xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพล ปชช.ชูครูต้นแบบสังคม หนุนรุ่นใหม่ใฝ่คุณธรรม ห่วงแท็บเล็ตทำเด็กค้นเว็บโป๊

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิด้าโพลล์ เผยผลสำรวจครูไทย วันนี้ ประชาชน 77.18% ยังเห็นครูเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม 35.69% แนะครูสายพันธุ์ใหม่มีคุณธรรม จิตอาสา จริยธรรม และจรรยาบรรณ 26.43% แนะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา 56.31% ห่วงแท็บเล็ตทำเด็กสืบค้นข้อมูลไม่เหมาะสม

วันนี้ (16 ม.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ครูไทย ณ วันนี้” จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป ทุกระดับการศึกษาและกลุ่มอาชีพ จำนวน 1,275 หน่วยตัวอย่าง สรุปได้ดังนี้ ความคิดเห็นของประชาชนต่อครูไทย ณ วันนี้ ร้อยละ 77.18 เห็นว่า ครูไทย ยังถือเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคมทั้งด้านคุณธรรม และจริยธรรม ที่เด็กควรปฏิบัติเป็นแบบอย่าง ร้อยละ 64.24 เห็นว่า ครูไทยยังอาศัยระบบการสอนแบบท่องจำจากตำรา มาสอนนักเรียน มากกว่า การสอนจากความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ที่แท้จริง ร้อยละ 62.27 เห็นว่า ครูไทยถูกกดดันให้ทำงานเพื่อเพิ่มตำแหน่งวิทยฐานะ และงานบริหาร มากกว่า งานสอนให้แก่ลูกศิษย์ ร้อยละ 57.73 เห็นว่า ครูไทยมีเงินเดือนที่น้อย แต่สวนทางกับรายจ่ายที่มากขึ้น จนครูบางคนมีหนี้สินที่มากมาย และ ร้อยละ 54.27 เห็นว่า อนาคตครูไทยต้องจบการศึกษาขั้นต่ำสุด ปริญญาโทตามโครงการครู “สายพันธุ์ใหม่”

เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อครูไทย สายพันธุ์ใหม่ ที่ดีควรเป็นอย่างไร ร้อยละ 35.69 มีคุณธรรม จริยธรรม จิตอาสา และจรรยาบรรณในความเป็นครู ร้อยละ 27.53 มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณภาพ ร้อยละ 16.86 มีทักษะในการถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์ ร้อยละ 10.12 มีการพัฒนาแสวงหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ร้อยละ 8.94 สามารถใช้สื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์เทคโนโลยี IT ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ได้ และ ร้อยละ 0.86 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาการศึกษาของเด็กไทยที่ควรปรับปรุงมากที่สุด ร้อยละ 26.43 เนื้อหาหลักสูตร/สื่อการเรียนการสอนต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ ร้อยละ 26.27 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 18.75 ครู ผู้สอนขาดทักษะในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ร้อยละ 9.41 ควรปฏิรูประบบการศึกษาของไทยใหม่ทั้งระบบ ร้อยละ 9.33 ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กขาดทุนทรัพย์ ขาดโอกาส ร้อยละ 8.00 เด็กไทยมีชั่วโมงเรียนที่เยอะเกินไป ทำให้เด็กเครียด และกดดัน และร้อยละ 1.80 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ

เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาหรือข้อจำกัดการนำเทคโนโลยีอย่าง “แท็บเล็ต (Tablet)” มาใช้ในแวดวงการศึกษา เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้กับเด็ก ร้อยละ 56.31 การสืบค้นข้อมูลไม่เหมาะสม เช่น เว็บไซต์ที่มีเนื้อหารุนแรง เว็บไซต์อนาจาร ร้อยละ 31.06 การพัฒนาโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นสำหรับการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับเนื้อหาหลักสูตรของเด็กไทยยังมีน้อย ร้อยละ 27.69 ระบบเครือข่ายการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในบางจังหวัดยังไม่ครอบคลุม ร้อยละ 24.55 ครูผู้สอนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์ “แท็บเล็ต (Tablet)” ร้อยละ 9.80 โรงเรียน/ครูต้องเพิ่มภาระในการเก็บรักษาดูแลอุปกรณ์ “แท็บเล็ต (Tablet)” ร้อยละ 0.47 ไม่สนับสนุนให้ใช้ “แท็บเล็ต (Tablet)” และร้อยละ 7.29 ไม่แน่ใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น