์อีกครั้งที่อาศัยวิธีตรวจสอบร่องรอยพันธุกรรมที่หลงเหลืออยู่ในจีโนมของลูกหลานเลือดผสม” ไรอัน การ์ริค (Ryan Garrick) อดีตนักวิจัยหลังปริญญาเอกของเยลกล่าว ซึ่งตอนนี้เขาเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี (University of Mississipi) โดยเขายังเป็นร่วมเขียนรายงานวิจัยการค้นพบครั้งนี้ด้วย

การ์ริคกล่าวว่าสายเลือดอันเข้มข้นของลูกผสมอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ฟื้นคืนสายพันธุ์เต่ายักษ์ ซี. อีเลเฟนโทปุส แม้ว่าอาจจะไม่พบเต่าสายเลือดบริสุทธิ์ในจำนวนที่เพียงพอก็ตาม อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยยังสงสัยว่า เต่ายักษ์ไปถึงภูเขาไฟวอล์ฟด้วยตัวเองหรือไม่ และยังเสนอทฤษฎีว่าเต่าสายพันธุ์นี้ถูกส่งออกจากเกาะฟลอรีนาเพื่อเป็นอาหาร แต่อาจจะถูกโยนออกจากเรือโดยนักล่าวาฬ หรือถูกทิ้งไว้ที่ชายฝั่งของเกาะอิสาเบลา
เต่ายักษ์ จี. เบคกี(G. Becky) เป็นเต่าในท้องถิ่นของเกาะอิสาเบลา และมีลักษณะกระดองค่อนข้างเป็นรูปโดม
กำลังโหลดความคิดเห็น