นักวิทยาศาสตร์ คือคนที่กระหายจะเข้าใจธรรมชาติ และเรียนรู้เรื่องราวของเอกภพโดยการสังเกตด้วยตนเอง หรือโดยบุคคลอื่น แล้วสร้างองค์ความรู้ใหม่ ดังนั้น จึงต้องทดลอง อ่านบทความวิจัย และนำเสนอความรู้ที่พบใหม่ ให้นักวิทยาศาสตร์อื่นได้วิพากษ์วิจารณ์ กิจกรรมเหล่านี้ สามัญสำนึกของคนทั่วไปมักคิดไปเองว่า คนตาบอดทำไม่ได้
แต่มีนักชีววิทยาคนหนึ่งชื่อ Geerat Vermeij (จีราท เวอร์เมย์) ซึ่งทำได้จนเป็นนักชีววิทยาวิวัฒนาการผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลก ทั้งๆ ที่วิทยาการสาขานี้ต้องการคนที่มีสายตาดี โดย Vermeij ได้เดินทางไปเก็บและศึกษาฟอสซิลตัวอย่าง ทั้งในน้ำและบนดินจากทุกหนทุกแห่งทั่วโลก เพื่อจะรู้ว่าอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตอย่างไรและเพียงใด โดยเฉพาะต่อสัตว์ที่มีเปลือกหุ้ม ในไฟลัม Mollusca ซึ่งได้แก่ หอยทาก และ หอยกาบ ฯลฯ
เพราะเหตุว่า Vermeij ตาบอดตั้งแต่เด็ก ดังนั้นการใช้ประสาทสัมผัส (มือและนิ้ว) ในการวิเคราะห์เปลือก และฟอสซิลของหอย จึงเหมาะสำหรับเขามาก ปัจจุบัน Vermeij ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เดวิส เป็นบรรณาธิการของวารสาร Evolution ได้รับทุนวิจัยอัจฉริยะ MacArthur และทุนวิจัยของมูลนิธิ Guggenheim รวมถึงเหรียญ Daniel Giraud Elliot จาก National Academy of Sciences ของสหรัฐฯ มีงานวิจัยตีพิมพ์กว่า 100 เรื่อง และเขียนหนังสืออีก 2 เล่ม คือเรื่อง A Natural History of Shells กับ Privileged Hands: a Scientific Life
Vermeij เกิดเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.1946 ที่เมือง Sappemeer ในประเทศเนเธอร์แลนด์ บิดามีอาชีพเป็นเกษตรกร ครอบครัวมีฐานะปานกลาง ตั้งแต่เกิด Vermeij รู้สึกปวดตามาก เมื่ออายุ 3 ขวบได้เข้ารับการตรวจและจักษุแพทย์ได้พบว่า ความดันในลูกตาสูงมาก จนตากำลังเป็นต้อหิน จึงต้องเข้ารับการผ่าตัด เพื่อให้เห็นดีขึ้น แต่ไร้ผล เพราะตาทั้งสองข้างก็ยังเจ็บต่อไป และอาการปวดนี้ได้รบกวนการทำงานของสมอง จนในที่สุดเพื่อกำจัดความเจ็บปวดอย่างถาวร พ่อและแม่ของ Vermeij ได้อนุญาตจักษุแพทย์ให้ทำตาทั้งสองข้างของลูกชายสุดที่รักบอดอย่างถาวร
เด็กชาย Vermeij จึงต้องพยายามปรับตัวและทำใจให้เข้ากับสภาพใหม่ของร่างกาย โดยใช้ประสาทสัมผัสอื่นช่วยในการดำรงชีวิต เช่นใช้หูฟังเสียงสะท้อน ใช้จมูกดมกลิ่น ใช้ลิ้นชิมรส และใช้มือสัมผัสโลกภายนอกที่มีเสียง กลิ่น รูปทรง และผิวพื้นลักษณะต่างๆ
ครอบครัวของ Vermeij ได้เข้ามามีบทบาทมากในการสนับสนุนเขา โดยไม่ห้ามการไปไหนมาไหน แต่หัดให้เป็นคนรับผิดชอบเหมือนเด็กทั่วไป ให้ไปตกปลา และเวลาเดินก็ให้ระวังคูร่อง และเวลาไปพักผ่อนที่ชายทะเลแทนที่ Vermeij จะสนใจว่ายน้ำ เขากลับสนใจเก็บเปลือกหอยริมหาดมาวิเคราะห์ดูความหลากหลายและความแตกต่างของรูปทรงของเปลือกเหล่านั้น
Vermeij ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสอนคนตาบอดชื่อ Institute for the Blind ที่เมือง Huizen ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ เขาต้องฝึกอ่านภาษา Braille ของคนตาบอดเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับโลกภายนอก ทั้งพ่อและแม่ได้เข้าเรียนภาษา Braille ด้วย เพื่อจะได้สื่อสารกับลูก และแปลหนังสือที่น่าสนใจเป็นภาษา Braille ให้ Vermeij อ่าน
เพราะโรงเรียนอยู่ห่างจากบ้านมาก ดังนั้น Vermeij จึงไม่สามารถกลับไปเยี่ยมบ้านได้ทุกสัปดาห์ ทำให้รู้สึกเหงาในบางเวลา
ในช่วงเวลานั้น เนเธอร์แลนด์กำลังฟื้นฟูประเทศซึ่งได้รับความเสียหายมากจากสงครามโลกครั้งที่ 2 บิดามารดาของ Vermeij จึงต้องการอพยพครอบครัวไปอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้คนทุกคนยิ่งกว่าเนเธอร์แลนด์ และได้สืบรู้มาว่าที่รัฐ New Jersey เด็กตาบอดสามารถเข้าเรียนกับเด็กปกติที่โรงเรียนทั่วไปได้
ในปี 1955 Vermeij วัย 9 ขวบกับครอบครัวจึงเดินทางไปอเมริกาเพื่อตั้งต้นชีวิตในโลกใหม่ ด้วยภาษาใหม่ อาหารการกินใหม่ วัฒนธรรมใหม่ โรงเรียนใหม่ และสิ่งแวดล้อมใหม่ Vermeij ได้พบว่า สิ่งมีชีวิตที่ New Jersey แตกต่างจากที่เนเธอร์แลนด์มาก จึงเริ่มเก็บสะสมพืช และกระดูกสัตว์มาไว้ในพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว
Vermeij เล่าว่า บุคคลที่มีอิทธิพลต่อชีวิตเขามากที่สุด คือ ครูประจำชั้นประถมปีที่ 4 ชื่อ Mrs. Catherine Colberg เพราะเมื่อเธอได้พบว่า เขาสะสมเปลือกหอยที่เก็บได้ในเนเธอร์แลนด์ และเธอก็ชอบสะสมเปลือกหอยเช่นกันจากรัฐ Florida การเปรียบเทียบลักษณะของเปลือกหอยจากเนเธอร์แลนด์ที่มีน้ำทะเลค่อนข้างเย็น กับเปลือกหอยจาก Florida ที่มีน้ำอุ่น ทำให้ Vermeij เห็นความแตกต่าง คือผิวเปลือกหอยจากเนเธอร์แลนด์ค่อนข้างหยาบ แต่ผิวเปลือกหอยฟลอริดาเรียบเนียนกว่า ความแตกต่างนี้ ได้จุดประกายให้ Vermeij ความอยากรู้เหตุผลมาก จึงเริ่มสังเกตเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัว และมีคำถามมากมายที่ดูเหมือนไม่มีคำตอบ และไม่มีเหตุผลใดๆ ดังนั้น จึงเริ่มตั้งโจทย์ (ที่เหมาะสมและมีโอกาสจะมีคำตอบ) แล้วตั้งสมมติฐาน จากนั้นได้ทดสอบสมมติฐานนั้นด้วยหลักฐานและเหตุผล
Vermeij ใช้เวลาในการเก็บเปลือกหอยที่บริเวณหาดใกล้บ้านค่อนข้างนาน เพราะต้องการรู้เรื่องเปลือกหอยให้มากกว่าที่มีในตำราเรียน เขาได้เขียนจดหมายไปที่ American Museum of Natural History ว่าจะนำเปลือกหอยที่เขาสะสมมาให้เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ศึกษา ผู้อำนวยการแห่งพิพิธภัณฑ์หอยจึงเชิญ Vermeij ไปเยี่ยมชมห้องสะสมพิเศษของพิพิธภัณฑ์ และได้สนับสนุนให้ Vermeij เรียนชีววิทยา เพื่อจะได้ศึกษาเปลือกหอยที่ระดับลึกต่อไป เพราะตระหนักว่า Vermeij มีความรู้เรื่องเปลือกหอยมาก และรู้จริง
เมื่ออายุ 14 ปี Vermeij ได้สมัครเป็นสมาชิกของวารสาร The Nautilus (หอยงวงช้าง) และได้เป็นสมาชิกของสมาคมหอยแห่งเนเธอร์แลนด์ (Netherland Malacological Society)
Vermeij ได้เข้าเรียนโปรแกรมเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Columbia ด้วย เพราะรู้สึกสนใจทฤษฎีวิวัฒนาการของ Darwin และต้องการเรียนกับอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง รวมถึงได้พบปะสนทนากับนิสิตคนอื่นๆ ที่สนใจเรื่องเดียวกัน
เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา Vermeij ได้รับเลือกเป็นผู้แทนของนักเรียนทั้งรุ่นในการกล่าวอำลาสถาบัน แล้วไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Princeton ในเดือนเมษายน ค.ศ.1964 ด้วยทุนเรียนดี แม้ Vermeij จะพบว่า ชีวิตการเรียนในมหาวิทยาลัยจะขาดความสะดวกสบาย แต่เขาก็มีความสุขเพราะได้พบว่าบรรดาอาจารย์ที่ Princeton ล้วนสอนดีและเร้าใจ ส่วนเพื่อนๆ ก็กระตือรือร้นในการเรียน เพราะตำราเรียนมิใช่ตำรา Braille ดังนั้น Vermeij จึงต้องจ้างคนมาอ่านให้ฟัง และก็ได้พบว่าเพื่อนในห้องสมัครมาอ่านเพราะได้เงิน และยังไงๆ คนเหล่านั้นก็ต้องอ่านตำราเล่มนั้นอยู่แล้ว สำหรับงบประมาณการจ้างนั้น องค์กรส่งเสริมคนตาบอดได้อนุมัติเงินค่าจ้าง ทั้งๆ ที่อดสงสัยไม่ได้ว่า นักชีววิทยาตาบอดจะทำอะไรให้สังคมได้ แต่ Vermeij โชคดีที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งเข้าใจ ศรัทธาและชื่นชมในความสามารถของลูกศิษย์ คำสนับสนุนอย่างเต็มที่จากอาจารย์ทำให้องค์กรส่งเสริมคนตาบอดไม่ซักไซ้ หรือสงสัยในเรื่องนี้อีกเลย
Vermeij ต้องเรียนหนังสือหนัก และรู้สึกเหนื่อย เมื่อได้คะแนนเทอมแรกไม่ดี เขาเริ่มรู้สึกสงสัยว่าจะเป็นนักชีววิทยาได้หรือไม่ แต่อาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่า เด็กส่วนใหญ่จะได้คะแนนไม่ดีในเทอมแรก เพราะต้องปรับตัวมาก ดังนั้น Vermeij จึงเปลี่ยนสไตล์เรียนหนังสือ จนได้เป็นนิสิตที่เรียนเก่งมากในที่สุด
ในปีสุดท้าย นิสิตปี 4 ทุกคนต้องทำโครงงานวิจัย Vermeij ได้ตั้งโจทย์วิจัยว่า จะศึกษาความหลากหลายของเปลือกหอยสองฝาประกบกัน (mussel) เพราะได้พบว่า เปลือกของหอยชนิดนี้มีรูปทรงที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่แบนราบ จนเกือบเป็นรูปทรงกระบอก Vermeij ได้กำหนดแผนการวิจัยว่า ตลอดฤดูร้อนจะศึกษาขนาด รูปทรง และพื้นผิวของเปลือกหอย mussel ที่พบตามชายฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิก และแอตแลนติก เมื่อได้ทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัย Vermeij จึงจ้างนักวิจัยผู้ช่วย แล้วออกทำงานภาคสนามอย่างหนัก และสนุก จนทำให้ตัดสินใจได้ว่าจะเป็นนักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องหอย
หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี Vermeij ได้สมัครเรียนต่อระดับปริญญาโทและเอก ซึ่งการวิจัยต้องการเปลือกหอยตัวอย่างจำนวนมากชนิดเพื่อวิเคราะห์ ดังนั้นจึงต้องเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีพิพิธภัณฑ์หอย และได้เลือกมหาวิทยาลัย Harvard, Yale กับ Princeton เมื่อ Harvard กับ Princeton ได้ตั้งประเด็นว่า เพราะงานวิจัยต้องใช้สายตามาก สถาบันจึงไม่พร้อมให้นิสิตตาบอดทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ส่วน Yale นั้นแม้ไม่มั่นใจว่าสามารถจัดการเรียน การวิจัยให้ Vermeij ได้ แต่ก็ให้ Vermeij เดินทางมารับการสัมภาษณ์ที่ภาควิชาชีววิทยา ขณะผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาได้นำ Vermeij ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ Peabody ของมหาวิทยาลัย เขาได้หยิบเปลือกหอย 2 ชนิดมาถาม Vermeij ว่าเป็นหอยอะไร โชคดีที่ Vermeij รู้จักดี เขาจึงบอกชนิดได้ถูก คำตอบทำให้ผู้อำนวยการประทับใจมาก จึงรับเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Yale ทันที และมอบทุนการศึกษาให้ด้วย Vermeij จึงสามารถเดินทางไปเก็บเปลือกหอยในสถานที่ไกลๆ ได้
Vermeij ได้พยายามตอบปัญหาว่าสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลต่อรูปทรงของเปลือกหอยอย่างไร โดยเฉพาะหอยที่อาศัยริมฝั่งทะเลตอนบนซึ่งเป็นบริเวณที่แผ่นดินบรรจบทะเล ซึ่งเป็นบริเวณอันตราย เพราะน้ำทะเลมักไหลมาไม่ถึงตัวหอยเป็นเวลานานๆ อาหารที่มันได้รับจึงมีปริมาณน้อย นอกจากนี้แสงแดดที่แผดกล้าก็ทำร้ายหอยด้วย Vermeij ได้พบว่า เปลือกหอยในบริเวณนี้ มีลักษณะที่แตกต่างจากเปลือกหอยในบริเวณตอนล่างของทะเล ซึ่งเป็นบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลตลอดเวลา และมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นภัยอันตรายต่อชีวิตของหอยจึงน้อยกว่า แล้ว Vermeij ก็ได้ข้อสรุปว่าหอยแต่ละชนิดจะปรับตัว ทำให้รูปร่างของเปลือกไม่เหมือนกัน หอยบางชนิดสร้างเปลือกเป็นรูปเจดีย์ เพื่อให้พื้นที่รับแสงแดดค่อนข้างน้อย และเปลือกหอยจะมีสันเพื่อช่วยสะท้อนแสงแดด บางหอยจะมีเปลือกที่ทำหน้าที่เก็บความชื้นและน้ำได้ดี ผิวเปลือกจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อให้อุณหภูมิของตัวหอยไม่สูงนัก เวลาน้ำระเหยออกจากตัวมาก สำหรับหอยที่อยู่ชายทะเลส่วนล่าง เพราะหอยในบริเวณนี้ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับแสงแดด และน้ำ ดังนั้นรูปร่างของหอยในบริเวณนี้จึงแตกต่างจากหอยที่พบในทะเลส่วนบน ผลการค้นพบนี้ทำให้ Vermeij ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต
เมื่อสำเร็จการศึกษา Vermeij ต้องหางานทำโดยจะเป็นอาจารย์สอนและวิจัย และต้องการอยู่ใกล้ Edith Zipser ซึ่งขณะนั้นกำลังทำปริญญเอกด้านชีววิทยาโมเลกุลที่มหาวิทยาลัย Yale ด้วย เพราะคนทั้งสองมีรสนิยมคล้ายกันหลายเรื่อง เช่น ชอบดนตรี รักวิทยาศาสตร์ และชื่นชมธรรมชาติเหมือนกัน จึงได้เข้าพิธีสมรสกันในปี 1972 เมื่อ Vermeij อายุ 26 ปี และได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Maryland ที่ College Park
Vermeij ต้องทำงานหนักเพื่อจะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ เขาได้ใช้เงินทุนวิจัย เพื่อเดินทางไปเก็บเปลือกหอยในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่น ฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา ทะเล Caribbean ฝั่งอินโดจีน และ Alaska โดยมีภรรยาติดตามไปด้วย
สามปีหลังจากที่สำเร็จการศึกษา Vermeij วัย 28 ปี ก็ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ เพราะมีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ และมีความสำคัญมากมาย
ในปี 1974 ที่ Vermeij ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร Evolution เขาได้ตั้งสมมติฐานว่า ความหลากหลายในรูปทรงของเปลือกหอยเกิดจากการที่หอยถูกปูและสัตว์อื่นๆ ล่า โดยบริเวณใดมีปูที่มีก้ามแข็งแรง หอยจะมีเปลือกหนา แต่ถ้าปูมีก้ามที่ไม่แข็งแรงนักหอยในบริเวณนั้นจะมีเปลือกบาง
ในการพิสูจน์สมมติฐานนี้ Vermeij ได้เดินทางไปที่เกาะ Guam เพราะที่นี่มีหอยนานาชนิดทั้งจากมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิกตะวันตก Vermeij ได้สังเกตเห็นว่า ผิวเปลือกหอยส่วนใหญ่ไม่เรียบ คือตะปุ่มตะป่ำและมีรอยตำหนิ เขาคิดว่าคงเพราะถูกศัตรูโจมตี หอยที่รอดชีวิตจึงต้องสร้างเปลือกให้แข็งแรงขึ้น เพื่อแพร่พันธุ์ต่อไป
การวิจัยขั้นต่อมาทำให้ Vermeij ตระหนักว่าปูซึ่งเป็นศัตรูของหอยก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เพื่อกินหอยให้ได้ เช่น มีก้ามที่แข็งแรงขึ้นเพื่อบดขยี้เปลือกหอยให้แตก แล้วจะได้กินเนื้อหอย หลักฐานนี้จึงให้องค์ความรู้ใหม่ว่า นอกเหนือจากสภาพภูมิศาสตร์แล้ว ผู้ล่า (ศัตรู) ก็มีบทบาทมากในวิวัฒนาการของสปีชีส์ นั่นคือ ปูในมหาสมุทรแปซิฟิกมีก้ามที่แข็งแรง เพราะหอยในบริเวณนั้นมีเปลือกแข็งหนา ส่วนปูในมหาสมุทรอินเดียมีก้ามที่ไม่แข็งแรง เพราะหอยที่มันเผชิญมีเปลือกที่ค่อนข้างบาง
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ล่ากับผู้ถูกล่านี้คือตัวอย่างหนึ่งของ Coevolution (วิวัฒนาการร่วม) ซึ่งเป็นกระบวนการที่สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตเวลามีปฏิสัมพันธ์กัน
ในความเป็นจริง Paul Ehrlich และ Peter Raven คือนักชีววิทยาสองคนแรกที่ใช้คำว่า Coevolution ในบทความวิจัยปี 1964 เรื่อง Butterflies and Plants: A Study in Coevolution ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evolution นักวิจัยทั้งสองโดยแสดงให้เห็นว่า พืชจะสร้างสารเคมีที่ทำให้ผีเสื้อที่จะมากินมันรู้สึกไม่สบาย ในขณะเดียวกันผีเสื้อก็จะสร้างภูมิคุ้มกันภัยจากพิษที่พืชสร้าง ผีเสื้อใดทำได้ก็จะมีชีวิต และสืบพันธุ์ต่อไป ดังนั้นพืชก็ต้องมีวิวัฒนาการด้วย เพื่อการอยู่รอด นี่จึงเป็นการแข่งขันกันวิวัฒนาการของทั้งพืชและสัตว์
เปลือกหอยก็เช่นกัน ส่วนใหญ่ทำด้วย calcium carbonate และสารประกอบชนิดนี้เกิดในทะเลน้ำอุ่นได้ง่ายกว่าในทะเลน้ำเย็น ดังนั้นหอยน้ำอุ่นจึงใช้พลังงานในการสร้างเปลือกน้อยกว่าหอยในน้ำเย็น แต่ศัตรูของหอยในบริเวณน้ำอุ่นก็มากกว่าในบริเวณน้ำเย็น ดังนั้น ในภาพรวมหอยในบริเวณน้ำอุ่นจึงต้องวิวัฒนาการให้มีเปลือกที่แข็งแรงกว่าหอยในน้ำเย็น
ในปี 1987 Vermeij ได้ย้ายไปรับตำแหน่งที่ University of California ที่ Davis และสังกัดอยู่ที่นี่จนกระทั่งถึงวันนี้ เขาสนใจความคล้ายคลึงระหว่างเหตุการณ์ Coevolution กับความเป็นไปของอารยธรรม เพราะตระหนักว่า ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดในโลกที่ไม่มีศัตรู การต่อสู้ การแข่งขัน และการแก่งแย่ง เป็นเรื่องปกติของทุกชีวิต
ผลงานของ Vermeij ได้ทำให้เขาได้รับเกียรติยศมากมาย เพราะเขาเป็นคนที่มีมาตรฐานชีวิตสูง และทำงานวิจัยด้านชีววิทยาวิวัฒนาการอย่างจริงจัง ถ้าเขาเกิดเมื่อ 500 ปีก่อนนี้ เขาคงต้องเป็นขอทานข้างถนน หรือไม่ก็ต้องอาศัยวัด หรืออาจถูกเผาทั้งเป็นก็ได้ที่มีความคิด “ประหลาดๆ” และแม้แต่ในสมัยเมื่อ 100 ปีก่อน สังคมคงคาดหวังให้เขาเล่นดนตรีขอเงินบริจาคก็เพียงพอแล้ว
แต่เมื่อถึงยุคที่อนุชนรุ่นหลังได้รับการคาดหวังให้ประสบความสำเร็จมากกว่าบิดามารดา Vermeij จึงเป็นคนตาบอดคนหนึ่งที่ได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถวิจัยวิทยาศาสตร์ระดับสุดยอดได้ดีเท่าและดีกว่า คนตาดีหลายคน
อ่านเพิ่มเติมจาก Previleged Hands: a Scientific Life โดย G.J. Vermeij และจัดพิมพ์โดย Freeman, New York ในปี 1996
*********************
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน - ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์