xs
xsm
sm
md
lg

การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ด้วยวิธี Afocal photography

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

การภาพถ่ายดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิตอลแบบคอมแพค ด้วยวิธี Afocal photography
สำหรับผู้ที่เคยติดตามบทความถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ในคอลัมป์ก่อนๆ ก็คงจะเห็นว่าการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์นั้น ผมมักจะแนะนำเทคนิคและวิธีการในการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลแบบ SLR ซะเป็นส่วนมาก แต่สำหรับผู้ที่ใช้กล้องดิจิตอลแบบคอมแพค ก็อย่างพึ่งน้อยใจไปนะครับ เพราะในคอลัมป์นี้ ผมจะขอเอาใจผู้ที่ใช้กล้องดิจิตอลแบบคอมแพคกันบ้างครับ

แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับกล้องดิจิตอลแบบคอมแพคกันสักเล็กน้อย กล้องดิจิตอลแบบคอมแพค เป็นกล้องถ่ายภาพขนาดเล็ก กระทัดรัด น้ำหนักเบา ใช้งานง่าย พกพาสะดวก และนิยมเรียกติดปากว่า "กล้องปัญญาอ่อน" แต่ในปัจจุบันคุณภาพไฟล์ของกล้องดิจิตอลแบบคอมแพค ก็ถือว่าอยู่ในระดับดีเลยทีเดียว และมีฟังก์ชั่นและโหมดในการถ่ายภาพต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกอีกมากมาย ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่มักนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย นักถ่ายภาพบางคน แม้จะมีกล้องคอมแพคราคาถูก แต่มีเทคนิควิธีการใช้กล้องอย่างถูกวิธี ก็สามารถสร้างผลงานคุณภาพไม่แพ้กล้องดิจิตอลแบบ SLR ดังนั้นในคอลัมป์นี้เรามาลองฝึกใช้กล้องดิจิตอลแบบคอมแพคในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์กันบ้างครับ

หลายท่านอาจจะคาดไม่ถึงว่ากล้องดิจิตอลแบบคอมแพคที่มีอยู่นั้นจะสามารถนำมาถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าได้อย่างกับกล้องดิจิตอลแบบ SLR ได้อย่างไร ผมจะขอยกตัวอย่างภาพที่ถ่ายได้จากกล้องดิจิตอลแบบคอมแพค ดังนี้
ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิตอลแบบคอมแพค ด้วยวิธี Afocal photography โดยการถ่ายภาพผ่านเลนส์ใกล้ตาของกล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิวเตอร์สำหรับดูดวงอาทิตย์ไว้หน้ากล้องโทรทรรศน์สามารถบันทึกพื้นผิวของดวงอาทิตย์และจุดมืด (Sun spot) ของดวงอาทิตย์ได้ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon IXUS 105 / F4 / ISO 100 / 1/320 วินาที)
ภาพถ่ายดวงจันทร์ด้วยกล้องดิจิตอลแบบคอมแพค ด้วยวิธี Afocal photography โดยการถ่ายภาพผ่านเลนส์ใกล้ตาของกล้องโทรทรรศน์ขนาด 5 นิ้ว (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon IXUS 105 / F/2.8 / ISO 100 / 1/250 วินาที)
ภาพถ่ายดาวพฤหัสบดีด้วยกล้องดิจิตอลแบบคอมแพค ด้วยวิธี Afocal photography โดยการถ่ายภาพผ่านเลนส์ใกล้ตาของกล้องโทรทรรศน์ขนาด 16 นิ้ว (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon IXUS 105 / F/2.8 / ISO 400 / 2 วินาที)
จากภาพตัวอย่างข้างบน หลายท่านคงอยากจะลองถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ด้วยกล้องดิจิตอลแบบคอมแพคกันบ้างแล้วนะครับ เอาหล่ะครับเรามาลองดูเทคนิคและวิธีการกันบ้างครับ

เทคนิคและวิธีการ

สำหรับเทคนิคและวิธีการในการถ่ายภาพด้วยกล้องคอมแพคนั้น ในภาษาในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์เรามักนิยมเรียกกันว่า การถ่ายภาพด้วยวิธี Afocal photography ซึ่งเป็นการถ่ายภาพที่นิยมใช้กล้องถ่ายภาพดิจิตอลแบบคอมแพค ถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าผ่านเลนส์ใกล้ตาของกล้องโทรทรรศน์ เนื่องจากขนาดของเลนส์กล้องคอมแพคมีขนาดใกล้เคียงกับขนาดของเลนส์ใกล้ตา ทำให้สามารถถ่ายภาพผ่านเลนส์ใกล้ตาของกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องส่องทางไกล ได้ไม่ยากเย็นมากนัก

ซึ่งการถ่ายภาพด้วยวิธี Afocal photography นั้น เรานิยมใช้ในการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า เช่น ดวงจันทร์ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ดวงอาทิตย์ เป็นต้น เราลองมาดูกันว่าจะมีเทคนิคและวิธีการอย่างไรกันบ้างครับ

1. เมื่อเล็งวัตถุในกล้องกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องส่องทางไกลได้แล้ว ให้ปรับโฟกัสของภาพให้คมชัดที่สุด

2. โหมดในการถ่ายภาพ โดยส่วนตัวผมมักเลือกเป็นโหมดโปรแกรม Program (P) จะง่ายที่สุดครับ ซึ่งเป็นโหมดของการถ่ายภาพปกติอยู่แล้ว โดยสัญลักษณ์ของโหมดโปรแกรม มักจะใช้คำว่า P ซึ่งย่อมาจาก Program กล้องดิจิตอลคอมแพคบางรุ่น บางยี่ห้อ อาจไม่มีโหมดโปรแกรมก็เป็นได้ ไม่ต้องแปลกใจน่ะครับ โหมดโปรแกรมยังมีการปรับแต่งบางอย่างให้อัตโนมัติ เช่นเดียวกับ โหมดอัตโนมัติ โดยจะปรับค่าบางอย่างให้สัมพันธ์กัน แต่ส่วนที่แตกต่างคือ เราสามารถปรับแต่งส่วนอื่นๆ ได้คือ ปรับค่าสมดุลแสงสีขาว (White Balance), ปรับความไวแสง (ISO), และการชดเชยแสง (EV) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโหมดที่ทำให้เราถ่ายภาพได้สวยงามตามความต้องการของเรา ดังนั้น โหมดนี้ เราจำเป็นต้องเข้าใจการทำงานของค่าที่เราสามารถปรับแต่งได้ ดังนั้นการถ่ายภาพหากภาพมีความสว่างมากเกินไปเราก็สามารถปรับชดเชยแสงให้อันเดอร์ได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุที่เราจะถ่ายว่ามีความสว่างของภาพมากน้อยเพียงใด

3. ความไวแสง (ISO) หากพูดตามหลักการถ่ายภาพเราก็ควรตั้งค่าความไวแสงให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันให้เกิดสัญญาณรบกวน (noise) น้อยที่สุด แต่หากจำเป็นต้องเพิ่มค่าความไวแสงเพื่อให้ได้วามเร็วชัตเตอร์ที่ไม่ต่ำเกินไป สำหรับกล้องดิจิตอลแบบคอมแพคก็ไม่ควรจะเกิน ISO 400 ครับ

4. ปิดการใช้แสงแฟลช หากเราต้องการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าเช่น ดวงจันทร์ในเวลากลางคืน ให้ปิดโหมดการใช้แฟลชด้วยครับ เพราะแสงแฟลชที่ยิงออกไปจะไปสะท้อนเข้าที่เลนส์ใกล้ตาทำให้ภาพมีแสงสะท้อนเข้ามาในภาพได้ รวมทั้งการคำนวณแสงก็จะผิดพลาดไปด้วย

5. การถือกล้องถ่ายภาพ ตรงนี้สำหรับมือใหม่อาจต้องโยกขึ้นลงไปมา เพื่อให้หน้ากล้องตรงกับตำแหน่งของภาพที่เลนส์ใกล้ตา อาจจะลำบากสักหน่อยครับ แต่ที่สำคัญหน้าเลนส์ของกล้องถ่ายภาพกับ เลนส์ใกล้ตาต้องอยู่ในแนวระนาบเดียวกันครับ
การถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือเปล่า โดยต้องให้หน้าเลนส์กับตำแหน่งเลนส์ใกล้ตาอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน และอยู่ในแนวระนาบ
อุปกรณ์เสริมสำหรับการถ่ายภาพด้วยวิธี Afocal photography
Adepter Afocal photography อุปกรณ์สำหรับจับกล้องดิจิตอลเพื่อช่วยในการถ่ายภาพสะดวกมากยิ่งขึ้น
และเพื่อให้การถ่ายภาพนั้นง่ายขึ้น ผมขอแนะนำอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการถือกล้องด้วยมือเปล่า ใช้แล้วครับมันคือ อะแดปเตอร์สำหรับจับกล้องดิจิตอลให้อยู่ในแนวระนาบเดียวกับเลนส์ใก้ตาและทำให้การถ่ายภาพนิ่งมากยิ่งขึ้น ผมขอเรียกชื่อว่า Adepter Afocal photography โดยตัวอะแดปเตอร์สามารถใช้ได้กับกล้องดิจิตอลคอมแพคทุกรุ่นทุกยี่ห้อ สามารถปรับตำแหน่งใกล้ไกล หรือสูงต่ำได้อย่างอิสระทำให้ง่ายต่อการถ่ายภาพประเภทนี้เป็นอย่างมากครับ อุปกรณ์ชิ้นนี้ผมต้องขอขอบคุณ คุณสุวิทย์ (suvittelescope@gmail.com) ที่ให้อุปกรณ์ชิ้นนี้มาใช้ครับ
ภาพถ่ายดวงจันทร์จากกล้องโทรศัพท์ที่ถ่ายภาพด้วยวิธี Afocal photography ผ่านเลนส์ใกล้ตาของกล้องโทรทรรศน์


*********************

เกี่ยวกับผู้เขียน



ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. , เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร. ในหัวข้อ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย"

"คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย"

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น