ในปัจจุบัน คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าภาษาอังกฤษนั้นได้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญมากทบทวียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในโลกยุคโซเชียล มีเดีย แต่ที่ผ่านมาก็คงต้องยอมรับกันว่าคนส่วนมากในบ้านเรา ยังไม่มีภาษาอังกฤษที่ดีสักเท่าไร ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่นั้นผ่านการเรียนวิชาภาษาอังกฤษกันมาทั้งนั้น ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่าสาเหตุหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น ก็เป็นเพราะคนไทยเราไม่ค่อยได้มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันนั่นเอง
ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงได้คิดโครงการ 'พ.ศ. 2555 ปีแห่งการพูดภาษาอังกฤษ (English Speaking Year 2012)' ขึ้นมา โดย ศธ.จะดำเนินการขอร้องแกมบังคับให้สถานศึกษา และสถานที่ราชการในสังกัด พูดภาษาอังกฤษในวันจันทร์ของทุกสัปดาห์ นัยว่าเป็นการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้เชิงปฏิบัติให้เกิดขึ้น
ซึ่งทั้งหมดนั้นก็อาจจะทำให้กระบวนการเรียนรู้ภาษาของคนไทยพัฒนาขึ้น หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จกับหลักสูตรเชิงวิชาการในห้องเรียนที่ขาดการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมานาน
หลักสูตรที่ไม่สำเร็จ
การที่คนไทยส่วนมาก ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ ทั้งๆ ที่เรียนกันมาตั้งแต่เด็กยันมหาวิทยาลัยนั้น ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
“เราไม่ประสบความสำเร็จมานานแล้วในเรื่องสอนภาษาอังกฤษ ไล่ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยเลย นั่นเนื่องจากนโยบายการสอนภาษาที่สองหรือภาษาที่สามของเราไม่ได้ชัดเจน และไม่มีการส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม
“หลักสูตรที่จริงก็พยายามแก้ไขมานานแล้วว่า ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร พูด ฟัง อ่าน เขียน มันต้องไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราต้องเน้นในการพูดให้มากขึ้น ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนเขามีความกล้า ผู้สอนต้องมีจิตวิทยาให้เด็กกล้าพูดกล้าที่จะแสดงออก เรียนภาษาเป็นเรื่องที่เรียนรู้วันสองวันไม่ได้...มันต้องสะสม ต้องกล้าพูดกล้าแสดงออก ถูกผิดก็แก้ไขพัฒนากันไป เรื่องภาษาไม่มีใครเพอร์เฟคกต์หรอกต้องพยายามแสดงออกและช่วยกันปรับปรุงพัฒนา”
ซึ่ง ศ.ดร.ศิริชัย ยังกล่าวต่อไปอีกว่าที่ผ่านมายังไม่มีแนวทางสนับสนุนถึงมาตรฐานการเรียนการสอนที่ชัดเจน ฉะนั้นส่วนกลางต้องตื่นตัวมากกว่านี้ ส่วนเรื่องของเรื่องนโยบายพูดภาษาอังกฤษทุกวันจันทร์นั้น เขาก็มองว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็มีบางจุดที่ต้องให้ความสำคัญ
“ก็เป็นความหวังดีในส่วนที่เป็นนโยบาย แต่ว่าในทางปฏิบัติควรจะต้องสื่อสารกับทางโรงเรียน โดยเฉพาะการรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้มีมาตรฐาน คือถ้าอยู่ๆ ไปให้เด็กพูดอาทิตย์ละวันถ้าครูไม่พร้อมเด็กไม่พร้อมมันก็ปฏิบัติได้ยาก ฉะนั้นสิ่งแรกในส่วนกลางต้องมีการส่งเสริมสนับสนุนในการที่จะให้โรงเรียน ได้มีอุปกรณ์ มีเครื่องมือการสื่อสาร ได้ดูเทปวิดีทัศน์รายการสอนภาษาอังกฤษที่ดีๆ และมีแนวทางของการจัดกิจกรรม ถ้ามีแต่นโยบายออกมาความพร้อมของสถานศึกษาไม่เท่ากัน ต้องส่งเสริมจากส่วนกลางลงไปด้วย”
จะทำได้ไหม ทำได้หรือเปล่า?
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่านโยบายนี้ เป็นนโยบายที่เกิดจากความหวังดี แต่ในทางปฏิบัตินั้นมันจะเวิร์กหรือไม่ ก็ต้องลุ้นเอาอีกรอบ ซึ่งในทัศนะของ ครูเคท-เนตรปรียา ชุมไชโย ผู้บริหารโรงเรียนสอนภาษาครูเคทนั้น มองว่า แม้จะมีจุดประสงค์ริเริ่มที่ดี แต่มันก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาในภายหลัง เพราะทุกวันนี้บุคลากรในโรงเรียนที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องก็แทบจะไม่มี และมีจำนวนไม่น้อยที่เก่งในเรื่องของไวยากรณ์ แต่ทักษะการพูดค่อนข้างต่ำ
"ถ้าเราสนับสนุนให้พูดภาษาอังกฤษไปเรื่อยๆ โดยมีต้นแบบที่ผิด เด็กๆ ก็จะติด แล้วเราก็จะพูดภาษาอังกฤษในสไตล์ไทยๆ ผิดๆ มันก็จะยิ่งผิดกันไปใหญ่ หรือดีไม่ดี เด็กก็อาจจะไม่พูด คือรู้สึกเคอะเขินเวลาที่จะพูด หรือมองเป็นเรื่องตลก พูดง่ายๆ ก็คือ เกาไม่ถูกที่คัน ปัญหาจริงๆ ของระบบการศึกษาไทย อันดับที่หนึ่งนั้นอยู่ที่การปูพื้นฐานทางภาษา เท่าที่ดิฉันดูหลักสูตรทั้งหมด เป็นหลักสูตรที่กว้างมาก และก็จับต้องไม่ได้ เพราะฉะนั้นครูผู้สอนก็จะยากลำบากหน่อย เพราะไม่รู้ว่าจะสอนทางใด หรือจะเริ่มสอนอะไรก่อน
และเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ คำถามต่อมาก็คือทางออกมันควรจะเป็นเช่นใด ซึ่งในประเด็นนี้ครูเคทก็เสนอมาว่า รัฐควรจะนำงบประมาณบางส่วนไปฝึกครูภาษาอังกฤษให้พูดภาษาอังกฤษได้ก่อน
“เมื่อครูพูดได้ ดิฉันเชื่อว่าคนเราเป็นครูมันมีจิตวิญญาณอยู่แล้วล่ะ เขาก็จะมีเทคนิคต่างๆ แล้วก็สอนได้เอง แต่เท่าที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นมีรัฐบาลไหนที่ตีโจทย์ตรงนี้แตก มีแต่เอางบประมาณไปให้ครูอังกฤษเรียนเทคนิคการสอน ซึ่งถือเป็นการใช้งบที่ผิดไปหน่อย และเมื่อครูเก่งภาษาอังกฤษกันแล้ว ลำดับที่สองคือ ต้องเอาหลักสูตรมาขึงกันใหม่ คือไม่ได้พูดว่าหลักสูตรไม่ดี แต่มันกว้างมาก ทำให้เวลาพอไปตีหลักสูตรออกมาเป็นรายชั่วโมงแบบไหน อย่างไรมันไม่มีคนทำ แล้วให้ไปใช้หลักการให้ครูไปปรับเองตามท้องถิ่น ซึ่งแบบนี้ทำไม่ได้
“ที่สำคัญก็ต้องเปลี่ยนวิธีวัดผล เพราะการวัดผลแบบ GAT/PAT ที่ออกมานั้นใช้สำหรับคนที่ฟังพูดอ่านเขียนอังกฤษได้แล้ว จึงจะทำข้อสอบได้ แต่โลกของความเป็นจริงมีนักเรียนไทยที่พูดอังกฤษได้น้อยมากๆ แล้ววิธีการตั้งข้อสอบก็ต้องปรับมาตรฐานการให้เป็นสากล ไม่ใช่ให้ครูไทยคิดเองเออเอง แต่งประโยคเองโดยที่เจ้าของภาษาเขาไม่ใช้แบบนั้นกัน ซึ่งเวลาไปสื่อกับฝรั่ง เขาก็ไม่เข้าใจ”
อย่างน้อยก็คือความหวัง
แม้ว่านโยบายเรื่องการพูดภาษาอังกฤษทุกวันจันทร์ จะเป็นเรื่องที่ยังไม่รู้ว่าจะได้คุ้มหรือไม่ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นอีกหนึ่งความหวังเล็กๆ ที่จะมาช่วยเสริมหลักสูตรภาษาอังกฤษที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วหลายรุ่นว่า ล้มเหลว
วรวีย์ เจริญวรรณ ก็ผู้ที่เรียนภาษาอังกฤษในระบบการศึกษามาหลายปี แต่ก็ยังพูดภาษาอังกฤษแบบไม่ค่อยคล่องนัก เขามองว่าแนวคิดการให้พูดภาษาอังกฤษทุกวันจันทร์เป็นเรื่องที่น่าจะใช้ได้
“คิดว่าใช้ได้ ส่วนในทางปฏิบัติอาจจะขึ้นอยู่กับแต่ละที่แต่ละโรงเรียนว่าจะวางระบบการสอนและบังคับใช้อย่างไร ซึ่งถ้าจะทำจริงมันก็น่าจะทำได้”
ในส่วนของการเรียนที่ผ่านมาซึ่งยังเป็นปัญหาทำให้ยังใช้ภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนั้น เขาเห็นว่าส่วนหนึ่งมาจากการเรียนที่ไม่ค่อยได้ใช้จริงสักเท่าไร และส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนเพื่อเอาไปสอบ
แต่กับคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีมากๆ อย่าง พัฐชญาน์ วัดบัว นักศึกษาปริญญาโท จาก Birkbeck University Of London ก็มองว่าหากทำได้จริงๆ ก็จะเป็นผลดีมาก เพราะภาษาอังกฤษในเรื่องของการพูดจะต้องใช้วิธีการฝึกฝน แต่ส่วนใหญ่ เด็กไทยจะอาย กลัวครูฝรั่ง และไม่กล้าพูดเพราะเพื่อนก็ไม่พูด พูดแล้วมองดูไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งในความคิดของพัฐชญาน์ มองว่าแค่วันจันทร์วันเดียวยังน้อยเกินไป
“พูดภาษอังกฤษได้ มันเป็นเรื่องดี เพราะเราได้อีกทักษะหนึ่งมา สมัยนี้พูดภาษาอังกฤษภาษาเดียวยังไม่พอเลย จริงๆ นะ แต่ปัญหาอาจจะแบบว่า ถ้าบังคับพูดแต่ภาษาอังกฤษกันจริงๆ คนที่ลำบากก็จะเป็นครูในภาควิชาอื่นที่เด็กต้องสนทนาด้วย เพราะดูจะยากตรงนี้ เด็กๆ จะดัดง่ายกว่าครู ถ้าครูไม่เก่งก็ไม่เวิร์ก”
ในประเด็นนี้ ภคพร อิสระ อาจารย์สาวจากโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการแห่งหนึ่งกล่าวว่า
“ถ้าทำได้ทุกคนก็เป็นเรื่องดี คือไม่ว่าจะเป็นครูหรือนักเรียน ถ้าสื่อสารกันรู้เรื่องก็จะเกิดประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงในโรงเรียนก็อาจจะมีครูวิชาอื่นๆ ที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษอยู่ด้วย ดังนั้น การดำเนินนโยบายเรื่องนี้ควรจะค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า”
……….
แม้นโยบาย ‘พ.ศ.2555 ปีแห่งการพูดภาษาอังกฤษ’ จะเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการฝ่าทางตันของหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศ แต่ถ้ามองอย่างรอบด้านก็จะเห็นว่า มันยังขาดความพร้อมในอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของบุคลากร หรือจะเป็นเรื่องทัศนคติที่คนไทยส่วนใหญ่มีต่อภาษาอังกฤษ
สุดท้ายแล้วก็คงต้องดูกันต่อไปว่า ความพยายามครั้งนี้มันจะสัมฤทธิผลหรือไม่ และถ้าไม่...จะมีหนทางใดที่จะนำมาใช้ เพื่อให้การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในบ้านเราก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพมากกว่าทุกวันนี้
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์