พระพุทธเจ้าสอนว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง เพราะคนเราตั้งแต่เกิดมาก็มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เซลล์ทุกตัวเกิดจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเป็นวัตถุธาตุ วัตถุธาตุนั้นแลเป็นที่ตั้งเป็นบ่อเกิดของโรคนานาชนิด นอกจากโรคจากเซลล์แล้ว โรคอันหนึ่งซึ่งหมอแผนปัจจุบันค้นไม่พบคือ โลภ โกรธ หลง มีหมอคือพระพุทธเจ้าองค์เดียวค้นพบและรักษาให้หายได้เด็ดขาด และวิชานั้นยังสอนกันมาตราบเท่าทุกวันนี้
เอาไหมจะสอนให้ปฐมพยาบาล
ทีแรกต้องหัดนั่งกำหนดจิตให้รู้เรื่องของจิตก่อน เพราะจิตเป็นที่เกิดของโรคนานาชนิด ถ้าไม่รู้เรื่องของจิตโรคเกิดขึ้นก็ไม่รู้ และไม่ทราบจะรักษากันที่ไหน จงตั้งสติ กำหนดให้รู้จักจิตของตนว่า คิดดี คิดร้าย หยาบและละเอียดอย่างไร ให้เห็นจิตของตนอยู่ทุกขณะ
การรู้ตัวอยู่อย่างนี้เป็นความรู้ที่ดีมีประโยชน์ ดีกว่าไปรู้เรื่องคนอื่นสิ่งอื่น นี่พระพุทธเจ้าสอนปฐมพยาบาลโรคมีอยู่แล้วทุกคน แต่ไม่รู้จักรักษา และไม่เข้าใจว่าตนเป็นโรค จนโรคกำเริบเต็มที่แล้ว จึงรู้จักว่าตนมีโรค หมดหนทางที่จะรักษาให้หายแล้ว
• เราแสวงหาปัจจัยสี่ก็เพื่อ
สงเคราะห์โรคทางกายทั้งนั้น
แท้จริงตัวคนเราแต่ละคนได้ปลูกโรงพยาบาลสองเสา พากันสงเคราะห์อยู่ตลอดเวลา และเป็นผู้อำนวยการเองด้วย ความไม่สบายเรียกว่าไข้ นับแต่ปวดหัวเป็นไข้ ปวดท้อง เป็นหวัด ไอ แม้ที่สุดหิวโหยอยากอาหาร เจ็บหนักเจ็บ เบา ก็เรียกว่าเป็นไข้ ผู้อำนวยการต้องตรวจต้องรู้ด้วยตนเองทั้งนั้น แล้วก็บำบัดเยียวยาบำรุงรักษาถ่ายเทด้วยตนเองเป็นนิตย์
เครื่องนุ่งห่มปกปิดร่างกาย ที่อยู่ที่นอนที่อาศัย ที่เราแสวงหามาก็เพื่อสงเคราะห์การไข้ทั้งนั้น และสงเคราะห์ทุกวันทุกเวลาเสียด้วย โรคชนิดนี้มีอยู่ประจำโลกก่อนแต่ เรายังไม่เกิด บิดามารดาปู่ย่าตาทวดของเราก็เคยมานอนอยู่โรงพยาบาล(โลก)นี้ก่อนแล้ว ลูกหลานของเราเกิดมาก็จะมานอนโรงพยาบาลนี้อีกไม่มีที่สิ้นสุดสักที
วิชาแพทย์เรียนไปเถิด เรียนไปเท่าไรก็ไม่รู้จักจบ คนไข้ก็รักษากันไปเถิด ไม่รู้จักหมดสักที ผู้สงเคราะห์ก็สงเคราะห์เรื่อยไป ตราบใดโรงพยาบาลและคนไข้ยังมีอยู่ ผู้สงเคราะห์ก็สงเคราะห์กันเรื่อยไป เจ็บหัวปวดท้องเป็นไข้ไอหวัด เป็นต้น เป็นโรคเกิดจากกาย
• โรคทางใจเป็นโรคเรื้อรังรักษาหายได้ยาก
ส่วนโรคอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นที่ใจ เมื่อเกิดขึ้นในใจของใครแล้ว จะต้องป่วยถึงแก่ความตายหรือเจียนตายไม่แพ้โรคที่เกิดขึ้นที่กาย โรคที่ว่านี้ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ หรือโลภ โกรธ หลง เป็นต้น เป็นโรคเรื้อรังรักษาหายได้ยาก แม้แพทย์ชั้นเยี่ยมในโลกนี้ ก็อาจมีโรคที่ว่านี้ประจำอยู่ในตัวทุกๆคน ไม่มากก็น้อย
- โรคราคะ ราคะคือ ความใคร่ ทำให้จิตใจกระสับกระส่าย กระหายในอารมณ์ที่ตนใคร่ จึงไม่สบาย ชื่อว่าเป็นโรคราคะ ต้องสงเคราะห์เพื่อให้บรรเทาเบาบาง ด้วยการให้ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นชิมรส กายสัมผัสแตะต้องของที่น่ารักใคร่พอใจ ที่เรียกว่า กามคุณ ๕ เป็นการสงเคราะห์โรคราคะ
- โรคโลภะ โลภะ คือ ความอยากได้ไม่มีขอบเขต อันเป็นเหตุให้จิตเดือดร้อนในความไม่อิ่มไม่พอ มีมากมีน้อยก็ยังพร่องอยู่เสมอ จึงชื่อว่าเป็นโรคโลภะ ต้องสงเคราะห์ให้บรรเทาเบาบาง ด้วยการให้วัตถุสิ่งของที่โรคต้องการ มีเงินทองข้าวของ เป็นต้น
- โรคโกรธ โกรธ คือ ความคิดประทุษร้ายบุคคลหรือวัตถุที่ตนไม่พึงพอใจ เพื่อให้บุคคลหรือวัตถุนั้นฉิบหาย เมื่อทำลายตามประสงค์แล้ว โกรธก็ค่อยบรรเทาเบาบางลง ฉะนั้น การผ่อนปรนจึงเป็นการสงเคราะห์โรคโกรธ
- โรคโมหะ โมหะ คือ ความไม่รู้จักผิดไม่รู้จักถูก ดีหรือชั่ว สิ่งที่ควรหรือไม่ควร ต้องอาศัยดวงประทีปคือปัญญา ถ้ามีการพิเคราะห์หรือพิจารณา ก็จะเป็นเครื่องบรรเทาเบาบางลงไปได้ ฉะนั้น การตรึกตรองหาเหตุผลในสิ่งนั้นๆ ก็ดี หรือผู้ฉลาดให้คำแนะนำตักเตือนก็ดี จึงเป็นวิธีสงเคราะห์โรคโมหะอย่างหนึ่ง
• โรคทางใจ ถ้าเป็นพอประมาณ
ก็ยังประโยชน์ให้เกิดได้
โรคราคะและโรคโลภะ หากเกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ คนเราแต่พอประมาณ และสงเคราะห์สมควรแต่สภาวะของตนๆ แล้ว กลายเป็นโรคก่อตัวสร้างโลกอันนี้ ให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา ยังโลกอันนี้ให้เจริญถาวรไปยืนนาน
โรคโกรธ เป็นโรคร้อนและน่ากลัวมาก หากเกิดขึ้นในจิตใจของใครแล้ว ถ้าพอประมาณนำไปใช้ในกิจการที่พอเหมาะพอสม ก็จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นอย่างรุนแรงแล้วก็จะนำความฉิบหายให้ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น หรือส่วนรวมอย่างมากมาย
โรคโมหะ เป็นโรคที่มืดมาก ถ่วงความเจริญก้าวหน้าทั้งแก่ตนและคนอื่น
โรคทั้งหลายที่บรรยายมาแล้วนั้น ถ้าเป็นมากจนผิดปกติธรรมดาเขาเรียกกันว่า “บ้า” ดังเราเคยได้ยินเขาพูดกันเสมอๆ ว่า คนนั้นบ้ากาม คนโน้นบ้าโลภ คนนี้บ้าโกรธ บ้าหลง เป็นต้น ตกลงว่าหากเป็นถึงขั้นเป็นบ้าแล้วหมดหวัง แก้ไขยาก
• โลกเป็นโรงพยาบาลของสัตว์
ผู้ป่วยทางกายและทางใจ
โลกทั้ง ๓ ได้ชื่อว่า เป็นโรงพยาบาลของสัตว์ผู้ยังป่วย ด้วยโรคทางกายและใจ สัตว์ผู้ยังป่วยอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ (โลก)หลังนี้ ผู้เกิดอยู่ในครรภ์ได้ชื่อว่านอนอยู่ในห้องพิเศษ จำต้องให้หมอพิเศษ(คือมารดาบิดา)รักษาเป็นพิเศษ คลอดออกมาแล้วมานอนอยู่ในอ้อมในเปลหรืออยู่ในบ้านในเรือน ได้ชื่อว่ามานอนอยู่ในห้องพักฟื้น หมอและยาก็ต้องใช้ให้พอเหมาะแก่คนไข้ที่พักฟื้น
• พระพุทธเจ้าทรงเป็นแพทย์ทางใจ
กายเกิดจากวัตถุธาตุ มีดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นต้น เมื่อโรคเกิดขึ้นที่วัตถุธาตุ ซึ่งมันอาจขาดธาตุอะไรสักอย่าง ครั้นหมอพิสูจน์รู้สมุฎฐานความเป็นจริงแล้ว ก็ต้องรักษาด้วยการเพิ่มธาตุนั้นๆ ส่วนจิตเป็นสภาวธรรมอันหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับพร้อมกับอารมณ์นั้นๆ ซึ่งมีธาตุรู้เป็นผู้ยืนโรง จิตจะเกิดโรคชนิดใดต้องอาศัยอารมณ์เป็นเครื่องวัด
ฉะนั้น หมอธรรมดาซึ่งไม่มีความรู้ ไม่ฉลาดในอารมณ์ นั้นๆแล้ว ไม่สามารถจะรักษาโรคทางใจได้ พระพุทธเจ้าของเรา พระองค์เป็นแพทย์ผู้วิเศษ ใช้ธรรมโอสถเป็นยารักษาโรคได้อย่างเด็ดขาด หายแล้วไม่กลับเกิดอีก ถึงอมตะ ดับทุกข์ร้อนถอนอาลัยไม่กังวล เพราะพระองค์ทรง รู้แจ้งในตำแหน่งที่มาของโรคใจได้ทุกประการ และวางยาวิเศษอันได้นามสมัญญาว่า “มรรค ๘ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา” ให้เหมาะกับโรคนั้นๆ
• ยาวิเศษที่ใช้รักษาโรคทางใจ
อนึ่ง เพื่อสะดวกแก่การรักษาโรคนั้นๆ ท่านได้จัดยาไว้เป็นพิเศษเพื่อรักษาโรคนั้นๆ โดยเฉพาะมีดังนี้คือ
- โรคราคะ ทำให้จิตใจน้อมเอนเอียงไปในความกำหนัด รักใคร่ ไม่ว่าจะเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู เป็นต้น ย่อมเห็นเป็นของน่ารักใคร่น่าพอใจ ทำให้เกิดความกำหนัด ยินดีทั้งนั้น ท่านให้ใช้ยาคือ “อสุภะ” เห็นเป็นของปฏิกูลพึงเกลียดหรือเห็นเป็นเหตุก่อให้เกิดทุกข์ เป็นต้น
- โรคโลภะ เมื่อความทะยานอยากได้ไม่รู้จักพอ เพราะไม่เห็นคุณค่าแห่งการแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่คนอื่นฉะนั้น ท่านจึงสอนให้รักษาด้วย “การให้ทาน” เมื่อทำทานไปแล้ว ผู้ที่ได้รับทานจะแสดงความขอบใจและดีใจ อาจทำการอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งตอบแทนจนเป็นที่พอใจ แล้วจะเห็นคุณค่าของการทำทานอันล้ำค่า หรือเห็นสมบัติทั้งหลายในโลกนี้ มิใช่ของตนคนเดียว แต่เป็นของสาธารณะ เพียงเปลี่ยนมือกันใช้เท่านั้น ตายแล้วทุกคนต้องทอดทิ้งไว้ในโลกนี้ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครเอาติดตัวไปด้วย นอกจากบาปและบุญเท่านั้น ฯ
- โรคโกรธ คิดแต่แง่ทำลาย หมายแต่โทษความผิดของผู้อื่น โดยมิได้ทบทวนคิดถึงความดีมีประโยชน์ของเขาบ้าง ความชั่วหรือความผิดมีนิดเดียว ก็สร้างให้มากทวีขึ้น หรือแม้ความชั่วความผิดของคนอื่นเขาไม่มีเสียเลย แต่เราไปสร้างขึ้นเองด้วยความไม่พอใจของเรา จึงเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก อาจสร้างนรกไว้บนสวรรค์ก็ได้ เป็นการทำความเดือดร้อนให้แก่คนอื่นโดยเฉพาะ ท่านจึงสอนให้วางยาเย็นคือ “ความเมตตา” ปรารถนาให้คนอื่นมีความสุขจนเห็นโทษในการทำความเดือดร้อนให้แก่คนอื่น
ทุกคนเกิดมามีกิเลสประจำตัวอยู่แล้ว ไม่มากก็น้อยและทุกคนก็เกลียดทุกข์ ปรารถนาสุขด้วยกันทั้งนั้น จึงประกอบแต่สิ่งที่เห็นว่าดี ถูกต้อง อันจะนำความสุขมาให้ แต่เพราะกิเลสยังมีประจำใจอยู่ จึงอาจมีผิดบ้างบางกรณี
ฉะนั้น หากจะโกรธใครคนอื่น จงคิดถึงเจตนาของเขา หรือประมวลความผิดความชั่วของเขา เท่าที่เราจะประมวลได้ เอามาลบความดีของเขาเท่าที่เราจะประมวลได้เหมือนกัน ถ้าหากความดีของเขายังเหลือ เป็นอันใช้ได้ อย่าพึงโกรธเขาก่อนเลย แล้วก็อย่าลืมเอาความผิดหรือความชั่วของเรา มาลบความดีของเราด้วย ว่าจะได้ผลลัพธ์อย่างไร
- โรคโมหะ ความคิดผิด เห็นผิด เป็นเหตุให้กระทำผิด พูดผิดจากความจริง โดยเห็นผิดเป็นถูก เห็นดีเป็นชั่ว เป็น ต้น อันเป็นเหตุให้กิจการนั้นๆ ไม่สำเร็จลุล่วงไปได้เท่าที่ควร เหมือนกับปลาติดอวนหรือนกติดข่าย มีแต่จะนำความฉิบหายมาให้แก่ตนส่วนเดียว ต้องรักษาด้วยยา คือ “สุตตะ” หมั่นได้ยินได้ฟัง และไต่ถามตริตรองบ่อยๆ
นอกจากยาแต่ละขนานที่ท่านจัดไว้สำหรับบำบัดโรคแต่ละประเภทดังกล่าวมาแล้ว ท่านยังได้ให้ยาเพื่อบำบัดโรคนานาชนิดและโรคที่อาจแทรกแซงอย่างมาก อันได้แก่ พระกัมมัฏฐาน ๔๐ (ดังมีพิสดารอยู่แล้วในที่นั้นๆ )
• คนที่เป็นโรคใจที่รักษาไม่หาย
เพราะเคยชินกับโรคนั้นแล้ว
ใจเป็นนามธรรม โรคที่เกิดขึ้นก็เป็นนามธรรม ฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงฉลาดในนามธรรมอย่างเยี่ยม จึงรู้จักและจัดยาคือธรรมโอสถ อันเป็นนามธรรมไว้รักษาให้ถูกต้องและหายได้เด็ดขาด หายแล้วกลับไม่ได้มาเกิดอีกต่อไป พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายท่านหายจากโรคทางใจ ด้วยยาวิเศษดังกล่าวมาแล้ว
ท่านมองดูพวกเรา ผู้กำลังมีโรคกำเริบอยู่ ด้วยความเมตตากรุณา จึงได้ประทานยา และตำรารักษาไว้ให้พวกเรา เพื่อจะได้นำมาใช้ต่อไป แต่นั่นแหละคนเคยเป็นโรคเรื้อรังมาแต่เกิด จะตายก็ไม่ตายจะหายก็ไม่หาย ชีวิตของ เขาเคยชินกับโรคชนิดนั้นเสียแล้ว
พุทธภาษิตที่ว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา” ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง เขาจะไม่รู้เสียเลยเพราะความไม่มีโรคเขาไม่เคยเห็นไม่เคยได้ เขาเคยได้เคยเห็นแต่ความมีโรคตลอดกาล ฉะนั้น จึงยากที่จะให้เขาเหล่านั้นรักษาโรคดังกล่าวให้หายได้ หรือถ้าโรคนั้นหายจากกายจากใจเขาแล้ว เขาอาจอยู่ไม่สุขก็ได้
บุคคลผู้มีโรคราคะแสดงออกมาภายนอก ด้วยการขับร้องเพลิดเพลิน คนผู้มีโรคชนิดเดียวกันได้ฟังแล้วชอบใจ บางคนเลยถือเอาการของโรคนั้นเป็นอาชีพไปก็มี แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นอาการร้องไห้ของผู้เป็นโรคราคะ เมื่อมันแสดงพิษออกมาด้วยการฟ้อนรำ ยักคิ้ว ยักไหล่ ยกเท้า ยกมือทิ้งท้ายทิ้งหัว ทำอย่างบุคคลผู้ผีเข้าเจ้าสิงพระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นอาการของคนบ้า
แต่มีโรคชนิดเดียวกันผู้เห็นเข้าแล้วเป็นเรื่องน่าสนุก หัวเราะกันใหญ่ บางทีถึงกับยอมสละเงินทองจ้างดูการหัวเราะ ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของการแสดงออกของโรคราคะ พระพุทธเจ้าตรัสอาการนั้นว่า เหมือนกับอาการของทารก
• รักษาโรคใจได้ จึงมีลาภอย่างยิ่ง
ในความไม่มีโรค
ตกลงว่ามนุษย์สัตว์ในโลกนี้ เกิดมาเป็นผู้ป่วยด้วยกันทุกๆคน เป็นไข้โรคเกิดแต่กายแต่ใจทั้งนั้น และทุกๆคนเกิดมาได้ชื่อว่าพากันมาพยาบาลรักษาไข้ของตนๆ ผู้รักษาโรคใจยังไม่หายตายไปเหมือนกลับบ้านเก่า แล้วเกิดมาใหม่ เหมือนกลับมานอนโรงพยาบาลอีก เป็นทุกข์เดือดร้อนอยู่ตลอดกัปตลอดกัลป์
ท่านผู้ที่หายจากโรคอันเกิดจากใจได้แก่ ผู้สิ้นกิเลสแล้ว ถึงแม้โรคในกายของท่านจะยังปรากฏอยู่ ก็เป็นแต่อาการความรู้สึก หาได้ทำใจของท่านให้กำเริบไม่ เพราะโรคใจของท่านไม่มีแล้ว สมุฏฐานคืออุปทานของท่านได้ถอนหมดแล้ว ฉะนั้น ท่านจึงมีความสุขและได้ลาภอย่างยิ่งในความไม่มีโรค
• ขันธ์ ๕ เป็นภาระอย่างยิ่ง
สังขารมี ๒ คือ รูปสังขาร ได้แก่กายอันกอปรด้วยธาตุสี่ ดินน้ำ ไฟ ลม ๑ สังขารนาม ได้แก่ ความคิดปรุงแต่ง อาการของจิต ๑ สังขารทั้ง ๒ นี้เป็นที่ตั้งของโรคดังกล่าวแล้ว ถ้ากายไม่มีความเจ็บไข้ปวดหัวเจ็บท้อง เป็นต้น ก็ไม่มี เย็นร้อน และสัมผัสต่างๆต้องมากระทบที่กายนี้ทั้งนั้น
เมื่อกายนี้เกิดมาแล้ว ถ้ายังพยาบาลเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยผู้อื่น เมื่อเติบโตมาแล้วต้องเป็นผู้อำนวยการเอง แล้วยังรับภาระเป็นผู้อำนวยการเลี้ยงดูสนองคนอื่นต่อไป วนเวียนกันอยู่อย่างนี้ ไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ จึงสมกับพุทธภาษิตว่า “ภารา หเว ปญฺจกุขนฺธา” ปัญจขันธ์เป็นภาระ จริงๆ
• สังขารเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์
เมื่อระงับสังขารได้ย่อมอยู่เป็นสุข
ส่วนสังขารนาม คือ ความคิดปรุงแต่งอันสืบเนื่องมาจาก อายตนะทั้ง ๖ มีตา เป็นต้น เมื่อสัมผัสกับรูปเข้าแล้วทำให้คิดปรุงแต่งไปในอารมณ์ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ ถ้าอารมณ์ที่ชอบก็เกิดความเพลิดเพลินเป็นโรคราคะ ถ้าปรุงแต่งไปในอารมณ์ที่ไม่ชอบก็เกิดความโทมนัส เป็นทุกข์กลุ้มใจให้เกิดโรคโทสะ
สังขารทั้งสองนี้เป็นบ่อเกิดเป็นที่ตั้งของทุกข์ทั้งปวง สมกับพุทธภาษิตว่า “สงฺขารา ปรมา ทุกขา” สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ทุกข์อื่นใดในโลกนี้จะทุกข์แสนทุกข์สักเท่าไร ก็ไม่พ้นไปจากสังขาร ต้องมารวมลงที่สังขารนี้แห่งเดียว จึงได้ชื่อว่าเป็นทุกข์ ยิ่งถ้าหาสังขารไม่ได้แล้ว ทุกข์จะมีมาแต่ไหน
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “เตสํ วูปสโม สุโข” เมื่อสังขารเหล่านั้นระงับหมดแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ดังนี้
• ธรรมโอสถ คือการพิจารณาสังขาร
ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านเป็นโรคทางจิต ท่านก็มารักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ (คือโลกนี้) และเป็นผู้อำนวยการในโรงพยาบาล (คือตัวของท่าน) เองใช้พุทธตำราและยาธรรมโอสถ ด้วยการเพ่งพิจารณาสังขารทั้งสองนั้นให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ดังพระสงฆ์ท่านบังสุกุล หรือชักอนิจจาศพว่า “อนิจฺจา วตฺตสงฺขารา อุปาทวย ธมฺมิโน” เป็นต้น ซึ่งมีความว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วเป็นธรรม อธิบายว่า สังขารรูปเกิดขึ้นมาก็เป็นธรรมสังขารนามเกิดขึ้นมาก็เป็นธรรม เพราะมันเกิดเองเป็นเองตามเหตุปัจจัยของมันต่างหาก เราจะบังคับให้มันเกิดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามชอบใจของเราไม่ได้ เช่น ให้เราเกิดมามีรูปสวยๆ รวยทรัพย์มากๆ ดังนี้เป็นต้นไม่ได้
เหตุปัจจัยมันทำไว้อย่างไร มันก็เกิดเป็นขึ้นมาด้วยพลัง ของเหตุปัจจัยนั้นๆ และเหตุปัจจัยนั้นก็ดี ความเกิดขึ้นของสังขารนั้นก็ดี มันก็เป็นธรรมด้วยเหตุผลของมันเองอยู่แล้ว
บทต่อไปว่า “อุปชิตฺวา นิรุชฺชนฺติ” เมื่อสังขารทั้งหลาย เหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ก็เป็นธรรมอีกเพราะธรรมดามันต้องเป็นไปอย่างนั้น สังขารรูปเกิดมาไว้สำหรับ รับรองสรรพโรคทั้งปวงอันจะพึงเกิดขึ้นที่รูปก็เป็นหน้าที่ของรูป สังขารนามผู้อยู่อาศัยในรูปมีหน้าที่จะต้องรับรู้ และอำนวยการให้เขาพยาบาลกันเอง ก็บัญชาไปตามหน้าที่ จะหายหรือตาย ก็เป็นการศึกษาไปในตัว
เมื่อจิตไม่เข้าไปยึดถือเอาเป็นตนเป็นของของตนแล้ว จิตก็จะไม่เป็นทุกข์ กายจะเจ็บจะไข้ แม้จะแตกดับไปมันก็เป็นตามสภาพของกาย ซึ่งจำจะต้องเป็นไปอย่างนั้น
• รักษาโรคใจได้จึงไม่ต้องกลับมา
นอนโรงพยาบาลในโลกอีก
ส่วนนามสังขารเมื่อมาอาศัยรูปนี้อยู่ ก็ต้องทำงานตามหน้าที่ของผู้อาศัยคนอื่น เช่น รับรู้สัมผัสในอายตนะ ๖ สั่งการในหน้าที่นั้นๆ เป็นต้น พร้อมกันนั้น เมื่อใจยังไม่บริสุทธิ์พอ โรคทั้งหลายมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้น โรคเหล่านี้ จิตจะต้องเป็นผู้อำนวยการเอง รักษาเองด้วยธรรมโอสถเท่านั้น ยาอื่นไม่มีหวังหาย
นามสังขารเป็นของไม่มีรูปร่าง จึงต้องวางยาธรรมโอสถ อันเป็นนามธรรมเช่นเดียวกัน ด้วยการยกโรคเหล่านั้นมาพิจารณาให้เห็นมูลฐานที่เกิด เช่น ราคะเกิดจากรูป เพราะความเข้าไปยึดเอาว่าเป็นของสวยงาม น่ารักน่าใคร่ เป็นต้น แล้วตั้งอยู่บนความปรุงแต่งในรูปนั้นและสลายดับไป เพราะมาพิจารณาเห็นสภาพตามเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ ดังนี้เป็นต้น จึงจะหายได้เด็ดขาด และเมื่อหายแล้ว ไม่ต้องกลับมานอนโรงพยาบาลใดๆอีกต่อไปในโลกนี้
• ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง
ฉะนั้น พวกเราทุกคน เมื่อมารู้สึกตัวว่า ตัวของเรายังเป็นคนไข้เพราะโรคเกิดขึ้นที่กายและใจอยู่แล้ว พึงเห็นโทษแห่งโรคนั้นๆแล้วพากันเยียวยารักษา ด้วยการรักษาดังแสดงมาแล้ว ก็จะเป็นผู้หายจากโรค เป็นลาภอย่างยิ่งในชีวิตนี้ สมกับพุทธภาษิตว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา” ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง ดังนี้
การสงเคราะห์ดังแสดงมานี้ เป็นการสงเคราะห์ที่ถูกต้องแน่นอนและได้ผลสมดังเจตนาของทุกๆ คน เมื่อพากันเข้าใจวิธีสงเคราะห์ดังนี้แล้ว จะอยู่บ้าน อยู่วัด อยู่ป่า ก็พากันสงเคราะห์ได้ไม่เลือก เพื่อความหายจากโรคภัยพิบัติอุปัทวะทั้งปวง ล่วงถึงซึ่งความสุขเกษมศานต์
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 131 ตุลาคม 2554 โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)