xs
xsm
sm
md
lg

แนะ ศธ.ชำระประวัติศาสตร์ ลดอคติประเทศเพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวทีเสวนาเตรียมความพร้อมสู่อาเซียน  จี้ ศธ.ร่วมมีบทบาทขับเคลื่อนไทยสู่อาเซียน  แนะดูแลกลุ่มที่ยังด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ส่วนภาคอุตสาหกรรม แนะ ศธ.ต้องแก้ปัญหาสำคัญ คือ ภาวะขาดครูดี   ครูอยู่กับเด็ก ชี้ แก้ปัญหาครูไม่ได้ทุกอย่างที่ฝันไว้พังทั้งหมด เสนอ ศธ.ชำระประวัติศาสตร์ ลบอคติต่อประเทศเพื่อนบ้าน

                คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวในการเสวนาวิชาการเรื่อง “ ทิศทางการศึกษาไทย : กับความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน” ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) มีใจความสำคัญ  ว่า  ถ้าเราต่อยอดจากสิ่งที่มี ประเทศไทยจะสามารถร่วมประชาคมอาเซียนได้อย่างไม่เป็นรองใคร เพราะฉะนั้น เพือให้ไทยเดินเข้าสู่สังคม และโรงเรียนต้องช่วยเสริมในการต่อยอดสิ่งที่เราทำอยู่ 3 เรื่องสำคัญ คือ เรื่องที่ 1.การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนานวัตกรรม โรงเรียนจะต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น กระตุ้นเด็กกล้าคิด กล้าลอง ให้เด็กได้เรียนรู้ สัมผัสความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม และให้เด็กสร้างผลงานนวัตกรรมออกมา และพิจารณาโดยไม่ตัดสินว่าสิ่งที่เด็กคิดขึ้นมานั้นผิดก็ต้องสอนให้เขาเผชิญ กับความล้มเหลว อุปสรรคต่างๆ เป็นการส่งเสริมให้เด็กมีความอดทน

เรื่องที่ 2.การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เราจะยกระดับทั้งชาติ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้หญิงอายุ 25 ปีขึ้นไป จากสถิติพบว่า  ประเทศไทยมีผู้หญิงอายุเกิน 25 ปีที่จบปริญญาร้อยละ 13 จัดอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และ ฟิลิปปินส์ แต่อีกด้านไทยก็มีผู้หญิงอายุเกิน 25 ปี ที่ไม่จบมัธยมสูงกว่าเพื่อน  เพราะฉะนั้น ต้องเร่งเข้าไปพัฒนาผู้หญิงเหล่านี้ ถัดมา คือ กลุ่มลูกหลานแรงงานต่างด้าวที่จะมีมากขึ้นหลังเป็นประชาคมอาเซียน  เราสามารถอาศัยคนกลุ่มนี้เป็นสะพานเชื่อมสู่อาเซียน เรียนรู้เรื่องประเทศเพื่อนบ้านจากเด็กกลุ่มนี้ได้ และกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่ต้องให้การศึกษาด้วย และ 3.การสร้างเครือข่ายวิชาการ เราสามารถอาศัยกลุ่มหลักในข้างต้นเป็นทูตสร้างความเข้าใจอันดีต่อประเทศไทย ความสัมพันธ์มนุษย์ต่อมนุษย์เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นที่สุด สามารถนำมาซึ่งความร่วมมือต่างๆ อีกมากมาย

                ด้าน นายถาวร ชลัษเฐียร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยมีภาคเศรษฐกิจหลักอยู่   3 อย่างสำคัญ ที่หากไปได้ดีแล้วจะทำให้ประเทศอยู่รอดได้ และการศึกษาต้องเข้าไปเสริมความเข้มแข็งให้ อันดับแรก คือ ภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยและหลายประเทศในอาเซียน  2.คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจุบัน เราผลิตรถยนต์ 1.8 ล้านคันต่อปี  ปีหน้าจะเพิ่มเป็น 2 ล้านคัน ทั้งที่ตามแผนแล้วไทยจะผลิต 2 ล้านคัน ในปี 2013 แต่มันมาเร็วกว่าที่วางแผนไว้ จะส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานขึ้น  และ 3.คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประเทศไทยความสมบูรณ์ด้านแหล่งท่องเที่ยว แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับแพ้ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคนี้  ทั้งๆ ที่แหล่งท่องเที่ยวไทยไม่มีอะไรแพ้เขา  เพราะฉะนั้น ต้องพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นมืออาชีพ แล้วจะช่วยดึงคนเข้าประเทศได้มากขึ้น

                “ปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทย คือ หาครูดีๆ ยาก เป็นเรื่องใหญ่ที่ ศธ.ต้องคิดแก้ปัญหา แต่ขณะนี้กลับไม่มีมหาวิทยาลัยที่สอนครูโดยตรง รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแจกแท็บแล็ต ผมก็ไม่ค้าน แต่แท็บเล็ตเป็นแค่เครื่องมือ ไม่สามารถใช้พัฒนาทัศนคติของคนให้ดีขึ้น  เด็กจะดีหรือไม่อยู่ที่ครู เพราะฉะนั้น อยากฝากให้มี มหาวิทยาลัยที่ผลิตครูแท้ๆ ผลิตครูจริงๆ เราสูญเสียวิทยาลัยครูดีๆ ไป รวมถึงสูญเสียวิทยาลัยพาณิชย์ วิทยาลัยผลิตช่างดีๆ  หันไปเน้นผลิตแรงงานระดับปริญญาตรี  ในที่สุดก็จะเกิดปัญหาแรงงาน ต้องดึงแรงงานต่างด้าวเข้ามาใช้ ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย” นายถาวร กล่าว

                นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า ไทยต้องเร่งส่งเริมการเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ไม่ว่าอาเซียนจะหารือไม่ก็ต้องส่งเสริม  อย่างไรก็ตาม  ข้อใหญ่ต้องดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่อาเซียน คือ การปฏิรูปครูไทยให้อยู่กับเด็ก   ตอนนี้ครูไม่ค่อยอยู่กับเด็ก  2.เพื่อจะให้ครูอยู่กับเด็กได้ ต้องปฏิรูประบบการประเมินใหม่  ไม่อย่างนั้น ครูจะทิ้งเด็กไปอยู่กับการทำผลงานวิชาการ  หากแก้ปัญหาครูไม่ได้ ทุกอย่างที่เราฝันไว้ก็จบหมด 3.  ให้ อำนาจจัดการศึกษาไปสู่ท้องถิ่น เพราะชุมชนจะรู้ว่า ควรให้ลูกหลานเรียนอะไร รู้วิธีดูแลครูในพื้นที่ รู้ว่า โรงเรียนต้องการอะไรที่แท้จริง รวมถึงต้องพัฒนาให้เด็กมีทักษะการอ่าน เขียน และมีนิสัยอดทน  ติดดิน

                นายสมพงษ์ จิตรระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  ไม่มีทางที่ไทยจะมีความพร้อมในการเข้าสู่อาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า  โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะด้านภาษาให้คนในประเทศ  เรายังขาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ขณะที่เวียดนามประกาศอีก  7 ปีข้างหน้า คนในเวียดนามพูดภาษาอังกฤษได้  ขณะที่ความพร้อมของสถานศึกษาส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสอนภาษา ก็ยังขาดแคลนอาจารย์ ที่สำคัญ เราต้องชำระประวัติศาสตร์ด้วย   เรามีอคติกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง พม่า เขมร มาก  ตอนนี้เราเกิดการกระแสคลั่งชาติมากจนนำไปสู่การเมืองในประเทศ ทำให้เกิดทะเลาะกับประเทศเพื่อนบ้านตลอด  เพราะ ฉะนั้น ศธ.ต้องเป็นแกนนำสร้างความรู้สึก ว่า เราเป็นคนอาเซียนเหมือนกัน ปฏิบัติกับคนทุกชาติเท่าเทียมกัน อยู่ร่วมกันกับอย่างสันติ สมานฉันท์
กำลังโหลดความคิดเห็น