xs
xsm
sm
md
lg

การถ่ายภาพแบบ High Dynamic Range (HDR)

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่าย HDR อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ถ่ายภาพในช่วงแสงทไวไลท์ ช่วงเดือนมีนาคม ก่อนช่วงที่ดวงอาทิตย์จะตกด้านหลังปราสาทและดวงอาทิตย์จะตรงช่องประตูทั้ง 15 บาน ในวันที่ 6-8 มีนาคม ของทุกปี (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Nikon D80 / 10 มม. / F11 / ISO 200 (จำนวน 5 ภาพ เทคนิค HDR) )
ในคอลัมป์นี้ ก็เข้าสู่ช่วงฤดูร้อนกันแล้วนะครับ โดยช่วงนี้ท้องฟ้าจะมีฟ้าหลัว และมีเมฆค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้การออกไปถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าในช่วงนี้ค่อนข้างลำบากบ้าง แต่ถ้าหากลองสังเกตท้องฟ้าในช่วงนี้ จะพบว่า ช่วงเวลากลางวันนั้นยาวนานกว่ากลางคืนครับ เนื่องจากดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ขึ้นทางเหนือนั้นเองครับ ในเมื่อช่วงเวลากลางวัน ยาวนานกว่าเราก็มาลองถ่ายภาพช่วงแสงสว่างๆ กันดูบ้างครับ และในช่วงนี้หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า ภาพถ่ายแบบ HDR กันค่อนข้างบ่อยและกำลังเป็นที่นิยมกันในขณะนี้ก่อนแล้วกัน ถ้างั้นวันนี้เราลองมาเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพแบบ HDR กันดูบ้างครับ แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับภาพแบบ HDR หรือ High Dynamic Range กันก่อนครับ

HDR ย่อมาจาก High Dynamic Range

HDR (High Dynamic Range) คือ ความสามารถในการสร้างภาพที่มีช่วงการรับแสงสูงกว่าปกติ ที่กล้องดิจิตอลทั่วไปจะสามารถทำได้ เป็นภาพที่มีความสว่างชัดเจนทั่วทั้งภาพ และดูมีมิติ

ปกติกล้องดิจิตอลที่เราใช้กัน จะมีช่วงการรับแสง จากเงามืด (shadow) ที่มีรายละเอียดถึงส่วนสว่าง (Highlight) ที่มีรายละเอียด ประมาณ 6-9 สตอป ทำให้เมื่อต้องถ่ายภาพในสภาพแสงที่แตกต่างกันมากกว่านี้ เช่น การถ่ายภาพย้อนแสง หรือการถ่ายภาพกาแล็กซี หรือเนบิวลาสว่าง ที่มีแสงแตกต่างกัน เราจะสูญเสียความสามารถในการเก็บรายละเอียดของส่วนมืด หรือไม่ก็ส่วนสว่างในภาพไป ถ้าเราถ่ายภาพแบบ HDR ก็จะทำให้ได้ภาพที่มีความสว่างชัดเจนทั่วทั้งภาพทั้งส่วน เงามืด (shadow) ถึงส่วนสว่าง (Highlight)

ซึ่งปัจจุบันก็มีกล้องบางรุ่นได้พัฒนากล้องให้สามารถได้ภาพอย่างที่ตาเราเห็นมากที่สุด เท่าที่ผมทราบตอนนี้ก็มีทั้งกล้องคอมแพกต์ และกล้อง D-SLR ที่มีระบบการถ่ายภาพแบบ HDR ออกมาแล้ว โดยการกดชัตเตอร์ถ่ายภาพเพียงครั้งเดียว กล้องจะทำการถ่ายภาพตั้งแต่ช่วงแสงสว่างน้อยสุดไปจนถึงสว่างมากสุด แล้วนำไปโปรเซสภาพพออกมาให้เลย ซึ่งขณะถ่ายภาพเราจะได้ยินเสียงชัตเตอร์รัวหลายๆ ครั้ง ซึ่งในการถ่ายภาพนั้นคำว่า High Dynamic Range นั้นหมายถึงช่วงการรับแสงตั้งแต่สว่างน้อยสุดไปจนถึงสว่างมากสุดที่กล้องจะสามารถให้รายละเอียดได้ โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของเซนเซอร์รับภาพ (Image Sensor) และระบบประมวลผลภาพ แต่ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาเซนเซอร์รับภาพให้สูงขึ้น ก็ยังไม่สามารถเก็บรายละเอียดเท่ากับตามนุษย์ จึงต้องพัฒนาระบบประมวลผลภาพร่วมด้วย

ในทางดาราศาสตร์การถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า หรือแม้กระทั่งภาพประเภท Deep Sky Object ปัจจุบันก็นิยมนำเอาเทคนิคการถ่ายภาพแบบ HDR มาประยุกต์ใช้ไม่น้อย เพื่อให้สามารถเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วนตั้งแต่ช่วงแสงสว่างน้อยสุดไปจนถึงสว่างมากสุด ดังตัวอย่างภาพด้านล่างเป็นภาพเนบิวลา M42 ในกลุ่มดาวนายพราน หากถ่ายภาพเพียงช่วงการรับแสงเดียวเพื่อเก็บรายละเอียดของกลุ่มก๊าช กระจุกดาวทราปีเซียมที่อยู่ในใจกลางเนบิวลานายพรานก็จะสว่างโอเวอร์จนไม่เห็นรายละเอียด ดังนั้น การถ่ายภาพในแต่ละช่วงแสงตั้งแต่สว่างน้อยสุดไปจนถึงสว่างมากสุด แล้วนำมาทำเป็นภาพ HDR ก็จะได้ภาพที่มีรายละเอียดของภาพมากยิ่งขึ้น
ภาพเนบิวลา M42 ในกลุ่มดาวนายพราน ที่ถ่ายภาพด้วยเทคนิค HDR ทำให้เห็นรายละเอียดของก๊าชและบริเวณใจกลางเนบิวลาได้อย่างชัดเจน (ภาพโดย : M. Angelini and F. Tagliani / Image Processing: Francesco Antonucci / Telescope: Dall-Kirkham Astrograph 12 F/7.8 / CCD: SBIG STX16803)
ตัวอย่างภาพถ่ายเนบิวลา M42 โดยถ่ายภาพตั้งแต่ช่วงการรับแสงตั้งแต่สว่างน้อยสุดไปจนถึงสว่างมากสุด
เทคนิคและวิธีการถ่ายภาพเพื่อทำภาพ HDR

เอาหล่ะครับจากที่แนะนำถึงหลักการของภาพ HDR มาถึงขั้นตอนการถ่ายภาพเพื่อที่จะนำมาทำภาพ HDR กันบ้าง และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีในการนำภาพมาโปรเซส ลองทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ครับ

1.ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง เพราะเราต้องถ่ายภาพเดิมหลายช่วงการรับแสง และนำภาพมาซ้อนเข้าด้วยกัน เราจึงจำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องที่มั่นคงเพื่อให้มั่นใจว่าภาพที่ถ่ายจะอยู่ในตำแหน่งเดียวกันทั้งหมด

2.ใช้โหมดถ่ายภาพ A (Aperture Priority) ซึ่งเป็นโหมดถ่ายภาพอัตโนมัติที่ให้ผู้ใช้งานปรับเลือกค่ารูรับแสงตัวเอง หรือโหมดถ่ายภาพ M (Manual) เพื่อจะทำให้ระยะชัดในแต่ละภาพชัดเท่ากันทุกภาพ

3.ทำการวัดแสงโดยใช้การวัดแสงแบบเฉลี่ยทั่วทั้งภาพ (Evaluative metering) แล้วทำการถ่ายคร่อมค่าแสง เช่น -3, -2, -1, 0, 1, 2, 3 เป็นต้น หรืออาจมากกว่านี้ก็ได้ ซึ่งหลักการง่ายๆ ก็คือการถ่ายภาพ 3 ค่าแสง คือ แสงพอดี แสงอันเดอร์ แสงโอเวอร์ ซึ่งจะถ่ายภาพให้ช่วงแสงห่างกันกี่สตอป หรือกี่ภาพก็ได้ครับ ซึ่งหากถ่ายภาพมาจำนวนมาก ความละเอียดในการไล่โทนแสงก็จะดีมากยิ่งขึ้น แต่เวลาในการโปรเซสไฟล์ก็จะยิ่งนานขึ้นด้วย

4.ใช้สายลั่นชัตเตอร์ เพราะเราต้องการได้ภาพที่คมชัดที่สุด เนื่องจากขณะที่เรากดปุ่มบันทึกภาพด้วยนิ้วมือเราจำเป็นต้องออกแรงกดกล้องอาจเกิดการสั่นสะเทือนได้ ดังนั้นเพื่อให้กล้องนิ่งที่สุดเราจึงจำเป็นต้องใช้สายลั่นชัตเตอร์ หรือรีโมทเป็นตัวควบคุม

5.ล็อกกระจกสะท้อนภาพ เพื่อลดแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากการดีดตัวของกระจกสะท้อนภาพจะส่งผลให้ภาพขาดความคมชัดได้ ซึ่งหากช่วงเวลาการเปิดรับแสงนานๆ ยิ่งจำเป็นต้องใช้ครับ และยิ่งต้องถ่ายต่อเนื่องติดต่อกันหลายภาพก็ควรเปิดระบบล็อคกระจกสะท้อนภาพ (หากกล้องมีระบบล็อคกระจกสะท้อนภาพ)

6.ตั้งค่าไวท์บาลานซ์ กำหนดค่าไวท์บาลานซ์เพื่อให้ได้โทนสีภาพตามที่ต้องการ เพื่อป้องกันความผิดเพี้ยนของโทนสีในแต่ละภาพ หรือวิธีที่ดีที่สุดก็ควรตั้งค่าคุณภาพการบันทึกภาพ หากกล้องของเราสามารถตั้งไฟล์ภาพแบบ Raw File ได้ ควรตั้งเป็นแบบ Raw File เพื่อสามารถนำภาพมาปรับเปลี่ยนอุณภูมิสีให้ตรงตามต้องการได้ภายหลัง
ภาพถ่ายตัวอย่างที่จะนำมาเข้าสู่กระบวนการทำ HDR ในตัวอย่างนี้เป็นการถ่ายทั้งหมด 5 ภาพด้วยกัน โดยกำหนดค่ารูรับแสงตายตัวไว้ที่ F11 และปรับเปลี่ยนค่าความเร็วชัตเตอร์เพื่อควบคุมปริมาณแสงโดยปรับค่าความต่างของแต่ละภาพที่ 1 สตอป
โปรแกรมที่เราจะใช้ในการซ้อนภาพเพื่อทำภาพ HDR นั้น มีอยู่หลายโปรแกรมด้วยกันครับ ไม่ว่าจะเป็น Photoshop, Photomatix, หรือ Nik Software HDR EFEX PRO แต่ที่เป็นที่นิยมและใช้งานง่ายและได้ผลลัพธ์ที่ดี ส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะเป็นโปรแกรม Photomatix โดยมีวิธีการทำดังนี้ครับ
เปิดโปรแกรม แล้วทำการโหลดภาพที่จะนำมาทำภาพ HDR
โปรแกรมจะมีหน้าต่างให้เลือกรูปแบบการ Align Image ส่วนตัวผมมักเลือกใช้ By matching features เพื่อให้โปรแกรมซ้อนภาพ นอกจากนั้นโปรแกรมยังมีฟังก์ชั่นการกำจัดภาพหลอนที่เกิดจากการถ่ายภาพย้อนแสง และระบบกำจัด Noise อีกด้วย

หลังจากรวมภาพเพื่อเป็นภาพ HDR แล้วสามารถปรับโทนสีและความสว่างๆได้ตามความต้องการ
ถ่ายภาพเรือกับดวงจันทร์ ด้วยเทคนิค HDR ในช่วงแสงทไวไลท์ โดยถ่ายภาพคร่อมค่าแสงทั้งหมด 11 ภาพแล้วนำมาทำภาพ HDR ด้วยโปรแกรม Photoshop
ถ่ายภาพ พระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริช่วงเช้าทางทิศตะวันออก ด้วยเทคนิค HDR โดยถ่ายภาพคร่อมค่าแสงทั้งหมด 7 ภาพแล้วนำมาทำภาพ HDR ด้วยโปรแกรม Photomatix (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ : Canon 5D Mark2 / Fish Eye 15 มม. / F4 / ISO 200 (จำนวน 7 ภาพ เทคนิค HDR) )
ในขั้นตอนการถ่ายภาพหากเราได้ศึกษาเทคนิคและวิธีการและรู้ถึงข้อจำกัดต่างๆ ของกระบวนทำภาพ ก็จะทำให้เราถ่ายภาพได้อย่างถูกต้องและเมื่อนำภาพเข้าสู่กระบวนการทำ HDR ก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดี ในการทดลองถ่ายช่วงแรกๆ อาจมีข้อผิดพลาดบ้าง อาจรู้สึกว่ายุ่งยากทั้งในขั้นตอนการถ่ายและกระบวนการโพรเซส หากได้ฝึกทำบ่อยๆ ก็จะคุ้นเคยและสนุกกับมันครับ



*********************

เกี่ยวกับผู้เขียน



ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น