xs
xsm
sm
md
lg

“คุณครู” เหนื่อยไหม สอนวิทยาศาสตร์ยุคนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่เพียงแต่สิ่งแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก องค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ก็ก้าวหน้าไปมากเช่นกัน การเป็นครูในยุคสมัยนี้คงยิ่งเหนื่อยยากกว่าเก่าแบบติดสปีดเช่นกันเพราะไม่ใช่แค่เพียงต้องก้าวตามเทคโนโลยีต่างๆ ให้ทัน แต่ยังต้องช่วยให้ลูกศิษย์ก้าวตามอย่างรู้เท่าทันด้วย

น.ส.เกสร ยุวัฒนา อาจารย์วิทยาศาสตร์จากโรงเรียนภาชี “สุนทรวิทยานุกูล” จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้มีประสบการณ์วิทยาศาสตร์นานถึง 36 ปี บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์นั้นเปลี่ยนไปจากเดิม ขณะเดียวกัน ทั้งเด็กและสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนตามไปด้วย ปัจจุบันเทคโนโลยีไปไกลมากและช่วยให้นักเรียนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา

“เวลาครูสอนถ้าบอกเด็กว่าเรื่องนี้สามารถค้นได้จากอินเทอร์เน็ต เขาก็จะค้นดูเดี๋ยวนั้นเลย แต่เรื่องนี้ก็เป็นพฤติกรรมเฉพาะบางคน สำหรับเด็กเก่งก็จะได้ประโยชน์แต่เด็กบางคนก็ใช้ไปกับเรื่องไร้สาระ อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีทุกวันนี้นับว่ามีประโยชน์สำหรับเด็กเก่ง” ครูวิทยาศาสตร์วัย 57 ปี ให้ความเห็น

ส่วนเรื่องข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบนั้น ครูเกสร มองว่า นักเรียนในชนบทนั้นแข่งขันกับนักเรียนในเมืองได้ยาก และยังมีความเสียเปรียบในเรื่องความพร้อม ทั้งเรื่องครูและอุปกรณ์ที่เทียบกับนักเรียนในเมืองไม่ได้ อย่างไรก็ดี ในโรงเรียนเล็กๆ ก็ยังพอมีนักเรียนเก่งๆ อยู่บ้าง ซึ่งเด็กเหล่านั้นมักเรียนต่อในโรงเรียนเล็กๆ เพื่อจะได้รับประโยชน์เรื่องสิทธิการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยผ่านระบบรับตรง

“เด็กเก่งมักจะเก่งด้วยตัวเองอยู่แล้วซึ่งเราก็ส่งเสริมให้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ หรือเป็นตัวแทนตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ ส่วนเด็กไม่เก่งนั้นมีหลายแบบ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เด็กอ่านหนังสือไม่แตกฉาน ไม่สนใจ และเดี๋ยวนี้เขาเน้นไม่ให้เด็กสอบตก หากเด็กตก ผู้สอนก็จะโดนตำหนิ ซึ่งหลายคนก็ถูกปล่อยผ่านมาตั้งแต่ประถมจนเมื่อถึงชั้นมัธยมก็กลายเป็นปัญหา” ครูเกสร กล่าวถึงปัญหาการเรียนการสอนในเด็กยุคใหม่ซึ่งสะท้อนปัญหาการศึกษาทั่วไปของไทยได้

ทางด้าน น.ส.พัชรี สรวยล้ำ อาจารย์เคมีระดับ ม.ปลายประจำโรงเรียนวิเชียรกลิ่นสุคนธ์อุปถัมภ์ จ.พระนครศรีอยุธยา ครูวัย 27 ปี ซึ่งจบทางด้านเคมีมาโดยตรงกล่าวว่าที่โรงเรียนแบ่งการสอนวิทยาศาสตร์ตามความรู้ของครูของอย่างชัดเจน ซึ่งการสอนวิทยาศาสตร์ในสมัยนี้จำเป็นต้องใช้สื่อที่ทันสมัย เช่น ใช้คอมพิวเตอร์สื่อเรื่องการทดลอง เป็นต้น แต่ก็ยังต้องมีการทดลองเพื่อฝึกทักษะการใช้อุปกรณ์ให้แก่นักเรียน

“จากประสบการณ์ที่สอนมา 6 ปี เนื้อหาทางด้านเคมีไม่ได้ต่างไปจากเดิมมากนัก แต่เรื่องการประยุกต์ใช้มีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก และเด็กๆ ก็มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมากกว่าเมื่อก่อนมาก มีคำศัพท์ใหม่ๆ มาถามบ่อย มีการใช้อินเทอร์เน็ตช่วยในการเรียนการสอนด้วย แต่ก็มีอุปสรรคในการสอนคือเด็กไม่เข้าใจวิทย์ แค่ได้ยินก็ไม่อยากเรียนแล้ว ซึ่งวิธีทำให้เด็กสนใจ คือ เด็กชอบการทดลอง เด็กอยากทดลอง ก็ให้เด็กได้ทดลอง แล้วค่อยอัดทฤษฎีให้ทีหลัง” ครูพัชรี กล่าว

ขณะที่ นายนิพนธ์ ศรีนฤมล จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเป็นครูรางวัลครูดีเด่นคุรุสภา ปี 2550 อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษานักเรียนในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัลระดับโลกหลายรางวัล ให้ความเห็นถึงวามยากลำบากของครูวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันว่า ต้องทำการบ้านเยอะ เพราะสมัยนี้ไม่ใช่แค่เรียนให้ได้ความรู้แต่ต้องรอบรู้วิทยาศาสตร์ด้วย เนื่องวิทยาศาสตร์ล้ำยุคและก้าวกระโดดไปมาก

“ต้องให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ใกล้ตัว ทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และตัวครูเองต้องติดตามสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็ก ให้เด็กคิดวิเคราะห์เยอะๆ ซึ่งไม่เพียงแค่เด็กเท่านั้น แต่ครูต้องกล้าเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ชี้แนะเด็ก ไม่ใช่ ชี้นำ” ครูนิพนธ์กล่าว และเสริมว่าการเรียนสมัยนี้พึ่งครูเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีความร่วมมือระหว่างครู ผู้ปกครองและชุมชนด้วย

ทั้งนี้ เป็นการให้ความเห็นระหว่างการอบรมครูวิทยาศาสตร์ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้ำยุค” ที่จัดขึ้นครั้งที่ 1 สำหรับครูในเขตภาคกลางระหว่างวันที่ 29-31 พ.ค.55 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่ง ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงการจัดงานว่า ต้องการให้ครูวิทยาศาสตร์ได้เห็นว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และนำไปบอกนักเรียนว่าเมื่อการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์แล้วไปทำงานอย่างไรได้บ้าง

“ครูวิทยาศาสตร์ในอุดมคติ คือ ครูที่ก้าวทันโลก เพราะสิ่งต่างๆ ไม่ได้หยุดนิ่ง พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ต้องดี และนำพื้นฐานความรู้นั้นไปอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ ถ้าเราเป็นนักเรียนเราก็อยากเรียนกับครูที่สอนสนุก เป็นครูที่เห็นวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัว” ศ.ดร.มรกตกล่าว
นายนิพนธ์ ศรีนฤมล ถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่เพื่อนครู
น.ส.เกสร ยุวัฒนา
นายนิพนธ์ ศรีนฤมล
ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ
กำลังโหลดความคิดเห็น