สวัสดีครับ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อถ่ายภาพและศึกษาปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวน ในวันที่ 21 พฤษภาคม โดยถือว่าเป็นการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบวงแหวน ครั้งที่ 2 ของชีวิตเลยทีเดียว ครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนที่ผมเคยไปถ่ายปรากฏการณ์ที่ประเทศจีน ต่างยังไงนั้น ก็คือ ครั้งก่อนมีคนคอยช่วยและแนะนำสถานที่สังเกตการณ์ แต่ครั้งนี้ผมต้องเดินทางไปเองหาสถานที่เอง และบริเวณที่ผมต้องไปถ่ายภาพ ก็คือ เป็นบริเวณที่ต้องไปอยู่ใกล้เส้นกลางคราสให้มากที่สุด โดยบริเวณดังกล่าวอยู่ในกรุงโตเกียว ซึ่งก็เต็มไปด้วยตึกสูงทั่วทั้งเมือง อีกทั้งปรากฏการณ์จะเกิดขึ้นทางทิศตะวันออกในช่วงเช้าของวันทำงานของคนในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็เต็มไปด้วยความวุ่นวายของคนเมืองอยู่แล้ว ดังนั้น อุปสรรคมากมายพอสมควรครับ
ในการวางแผนการเดินทางไปถ่ายภาพครั้งนี้ ผมค่อนข้างเตรียมตัวพอสมควร โชคดีที่ Google มีแผนที่แบบ 3 มิติ และมีมุมมอง 360 องศาทำให้ง่ายในการสำรวจสถานที่ก่อนไปยังสถานที่จริง
อุปกรณ์ที่ผมนำไปถ่ายภาพปรากฏการณ์ครั้งนี้ มีทั้งกล้องถ่ายภาพมุมแคบ กล้องถ่ายภาพมุมกว้าง ซึ่งนอกจากจะถ่ายภาพปรากฏการณ์แล้ว เรายังต้องถ่ายทอดสดปรากฏารณ์ผ่านทางเว็บไซต์อีกด้วย และยังมีการเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงขณะเกิดปรากฏการณ์เพื่อนำมาศึกษา งานนี้เรียกว่า ของเยอะแยะเต็มไปหมด ดังนั้น การจะเดินทางไปสังเกตการณ์ จึงจำเป็นต้องวางแผนให้ดีก่อนการเดินทางจริงครับ ก่อนเกิดปรากฏการณ์ล่วงหน้า 1 วัน ผมและทีมสังเกตการณ์ไปสำรวจสถานที่ก่อน เพื่อดูตำแหน่งและมุมการเกิดปรากฏการณ์ เมื่อครั้งก่อนที่ผมได้มีโอกาสได้ไปถ่ายภาพปรากฏการ์สุริยุปราคาวงแหวนที่ประเทศจีน ก็ทำแบบเดียวกันครับ แต่การถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนในครั้งนี้ ก็มีอุปสรรคมากมาย ทั้งเรื่องของการสำรวจสถานที่สังเกตการณ์โดยไม่มีใครแนะนำหรือช่วยเหลือพวกเรา และยังต้องคำนวณเวลาการเดินทางจากที่พักมายังจุดสังเกตการณ์ รวมทั้งต้องเป็นบริเวณที่สามารถตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ได้ โดยไม่ถูกตำรวจไล่อีกด้วย เท่านั้นยังไม่หมดครับสถานที่ที่เราเลือกยังต้องดูอีกว่าอยู่ใกล้กับเส้นกลางคราสไหน และบริเวณดังกล่าวจะมีสภาพอากาศที่จะถ่ายภาพได้หรือไม่ ถ้าหากอยู่ใกล้แนวมรสุมมีฝนตกงานนี้ก็กินแห้วแน่ อุปสรรคเต็มไปหมด แต่ยังไงเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาแล้ว ก็ต้องทำให้สำเร็จครับ การเตรียมการ วางแผน และประสบการณ์ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้งานนี้ผ่านไปได้ด้วยดีครับ
ในเช้าวันที่ 6 พฤษภาคม ผมตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 เพื่อให้ทันเวลารถไฟขบวนแรก ซึ่งเวลาที่ญี่ปุ่นเร็วกว่าไทยเรา 2 ชั่วโมง ดังนั้น ถ้าเทียบกับเวลาไทยแล้วหมายถึงผมต้องตื่นนอนตั้งแต่เวลา ตี 2 ของประเทศไทย ผมต้องตื่นเช้ามากเพื่อเดินทางไปยัง สวนสาธารณะ yoyogi park ตั้งอยู่ในย่านชิบูยา เป็นสถานที่ที่ผมและทีมสังเกตการณ์จะไปตั้งกล้องถ่ายภาพปรากฏการณ์ ขณะเริ่มปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์อยู่สูงจากขอบฟ้าประมาณ 20 องศา ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร แต่ท้องฟ้าในช่วงเช้ามีเมฆค่อนข้างมาก ทำให้ยากแก่การบันทึกภาพในช่วงแรก แต่หลังจากดวงอาทิตย์สูงขึ้นโชคก็ยังเข้าข้างเรา เมฆก็เริ่มลดลง ทำให้สามารถถ่ายภาพปรากฏการณ์ได้ แต่ Solar Filter ที่เตรียมไปกลับไม่ได้ใช้เลย เนื่องจากท้องฟ้ามีเมฆมาก เมฆทำหน้าที่เป็น Filter แทน ผมจึงใช้แผ่นฟิล์มเอกซเรย์แทน (แผ่นฟิล์มมีความทึบแสงน้อยกว่า Solar Filter) สรุปว่า งานนี้ผมถ่ายภาพผ่านแผ่นฟิล์มเอกซเรย์เกือบทุกภาพ และมันก็เป็นประสบการณ์หนึ่งที่สอนให้ผมรู้ว่าการถ่ายภาพปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ นอกจาก Solar Filter แล้ว อย่าลืมติดแผ่นฟิล์มเอกซเรย์ไปด้วยทุกครั้ง ไม่งั้นคงอดได้ภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนมาแน่ๆ
ในการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนนั้น เราทราบกันอยู่แล้วว่า ความเข้มแสงของดวงอาทิตย์ยังคงเดิมไม่ลดลงแม้แต่น้อย แต่หากครั้งนี้ท้องฟ้ามีเมฆมากพอสมควรและเมฆก็ได้กลายเป็นแผ่นกรองแสง ทำให้ผมสามารถมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า และภาพถ่ายในบางภาพก็ถ่ายโดยไม่ใส่ Solar Filter หรือ แผ่นฟิล์มเอกซเรย์ เลยก็มี การถ่ายภาพครั้งนี้ผมต้องเปลี่ยนค่าความเร็วชัตเตอร์ไปมา และยังต้องเปลี่ยนค่าความไวแสงสลับไปมาอีกเช่นกัน เนื่องจากสภาพแสงไม่คงที่ตลอดปรากฏการณ์ เนื่องจากมีเมฆหนาบ้าง จางบ้าง หรือบางครั้งก็ไม่มีเมฆสลับกันไป ทำให้ต้องนั่งถ่ายภาพอยู่กับกล้องตลอดเวลา ไม่สามารถตั้งเวลาถ่ายภาพแบบต่อเนื่องได้เลย ต่างกับครั้งที่ไปถ่ายสุริยุปราคาที่จีนที่ท้องฟ้าเคลียร์ สามารถถ่ายภาพแบบต่อเนื่องได้ แต่ประสบการณ์การถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้ ทำให้ผมได้มีโอกาสถ่ายภาพดวงอาทิตย์ ทั้งแบบที่ใช้ Solar Filter แบบที่ใช้แผ่นฟิล์มเอกซเรย์ และแบบที่ไม่ต้องใช้แผ่นกรองแสงใดๆ เลย ก็สนุกไปอีกแบบครับ
ในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 นี้ หลายท่านคงทราบข่าวกันแล้วว่า จะเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์แห่งศตวรรษ หากมีโอกาสลองถ่ายภาพปรากฏการณ์เก็บไว้เป็นที่ระลึก หรือถ่ายภาพส่งมาประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2555 ในหัวข้อมหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทยได้อีกด้วย เพราะหากใครพลาดชม คงต้องรออีก 105 ปีเลยทีเดียว เรียกได้ว่า เป็นโอกาสสุดท้ายแล้วของชีวิตเราที่จะมีโอกาสชมปรากฏารณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ในการถ่ายภาพนอกจาก Solar Filter การวางแผนและเตรียมตัวแล้ว อย่าลืมติดแผ่นฟิล์มเอกซเรย์ไปด้วยนะครับ และหากใครอยากทราบเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพดวงอาทิตย์อย่าละเอียดสามารถเข้าไปอ่านได้ในคอลัมป์ ถ่ายภาพดวงอาทิตย์รับปี 2012 ตามลิงก์นี้ได้ครับ
http://www.manager.co.th/science/viewnews.aspx?newsID=9540000148931
*********************
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน