xs
xsm
sm
md
lg

สื่อสร้างสุขอุบลฯ เปิดเวทีชำแหละ “แปะเจี๊ยะ” มะเร็งร้ายการศึกษาไทย โคม่า! แย่งชิงแม้ห้องเรียนเกรดเอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ศูนย์อาหารโรงแรมสุนีย์แกรนด์ สื่อสร้างสุขจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับเครือข่ายผู้ปกครองจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 29 (อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ) นักวิชาการพื้นบ้าน และปราชญ์ชาวบ้าน ชำแหละโครงสร้างการระดมทุนของสถานศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ที่รู้จักในชื่อเงิน แปะเจี๊ยะ ซึ่งถือเป็นมะเร็งร้ายในวงการการศึกษาไทย
อุบลราชธานี - ผู้ปกครองนักเรียนทุกวันนี้จิตเสื่อม?! ไม่วิ่งเต้นแค่ให้ลูกได้เข้าเรียนในโรงเรียนชื่อดัง แต่หนักข้อยอมจ่ายให้ลูกเข้าเรียนในห้องเรียนเกรดเอที่คิดว่าเป็นห้องเรียนที่รวมของนักเรียนชั้นหัวกะทิ นักการศึกษาวอนผู้ปกครองเปลี่ยนแนวคิดแก้ปัญหาเด็กฝาก ส่วนปราชญ์ชาวบ้านชี้การศึกษาไทยล้มเหลวยิ่งเรียนยิ่งโง่เอาตัวไม่รอด แนะสอนให้เป็นคนดีมากกว่าเป็นคนเก่งอย่างเดียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์อาหารโรงแรมสุนีย์แกรนด์ สื่อสร้างสุขจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับเครือข่ายผู้ปกครองจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 29 (อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ) นักวิชาการพื้นบ้าน และปราชญ์ชาวบ้าน ชำแหละโครงสร้างการระดมทุนของสถานศึกษาชั้นมัธยม ที่รู้จักในชื่อเงิน “แปะเจี๊ยะ” ซึ่งถือเป็นมะเร็งร้ายในวงการศึกษาไทย โดยมีนายสุชัย เจริญมุขยนันท เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายศรีสมบัติ ภูมิเขียว ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา 29 (อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ) กล่าวถึงการรับบริจาคจากผู้ปกครองของสถานศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบว่า ถ้าคำว่า แปะเจี๊ยะ คือการระดมทรัพยากรไปใช้พัฒนาหลักสูตรในสถาบัน ไม่ถือเป็นเรื่องผิด เพราะมีการออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้บริจาคอย่างถูกต้อง และไม่มีเงื่อนไขว่าผู้บริจาคต้องสอบได้หรือได้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการตอบแทน

แต่ถ้าคำว่า แปะเจี๊ยะ คือการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ผู้ใดผู้หนึ่งได้รับประโยชน์ถือเป็นความผิด ถ้าผู้ปกครองมีหลักฐานสามารถร้องเรียนได้

นายศรีสมบัติกล่าวยอมรับว่า การรับบริจาคของสถานศึกษามีรากเหง้ามาจากงบประมาณใช้จัดการศึกษาในสถานศึกษาที่ได้รับจากรัฐบาลไม่เพียงพอ แต่ผู้บริหารมีความจำเป็นต้องจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เมื่อมีงบประมาณไม่พอก็จำเป็นต้องของรับบริจาคจากประชาชน พร้อมเรียกร้องให้ผู้ปกครองเปลี่ยนแนวคิดเรื่องลูกต้องเรียนในโรงเรียนดัง เพราะปัจจุบันตามสถานศึกษาต่างๆ ของรัฐมีครูที่มีความรู้ความสามารถสอนอยู่จำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนมีชื่อดังเท่านั้น

เพราะเด็กจะเรียนเก่งหรือไม่เก่งไม่ได้ขึ้นกับสถานการศึกษา แต่ขึ้นกับครอบครัวและตัวเด็กนักเรียนเองด้วย “ดูผมเป็นตัวอย่าง สมัยเรียนชั้นมัธยมต้นกว่าจะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ย้ายโรงเรียนถึง 3 แห่ง และโรงเรียนแต่ละแห่งก็ไม่ใช่โรงเรียนชื่อดังของจังหวัด แต่สามารถเจริญเติบโตในหน้าที่การงานได้”

จึงอยากให้ผู้ปกครองเปลี่ยนแนวความคิดเสียใหม่จะได้ไม่เป็นทุกข์ยิ่งกว่าลูกที่ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนที่ผู้ปกครองหวังไว้ และอีกไม่เกิน 2 ปีนักเรียนคนใดที่สอบเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนไหน ก็จะได้เรียนต่อในชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนนั้น ไม่ต้องมาสอบไล่เข้าเรียนใหม่ ซึ่งจะแก้ปัญหาการวิ่งเต้นหาที่เรียนได้ระดับหนึ่ง

ด้าน ดร.วิโรจน์ เซมรัมย์ ประธานเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ในฐานะตัวแทนผู้ปกครอง กล่าวว่า การที่ผู้ปกครองต้องการให้ลูกเข้าโรงเรียนชื่อดังเพราะคิดถึงหน้าตา บางคนก็มีข้ออ้างโรงเรียนชื่อดังตั้งอยู่หน้าบ้าน แต่ลูกต้องไปเรียนที่อื่นเพราะสอบเข้าไม่ได้ทำให้เสียความรู้สึกและพยายามวิ่งเต้น หรือบางคนก็บอกว่าตนเองเป็นศิษย์เก่าและมีความรักสถาบันอยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนที่ตัวเองเรียนมา

“ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรที่มีน้อยจนมีปัญหาการวิ่งเต้น โดยผู้ปกครองไม่เข้าใจว่าลูกของตนนั้นจะสามารถเรียนตามเพื่อนได้ทันหรือไม่ แต่ให้เรียนเพราะต้องการให้ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในอนาคต”

ซึ่งไม่เหมือนอดีตที่ครูอาจารย์ต้องไปหานักเรียนมาเข้าเรียน และจำนวนเด็กนักเรียนที่มีจำนวนพอดีทำให้ครูดูแลได้อย่างทั่วถึง เด็กนักเรียนได้ความรู้เต็มที่ แต่ปัจจุบันมีการแข่งขัน ทำให้เกิดแปะเจี๊ยะตามโรงเรียนชื่อดัง ซึ่งยอมรับว่ามีจริงและมีมานานแล้ว ระบบแปะเจี๊ยะแก้ไม่ยากถ้าผู้ปกครองเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่มองเป็นเรื่องเสียหน้า ปีนี้นักเรียนที่สอบไล่เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นอันดับที่ 1 ของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช เป็นนักเรียนจากโรงเรียนบ้านโนนแดง ซึ่งเป็นโรงเรียนชนบท

นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นโรงเรียนห่างไกลในชนบท เด็กนักเรียนสามารถมีความรู้ได้หากมีครูอาจารย์ที่สอนดี

ด้านนายคิด แก้วคำชาติ นักวิชาการพื้นบ้านด้านการศึกษาทางเลือกจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ระบบการศึกษาไทยทุกวันนี้ถอยหลังจากมีการจัดอันดับทางความคิด โรงเรียนนั้นดีหรือไม่ดี การจัดสรรงบประมาณก็มีปัญหา โรงเรียนไหนมีนักเรียนน้อยก็ให้งบน้อย นักเรียนบางคนยิ่งเรียนยิ่งโง่ เรียนจบไปเป็นทาสนายทุนไม่มองกลับมาที่ชุมชน เด็กนักเรียนเหล่านี้จะเรียนได้เพียงแค่การท่องจำ แต่ไม่มีประสบการณ์ของชีวิตจริง

จึงพบว่าเมื่อเรียนในเวลาเรียนหลักเสร็จแล้ว ก็ต้องไปรับการเฉลยข้อสอบจากโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งผู้สอนในโรงเรียนกวดวิชาก็คือครูที่สอนในโรงเรียนประจำ ทำไมไม่สอนให้เด็กเรียนเก่งตั้งแต่อยู่ในชั้นเรียนประจำ แต่ให้เก่งเมื่อมาเข้าเรียนกวดวิชาเพิ่มเติม จึงถือว่าระบบการศึกษาไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะครูทุกวันนี้ขาดจิตวิญญาณของความเป็นครู แต่กลายเป็นนักธุรกิจทางการศึกษา

“ช้างเผือกในป่ามีเยอะ เพียงแต่รัฐไม่ส่งเสริม ถ้าผมมีลูกก็จะไม่ให้เข้ามาเรียนในโรงเรียนดัง เพราะไม่มีเงินส่งให้ลูกเรียนในระบบแข่งขันแบบนี้ได้ แต่จะให้เรียนในโรงเรียนที่สอนให้ลูกคิดเป็น เพื่อเอาชีวิตรอดได้ในวันข้างหน้า”

ส่วนนายแก่นคำหล้า พิลาน้อย หรือตุ๊หล่าง ปราชญ์ชาวนาจากคนค้นคน จ.ยโสธร ระบุว่า โรงเรียนดีเริ่มจากครอบครัวที่เป็นสุข ไม่จำเป็นต้องให้ลูกไปเรียนไกลจากบ้าน แต่ให้เรียนในโรงเรียนใกล้บ้านที่มีการจัดระบบการศึกษาดี และผู้ปกครองสามารถตรวจสอบได้ โดยจะให้เรียนเป็นคนดี 51% และให้เรียนเก่ง 49% ทุกวันนี้สังคมมีปัญหาเพราะมีคนเก่งเยอะ แต่มีคนดีน้อยลง

ปัญหาการศึกษาไทยทุกวันนี้เกิดมาจากคนที่เป็นครู ผู้ปกครอง และตัวนักเรียน ไม่ใช่สถานศึกษา การแก้ปัญหาต้องได้คนดีมาเป็นครู มีจิตวิญญาณสอนลูกศิษย์ ส่วนนักเรียนต้องมีจิตวิญญาณของการเป็นศิษย์ ไม่ใช่เดินผ่านโรงเรียนแล้วก็เรียนจบได้ ผู้ปกครองเองต้องตรวจสอบพฤติกรรมของลูกหลานตัวเอง อย่าไปโทษครูหรือสถาบัน แต่ให้คิดจะจัดการกับลูกหลานตนเองให้เรียนเก่ง และเป็นคนดีได้อย่างไร

สำหรับการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองนักเรียนในจังหวัดเข้าร่วมซักถามประเด็นข้อสงสัยต่างๆ จากผู้ร่วมเวทีเสวนาตลอดเวลา โดยบางคนระบุว่าแปะเจี๊ยะไม่ใช่มีเพียงให้ลูกได้เข้าเรียนในโรงเรียนชื่อดัง แต่มีการวิ่งเต้นให้ลูกได้เรียนในห้องเรียนเกรดเอ ซึ่งเป็นห้องเรียนที่เชื่อว่าเป็นแหล่งรวมของนักเรียนชั้นหัวกะทิด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น