xs
xsm
sm
md
lg

ยิ่งเรียน...ยิ่งโง่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
เรียนจนเครียดถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย เคยมีข่าวทำนองนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ความกดดันที่สั่งสมจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง และสังคมรอบข้าง ทำให้รู้สึกว่าการเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต

เชื่อว่าสิ่งที่เป็นปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวเด็กนักเรียน แต่เป็นทัศนคติและวิธีคิดของผู้ใหญ่ที่มีต่อระบบการศึกษาในสังคมไทย
“ลูกต้องเรียนเก่ง..”
“ต้องสอบได้ที่หนึ่ง..”
“ต้องเข้าโรงเรียนดังๆ..”
ต้อง..อย่างนู้น อย่างนี้มากมาย จนเด็กเองมีความคิดที่ว่า ถ้าเขาเป็นอย่างที่พ่อแม่ต้องการได้ ทุกคนในสังคม

จะยอมรับในตัวเขา จึงเกิดเป็นความกดดันตัวเองจากสภาพแวดล้อมซึ่งผู้ปกครองอยากให้เขาเป็น...อย่างที่ต้องการ

ยอมรับเลยว่าความคิดนี้ตกทอดมาหลายยุคหลายสมัย ฝังรากลึกอยู่ในระบบการศึกษาไทย ที่สังคมยอมรับในความเก่ง จนมองข้ามความดี

จากนโยบายล่าสุดของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งพยายามสร้างความโปร่งใสในระบบการเรียกเก็บเงิน “แป๊ะเจี๊ยะ” ให้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “เงินบริจาค” แทน แค่นี้คงพอจะมองถึงแนวโน้มการศึกษาไทยได้แล้วว่ามีการพัฒนาหรือไม่กันแน่

นี่เป็นภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาไทย ที่ผู้ปกครองต่างเสาะแสวงหาโรงเรียนดีๆ ที่มีชื่อเสียงให้บุตรหลานได้อภิสิทธิ์เข้าเรียนตามที่ต้องการ จึงต้องยอมจ่ายเงินแพงๆ เพื่อแลกกับห้องเรียนเพิ่มเติมซึ่งจัดขึ้นมาให้เฉพาะเด็กนักเรียน “แป๊ะเจี๊ยะ”

และเมื่อลูกหลานได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของสังคม ทั้งๆ ที่เด็กอาจไม่มีศักยภาพมากพอที่จะเข้าโรงเรียนนั้น ซึ่งมีความกวดขันและเข้มงวดทางด้านวิชาการสูง ทำให้เด็กนักเรียนต้องอัปตัวเองด้วยการเข้าเรียนพิเศษ เพราะความหวังของพ่อแม่ที่อยากให้ลูกเรียนเก่ง ทั้งความกดดันที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในโรงเรียน

ผู้ปกครองหลายคนอาจมีข้อแย้งมากมายถึงการส่งลูกเข้าเรียนพิเศษ บางครั้งอาจเรียนมากกว่าในห้องเรียนประจำเสียอีก บ้างก็ว่าดีกว่าให้ลูกไปติดเกม แต่ถ้าลูกรับไหวก็ดีไป แต่บางรายเกิดจากพ่อแม่ไม่มีเวลาจึงเอาลูกมาทิ้งในสถานที่เรียนพิเศษ เด็กเรียนกันตั้งแต่อยู่ชั้นประถมยันมัธยม กลายเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งไปโดยปริยาย

วันจันทร์-ศุกร์ เรียนหนังสือที่โรงเรียน วันเสาร์-อาทิตย์ ต้องมาเรียนพิเศษเป็นประจำ เด็กคนหนึ่งบอกให้ฟังว่า “เหนื่อยนะ แต่ต้องเรียน เพราะอยากเรียนให้ได้คะแนนสูงๆ พ่อแม่จะมีรางวัล ถ้าได้ที่ 1 เขาจะซื้อมือถือไอโฟนให้”

เด็กบางคนเรียนพิเศษในวันเสาร์-อาทิตย์ทั้งวัน ตอนเช้าเรียนคณิตศาสตร์ ตอนบ่ายเรียนฟิสิกส์ ตอนเย็นอาจเสริมด้วยภาษาอังกฤษอีก ต้องกลับบ้านตอน 6 โมงเย็น กว่าจะถึงบ้านก็ปาเข้าไป 2-3 ทุ่ม สรุปแล้วเด็กไม่มีเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเลย วันหนึ่งๆ ผู้ใหญ่อัดแต่วิชาการเข้าสมอง เด็กพร้อมรับบ้าง ไม่รับบ้าง ครูผู้สอนก็ใส่เต็มที่ “เฉพาะชั่วโมงเรียนพิเศษ” เท่านั้น

ขอว่ากันตามความจริง อาจารย์บางคนสมองไหล สนใจเฉพาะเด็กที่เรียนพิเศษ บอกแนวข้อสอบแก่เด็กที่มาเรียน ส่วนเด็กในชั้นเรียนกลับไม่สนใจ สอนตามหน้าที่ให้ผ่านๆ ไปแต่ละวัน จนไม่แน่ใจแล้วว่าท่านมีอาชีพหลักเป็น “ข้าราชการ” หรือ “ประกอบกิจการส่วนตัว” กันแน่

ขณะที่เด็กบางคนบอกว่า ถ้าไม่มาเรียนพิเศษก็ทำข้อสอบไม่ได้ เพราะเรียนในห้องไม่รู้เรื่อง แต่มาเรียนพิเศษ 2 ชั่วโมงแล้วเข้าใจ ได้เคล็ดลับแถมยังได้แนวข้อสอบกลับบ้าน

ส่วนเรื่องเงินพ่อแม่บางคนก็พร้อมยอมจ่ายเพื่ออนาคตของลูก ไล่ตั้งแต่เสียเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะ จนถึงค่าเรียนพิเศษ เชื่อเลยว่าเด็กคนหนึ่งๆ ลงทุนเรื่องค่าเล่าเรียน ไม่ใช่จำนวนเงินน้อยๆ ทำให้คิดถึงคำกล่าวที่ว่า “การเรียน คือการลงทุน” นี่แหละสภาพสังคมบูชาวัตถุนิยมอย่างแท้จริง

ทุกวันนี้เด็กทำหน้าที่แบบภาระจำยอม บนความหวังดีที่แฝงความต้องการของผู้ใหญ่ ท่านพูดได้เต็มปากหรือแน่ใจไหมว่าที่ทำอยู่นั้นไม่ใช่เป็นการบังคับจิตใจกัน เพราะโลกแห่งความจริง สังคมไม่ได้ต้องการคนเก่งที่แน่นเนื้อหาทางวิชาการเท่านั้น

“เด็กเรียนดี เรียนเก่ง แต่ตกงานก็มีถมไป”
 
 
 
 
 
 
 

ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์
กำลังโหลดความคิดเห็น