xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมให้พร้อมเทคนิคถ่ายภาพ “สุริยุปราคาวงแหวน”

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวน วันที่ 15 มกราคม 2553 ณ เมืองต้าหลี่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 500D / 300mm.+ Teleconverter 2x / F14 / ISO 800 / 1/800 วินาที)
ในปี พ.ศ.2555 นี้ จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา 2 ครั้ง โดยปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งแรกของปีนี้ ตรงกับเช้าวันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2555 จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบวงแหวนขึ้น ซึ่งสุริยุปราคาจะเกิดในช่วงเดือนดับ ดวงจันทร์จะเคลื่อนมาอยู่ตรงกลาง ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้เงาดวงจันทร์พาดลงมาบนผิวโลก คนที่อยู่ใต้เงาจะมองเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บัง สังเกตได้โดยดูผ่านแผ่นกรองแสง เพื่อลดความสว่างของดวงอาทิตย์

ปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบวงแหวน นั้นเกิดจากการที่ดวงจันทร์มีวงโคจรรอบโลกค่อนข้างรี ในขณะที่เกิดสุริยุปราคาครั้งนี้ ดวงจันทร์อยู่ในช่วงที่ไกลโลกที่ระยะทางประมาณ 404,000 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ขนาดปรากฏบนท้องฟ้าของดวงจันทร์มีขนาดเล็กกว่าขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์ และเมื่อวัตถุทั้งสามเรียงตัวกันในแนวเส้นตรง ดวงจันทร์จะบังดวงอาทิตย์ได้ไม่หมด เกิดเป็นสุริยุปราคาวงแหวน แต่เป็นที่น่าเสียดาย เพราะประเทศไทยไม่อยู่ในบริเวณที่สามารถสังเกตเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนี้ได้ เพราะแนวการบังของดวงจันทร์ จะเริ่มต้นที่ ทางตอนใต้ของประเทศจีน ผ่านญี่ปุ่น และเคลื่อนที่ไปทางตะวันออก ผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก ไปจนถึงทวีปอเมริกา
แผนภาพแสดงการเกิดสุริยุปราคาวงแหวน (ภาพโดยหอดูดาวแห่งชาติญี่ปุ่น)
ประเทศไทยสามารถชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ในรูปแบบสุริยุปราคาบางส่วน โดยสังเกตเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนในหลายพื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ยกเว้นภาคใต้ โดยเกิดสุริยุปราคาขณะดวงอาทิตย์ขึ้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุด และนานกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 05:50 น. ยังสามารถมองเห็นการบังได้ก่อนสิ้นสุดการบังที่เวลา 06:06 น.ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของวันที่เกิดปรากฏการณ์ เนื่องจากดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้า อาจมีเมฆบัง อาจต้องอาศัยโชคช่วยแล้วครับงานนี้ แต่อย่างพึ่งถอดใจครับ หากอากาศดีท้องฟ้าปลอดโปร่ง เราก็จะมีโอกาสได้ภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาสวยๆ ไว้เป็นที่ระลึกครับ ก่อนอื่นมาดูข้อมูลของปรากฏการณ์กันก่อนครับ
ภาพจำลองสุริยุปราคาของเช้าวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 ขณะดวงอาทิตย์ขึ้น โดยแสดงภาพขณะที่ดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุด แต่ละสถานที่จะสังเกตเห็นและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน
ตารางแสดงการคำนวณเวลาที่จะเกิดสุริยุปราคาในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า จังหวัดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุด และนานกว่าภาคอื่นๆ หากใครที่อยู่บริเวณดังกล่าว ก็อาจจะโชคดีกว่าพื้นที่อื่นในประเทศไทย เอาหล่ะครับมาดูกันก่อนว่าอุปกรณ์และเทคนิควิธีการจะมีอะไรบ้างนั้นมาดูกันเลยครับ

อุปกรณ์ในการถ่ายภาพ

นอกจากกล้องดิจิตอล และขาตั้งกล้องที่มั่นคงแล้ว ยังมีอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างมากที่จะขาดเสียไม่ได้เลย นั่นก็คือ ฟิลเตอร์กรองแสง เพราะขณะที่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน หรือสุริยุปราคาวงแหวน ความเข้มแสงและความร้อนจากดวงอาทิตย์ยังคงเดิม ไม่ลดลงแม้แต่น้อย ดังนั้น ในการถ่ายภาพสุริยุปราคานั้น เรายังคงจำเป็นอย่างมากที่ต้องใช้ฟิลเตอร์กรองแสงที่ได้มาตรฐาน อย่างเช่น แผ่นอะลูมิเนียมไมลาร์ หรือ กระจกบังตาเชื่อมโลหะเบอร์ 14 ขึ้นไป ทั้งนี้ สีของดวงอาทิตย์เมื่อมองผ่านฟิลเตอร์แต่ละชนิด ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีส้ม, สีเหลือง หรือสีขาว ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุที่เคลือบฟิลเตอร์เหล่านั้น หากต้องการภาพดวงอาทิตย์เป็นสีอย่างไร ก็ควรเลือกดูก่อนในการถ่ายภาพครับ แต่หลายท่านอาจสงสัยว่า แล้วแผ่นฟิล์มเอกซเรย์สามารถนำมาทำเป็นแผ่นกรองแสง เพื่อใช้ในการถ่ายภาพได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ได้ครับ แต่ต้องเป็นแผ่นฟิล์มเอกซเรย์ที่ทึบแสงมากๆ ไม่โปร่งแสงมาก โดยนำมาซ้อนทับกันหลายๆ ชั้น และต้องแน่ใจว่ามีความหนาพอที่จะกรองแสงอาทิตย์ได้ แต่ผมไม่แนะนำครับ เพราะหากนำมาดูปรากฏการณ์ก็พอดูได้ แต่เมื่อนำมาเป็นฟิลเตอร์กรองแสง สำหรับถ่ายภาพหล่ะก็ภาพจะไม่ค่อยคมชัดมากนัก เพราะแผ่นฟิล์มจะมีความขุ่นอยู่พอสมควร

ภาพตัวอย่างฟิลเตอร์กรองแสงที่ใช้ในการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ ติดตั้งไว้หน้าเลนส์ขนาดทางยาวโฟกัส 300 mm.
นอกจากฟิลเตอร์กรองแสงแล้ว เลนส์ก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการถ่ายภาพสุริยุปราคา เพราะเป็นการถ่ายภาพดวงอาทิตย์นั้นเอง ซึ่งดวงอาทิตย์มีขนาดปรากฏเชิงมุมเพียงครึ่งองศาเท่านั้นเอง หรือประมาณครึ่งนิ้วก้อยของเรา (เมื่อลองเหยียดแขนให้สุดแล้วใช้นิ้วก้อยเทียบกับดวงอาทิตย์) ดังนั้น เลนส์ที่ใช้ควรเลือกที่มีทางยาวโฟกัสมากๆ เช่น 600 mm.ขึ้นไป ซึ่งอาจใช้เลนส์เทเลกำลังขยายสูงๆ หรือถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ก็ได้

เทคนิคและวิธีการ

รูรับแสง สำหรับการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ โดยทั่วไปควรตั้งรูรับแสงให้ได้ความชัดลึก ครอบคลุมทั้งภาพ สำหรับค่าที่เหมาะสมน่าจะอยู่ประมาณ f8-f16 ซึ่งจากประสบการณ์แล้วค่ารูรับแสงที่ชัดที่สุดดีที่สุดของเลนส์ส่วนใหญ่

วิธีการวัดแสง ที่ดีที่สุดคือ การเลือกวัดแสงเฉพาะจุด โดยเลือกวัดบริเวณจุดกลางของดวงอาทิตย์ เพราะเป็นจุดที่ต้องการให้แสงพอดีนั่นเอง แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ แล้ว เมื่อกล้องวัดแสงพอดีแล้ว เมื่อถ่ายภาพออกมาภาพที่ปรากฏบนจอภาพ เราจะเห็นว่า ภาพดวงอาทิตย์จะยังมีความสว่างมาก (โอเวอร์) เกินไปให้ปรับชดเชยการเปิดรับแสงโดยให้กล้องวัดแสงอันเดอร์ลงมาประมาณ 2-3 สตอป หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับสภาพแสง หรือทัศนวิสัยของท้องฟ้าในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย เพื่อให้ภาพดวงอาทิตย์เห็นรายละเอียดของจุดมืด (Sunspot) บนดวงอาทิตย์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ความเร็วชัตเตอร์ ตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากเราใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 mm.ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600s ซึ่งหากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไป หรือสว่างเกินไป ก็ให้ปรับค่าความเร็วชัตเตอร์ชดเชยในภายหลัง โดยให้สังเกตจากภาพของดวงอาทิตย์ว่าเห็นรายละเอียดของของจุดมืด (Sunspot) บนดวงอาทิตย์ได้ชัดเจน หรือจนได้แสงที่พอดีไม่มืดหรือสว่างจนไม่เห็นรายละเอียดของ Sunspot
ภาพถ่ายชุดปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวน วันที่ 15 มกราคม 2553 ณ เมืองต้าหลี่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon EOS 500D / 300mm.+ Teleconverter 2x)
สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวน ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 นี้ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ก็จะได้เดินทางไปศึกษาปรากฏการณ์ ณ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้เส้นกลางคราส สามารถเห็นสุริยุปราคาวงแหวนได้นานถึง 5 นาที หากไม่มีอุปสรรคทางด้านทัศนวิสัยของท้องฟ้า ผมก็จะนำภาพปรากฏการณ์และประสบการณ์การถ่ายภาพมาเล่าให้ฟังในคอลัมน์ต่อไปครับ



*********************

เกี่ยวกับผู้เขียน



ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น