xs
xsm
sm
md
lg

ถ่ายภาพดวงอาทิตย์รับปี 2012

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพจุดดำบนดวงอาทิตย์ (Sun spot) เป็นปรากฏการณ์บนพื้นผิวดวงอาทิตย์ที่สังเกตเห็นได้ โดยถ่ายผ่านแผ่นกรองแสงทำให้เห็น Sun spot บนดวงอาทิตย์มีลักษณะเป็นจุดสีดำอยู่บนผิวหน้าของดวงอาทิตย์ ด้วยทางยาวโฟกัส 1,760 mm. ซึ่งในวันและเวลาดังกล่าวสังเกตเห็นจุดดำบนดวงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 450D / F8 / 1/400 วินาที / ISO 100)
ในปี 2012 นี้หลายคนคงตื่นกลัวกับวันสิ้นโลกที่มีการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง แต่แท้จริงแล้วเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2012 นั้นนักดาราศาสตร์ได้สังเกตพบว่า สนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์มีการสลับขั้วกัน โดยมีการเปลี่ยนทิศไปในทางตรงกันข้ามซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อวัฏจักรของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์ ได้มาถึงช่วงสูงสุดในรอบของมัน หลังจากนั้นก็จะสลับขั้วและเริ่มต้นวัฏจักรรอบใหม่ โดยรอบของการสลับขั้วของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์นั้นจะเกิดขึ้นทุกๆ 11 ปี

ปรากฏการณ์การสลับขั้วแม่เหล็กนี้ จะเกิดขึ้นในช่วงสูงสุดของพลังงานแสงอาทิตย์ (solar maximum) การเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์จะค่อยๆ แพร่ออกไปสู่อวกาศโดยการพาของลมสุริยะ และจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีกว่า จึงจะถึงขอบนอกของเฮลิโอสเฟียร์ หรือชั้นที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์ และสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการถ่ายภาพในปี ค.ศ. 2012 นี้ก็คือ การถ่ายภาพดวงอาทิตย์นั้นเองครับ ซึ่งเราจะมีโอกาสได้เห็นจุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) มากกว่าปีก่อนๆและในคอลัมน์แน่นอนครับเราจะมาพูดถึงเทคนิคการถ่ายภาพดวงอาทิตย์กันครับ

การถ่ายภาพดวงอาทิตย์นั้น ผู้ถ่ายต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะแสงอาทิตย์มีความเข้มแสงมาก ถ้าพลาดอาจทำให้ตาเราบอดได้ ดังนั้นก่อนการถ่ายภาพ หรือ ใช้กล้องส่องดูนั้น ต้องใช้อุปกรณ์กรองแสงอาทิตย์ที่ได้ มาตรฐาน อย่างเช่น แผ่นอลูมิเนียมไมล่าร์ หรือ กระจกบังตาเชื่อมโลหะเบอร์ 14 ขึ้นไป หรือฟิลเตอร์ไฮโดรเจน-อัลฟา จะช่วยให้เห็นพวยก๊าซบนดวงอาทิตย์ ทว่าฟิลเตอร์ชนิดนี้มีราคาแพงราคานับแสนบาท ฟิลเตอร์ชนิดไมลาร์เป็นแผ่น โลหะบางๆ มีราคาถูกกว่า ทำให้เห็นดวงอาทิตย์เป็นสีขาว หรือสีอื่น ฟิลเตอร์ชนิดกระจกเคลือบโลหะ ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีส้มหรือสีเหลือง ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุที่เคลือบฟิลเตอร์ที่มีคุณภาพเพื่อกรองแสงอาทิตย์ไม่ให้เข้าสู่ตาของเรามากเกินไป
ตัวอย่างภาพถ่ายพวยก๊าซบนดวงอาทิตย์ ที่ถ่ายผ่านกล้องสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์โดยเฉพาะซึ่งมีฟิลเตอร์ไฮโดรเจน-อัลฟา เป็นตัวกรองแสงของดวงอาทิตย์ ภาพโดย : http://www.meade.com/product_pages/coronado
ภาพตัวอย่างอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ประกอบด้วย ฟิลเตอร์ชนิดไมลาร์ช่วยกรองแสงดวงอาทิตย์ติดตั้งไว้หน้าเลนส์ขนาดทางยาวโฟกัส 300 mm. และอุปกรณ์เพิ่มทางยาวโฟกัส Teleconverter 2X ทำให้ได้ ขนาดทางยาวโฟกัสเป็น 600 mm.
ตัวอย่างภาพถ่ายดวงอาทิตย์ถ่ายด้วยเลนส์ขนาดทางยาวโฟกัส 600 mm.(ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 450D / F8 / 1/800 วินาที /  ISO 100)
การเลือกใช้เลนซ์ การถ่ายรูปจากดวงอาทิตย์ด้วยเลนซ์มาตรฐาน 50 มม. อาจจะได้ภาพดวงอาทิตย์ขนาดเล็กเกินไป คือมีขนาดเพียง 50/1 10 หรือ 0.45 มม. เป็นเพียงจุดเล็กๆ หากนำมาขยายให้ได้ภาพขนาด 4x6 นิ้ว ก็จะได้ดวงอาทิตย์ ใหญ่ขึ้นมาเพียง 2-3 มม.เท่านั้นซึ่ง เล็กเกินไปไม่สามารถเห็นรายละเอียดได้ จึงควรเลือกเลนซ์ที่มีทางยาวโฟกัส มากๆ เช่น 600 mm. ขึ้นไป ซึ่งอาจใช้เลนซ์เทเลกำลังขยายสูงๆ หรือถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ก็ได้

สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ก็คือการตั้งค่าการรับแสงของกล้อง เพราะถ้าตั้งไม่ถูกต้องแล้วภาพอาจจะสว่างโอเวอร์ไม่เห็นรายละเอียด หรือไม่ก็อาจมืดมองไม่เห็นอะไรเลย แล้วจะถ่ายอย่างไรดีให้สวย หรือ สวยกว่าที่ตาเห็น ติดตามต่อได้เลยครับ

ปกติตัวแปรหลัก ๆ ที่เป็นตัวกำหนดปริมาณแสงที่กล้องได้รับ มีอยู่ด้วยกัน 4 อย่างคือ
1. ความไวแสงของกล้อง สำหรับกล้องดิจิตอลนั้นสามารถเลือกความไวแสงของกล้องได้ ผมแนะนำว่าควรเลือกค่าความไวแสงที่ต่ำที่สุดอาจจะเป็น 100 หรือ 200 แล้วแต่รุ่นและยี่ห้อของกล้อง ทั้งนี้เพราะแสงของดวงอาทิตย์มีความสว่างค่อนข้างมากอยู่แล้ว ดังนั้นการเลือกความไวแสงสูงๆอาจทำให้เกิดจุดรบกวน (Noise) หรือเกรนภาพที่ค่อนข้างหยาบได้ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาพเมื่อนำไปขยายใหญ่

2. รูรับแสง สำหรับการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ โดยทั่วไปควรตั้งรูรับแสงให้แคบเพื่อให้ภาพที่ออกมามีลักษณะชัดลึก ครอบคลุมทั้งภาพ สำหรับค่าที่เหมาะสมน่าจะอยู่ประมาณ f8-f16 ซึ่งจากประสบการณ์แล้วค่ารูรับแสงที่ชัดที่สุดดีที่สุดของเลนส์ส่วนใหญ่มักอยู่ที่ค่าประมาณนี้ จะเห็นได้ว่าตัวแปรสองตัวแรกเราสามารถกำหนดค่าได้แล้ว ที่เหลือก็มีเพียงความเร็วชัตเตอร์เท่านั้น ซึ่งทั้งนี้อาจใช้ระบบกึ่งอัตโนมัติ หรือโหมด A (Aperture) คือเราตั้งค่ารูรับแสงตามข้อ 2 แล้วให้กล้องเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมให้เอง

แต่เท่านั้นยังไม่พอครับ เพราะกล้องส่วนใหญ่จะมีระบบวัดแสงที่ชาญฉลาด กล้องจะพยายามทำให้ภาพมีแสงที่สว่างเห็นรายละเอียดไม่มืดดำ ซึ่งขัดแย้งกับลักษณะภาพที่เราอยากได้เพราะเราต้องการได้ภาพที่มีพื้นหลังของดวงอาทิตย์เป็นเงาดำและเห็นรายละเอียดของผิวดวงอาทิตย์ หากให้กล้องทำงานแบบอัตโนมัติ กล้องอาจจะรับแสงมากกว่าที่เราต้องการ เพื่อชดเชยให้ฉากหลังที่เราต้องการให้เป็นสีดำสว่างขึ้น และอาจทำให้ดวงอาทิตย์ที่เราต้องการจะให้เป็นสีสวย ๆ กลายเป็นสีขาวไปเลยก็เป็นได้ จึงจำเป็นต้องมีการเลือกระบบการวัดแสงให้ถูกต้องเสียก่อน

3. วิธีการวัดแสงที่ดีที่สุดคือการเลือกวัดแสงเฉพาะจุด โดยเลือกวัดบริเวณดวงอาทิตย์ที่เป็นสีส้มหรือแดง ซึ่งก็คือจุดกลางของดวงอาทิตย์นั่นเอง เพราะจุดนั้นเป็นจุดที่ต้องการให้แสงพอดีนั่นเอง

4. ความเร็วชัตเตอร์ สำหรับปัจจุบันเราสามารถดูผลงานได้ทันทีจากหน้าจอของกล้องดิจิตอล แต่ถ้าเรารู้วิธีการที่ถูกต้องและเข้าใจเรื่องวัดแสงแล้ว ก็จะทำให้เราถ่ายภาพได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว เพราะช่วงที่ฟ้าสวยงามก่อนหรือหลังพระอาทิตย์ตกนั้น เป็นช่วงเวลาที่สั้นมากและแต่ละวันก็สวยไม่เหมือนกัน หากคุณเสียเวลากับการตั้งค่าที่ไม่ถูกต้องแล้วอาจพลาดโอกาสที่จะเก็บภาพงาม ๆ ไปเลยก็ได้
ภาพดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ (Transit of Venus) เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อดาวศุกร์เคลื่อนที่ผ่านกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์จะมองเห็นดาวศุกร์เป็นดวงกลมสีดำขนาดเล็กเคลื่อนที่ผ่านดวงอาทิตย์(สังเกตจากโลก) ลักษณะการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวก็เปรียบเสมือนการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่เกิดจากการที่ดวงจันทร์เข้ามาอยู่ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ จะต่างกันก็ตรงที่ดาวศุกร์นั้นมีขานดเล็กและมีระยะทางไกลจากโลก ทั้งนี้การมองไปยังดวงอาทิตย์โดยตรงนั้นอาจมีผลกระทบต่อดวงตา ผู้สังเกตจึงต้องหาอุปกรณ์มาเสริมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่ดวงตา ภาพโดย :ตระกูลจิตร จิตตะไสยะพันธ์
การถ่ายรูปจุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) ช่วงในปี ค.ศ.2012-2013 ที่ใกล้เข้ามานี้นับเป็นความโชคดีของนักดูดาวสมัครเล่นที่จะได้มีโอกาส ดูจุดดับบนดวงอาทิตย์จำนวนมากกว่าปกติ เพราะ 11 ปี จึงจะมีครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2012 จะมีปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ที่น่าตื่นเต้นเรามาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกกันดีกว่าครับ
การปรับโฟกัสขณะถ่ายภาพดวงอาทิตย์สามารถใช้ระบบ Live view   เพื่อแสดงภาพที่จอ LCD ซึ่งช่วยให้สะดวก และปลอดภัยจากแสงของดวงอาทิตย์
ภาพอุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ในการถ่ายภาพ ด้วยกล้องขนาดทางยาวโฟกัส 1100 mm. บนฐานกล้องโทรทรรศน์ที่สามารถเคลื่อนที่ตามวัตถุท้องฟ้า
*********************

เกี่ยวกับผู้เขียน



ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. , เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร. ในหัวข้อ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย"

"คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย"

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น