xs
xsm
sm
md
lg

แป๊ะเจี๊ยะเสรี ไม่รวย เรียนไม่ได้!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเรียนบดินทรเดชาชุมนุมต่อต้านแป๊ะเจี๊ยะข้างทำเนียบ
โรงเรียนดีๆ ไม่มีโอกาสให้ลูกตาสียายสาที่ไหนเข้ามาเรียนได้ ถ้าไม่มีเงิน!?
ทำให้รู้สึกแสลงใจกับการศึกษาไทย หลังจากที่มีนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รวมตัวกันอดข้าวประท้วงบริเวณป้ายรถประจำทาง ประตู 4 ข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งพลาดโอกาสเข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เพราะถูกระบบแป๊ะเจี๊ยะเล่นงานนั้น แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขากำลังเรียกร้องนั่นคือ ความเท่าเทียมทางการศึกษา



แป๊ะเจี๊ยะ หรือ เงินบริจาค?
จากนโยบายล่าสุดของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งพยายามสร้างความโปร่งใสในระบบการเรียกเก็บเงิน “แป๊ะเจี๊ยะ” ให้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “เงินบริจาค” แทน แค่นี้คงพอจะมองถึงแนวโน้มการศึกษาไทยได้แล้วว่ามีการพัฒนาหรือไม่กันแน่!

แม้บางโรงเรียนจะอ้างว่าเป็นค่าบำรุงโรงเรียน ไม่มีผลต่อการรับเข้าศึกษาต่อแต่อย่างใด แต่ก็ดูเป็นแค่ข้ออ้างที่ทำให้ดูดีขึ้นเท่านั้น ต้องยอมรับว่าระบบแบบนี้มันเป็นเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่คราวนี้เอามายำใหม่เพื่อให้ออกรสออกชาติ และดูดีมีหน้ามีตามากขึ้นเท่านั้นเอง

ถ้าจะบอกว่าเป็นนโยบายของระบบการศึกษากับการเรียกเก็บแป๊ะเจี๊ยะบนดินได้อย่างเสรีก็คงไม่ผิด ความทุกข์ใจจึงไปหนักอยู่ที่ผู้ปกครอง ถ้ายอมจ่ายแป๊ะเจี๊ยะแล้วมีที่ไหนจะไม่หวังผล

“แป๊ะเจี๊ยะ” ทำให้เข้าใจคำว่า “ธุรกิจ” ดีขึ้น สิ่งที่ผู้บริหารสถาบันการศึกษาในปัจจุบันมักให้ความสำคัญคือเรื่องของเงินๆ ทองๆ จนทำให้มันกลายเป็นตัวขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยไปเสียแล้ว แทนที่จะมองกันถึงเรื่องคุณภาพเป็นหลัก และดูเหมือนว่านานวันก็จะยิ่งบอบช้ำมากขึ้นทุกทีๆ จากการกำหนดให้ค่าเงินสูงขึ้นๆ เรื่อยๆ เพื่อแลกกับโอกาสทางการศึกษา



ไม่รวยหมดสิทธิ์
ในเมื่อผู้ปกครองพร้อมที่จะจ่ายเพื่อโอกาสทางการศึกษาที่ดีของลูก คนฐานะดีมันอันจะกินคงไม่เดือนร้อนอะไร ขนหน้าแข้งคงไม่ร่วงมากขึ้นกว่าเดิมเท่าไหร่นักกับเงินไม่กี่หมื่นกี่แสนบาท แต่ถ้าผู้ปกครองของเด็กอยู่ในสถานะหมดอันจะกิน ไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะจ่าย เงินแค่หลักพัน มันก็มีค่ามาก การเรียกเก็บเงินจากระบบการศึกษาเช่นนี้จึงเท่ากับว่าเป็นการตัดโอกาสเด็กไม่ให้มีสิทธิ์เรียนโรงเรียนดีโรงเรียนดังตามที่สังคมยอมรับ

เช่นเดียวกับกรณีของนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา ซึ่งขอเป็นตัวแทนของนักเรียนทั้งประเทศ ต่อสู้กับระบบแป๊ะเจี๊ยะ ต่อต้านการรับเงินที่คิดว่าไม่บริสุทธิ์และไม่ยุติกรรมสำหรับพวกเขา

ถ้าลองเข้าไปดูในเว็บไซต์จะเห็นการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นต่างๆ มากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ บ้างก็ว่า “น้องเกรดไม่ถึง สอบไม่ผ่านเกณฑ์ก็ไม่มีสิทธ์มาเรียกร้อง” แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น สาระสำคัญของเรื่องนี้ ถ้ามองให้ดี มองลึกๆ จะเห็นว่าเบื้องลึกเบื้องหลังคือ “อิทธิพลของตัวเงิน” นั่นเอง

ในขณะที่เด็กเรียนไม่เก่ง สอบไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่เคยทำกิจกรรมใดๆ และมาจากโรงเรียนอื่น แต่เขามีเงินแป๊ะเจี๊ยะติดมาด้วย ประตูโรงเรียนก็พร้อมเปิดกว้างต้อนรับเด็กเหล่านี้ เพราะมีพ่อแม่-ผู้ปกครองคอยหนุนหลังไม่ยั้งด้วยแบงค์ปึกโตๆ เพื่อให้ลูกได้เดินเข้าประตูรั้วโรงเรียนอย่างหน้าชื่นตาบาน เมื่อเทียบกับเด็กอีกคนหนึ่งที่เรียนอยู่ในระดับปานกลาง แต่ไม่มีเงินแป๊ะเจี๊ยะ กลับถูกเบียดที่นั่งให้ต้องย้ายไปเรียนที่ใหม่ด้วยความจำใจ แม้ว่าจะเคยเรียน-อ่าน-เขียนที่นั่นมาก่อนก็ตาม

ผู้ปกครองบางคนที่มีกำลังทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งๆ ที่เห็นว่าลูกเรียนเก่ง ไม่มีข้อบกพร่องแต่อย่างใด แต่ก็ต้องใช้เงินแป๊ะเจี๊ยะเข้าแลกให้อุ่นใจ เพื่อให้การเข้าเรียนต่อเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ให้ถูกเบียดด้วยอิทธิพลของเงินแป๊ะเจี๊ยะที่มากกว่า

ค่าแป๊ะเจี๊ยะ หรือเงินให้เปล่านี้ มันฝังรากลึกอยู่ในระบบการศึกษาคนไทย นี่เป็นภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาไทย ที่ผู้ปกครองต่างเสาะแสวงหาโรงเรียนดีๆ มีชื่อเสียงให้บุตรหลานได้อภิสิทธิ์เข้าเรียนตามที่ต้องการ จึงต้องยอมจ่ายเงินแพงๆ เพื่อแลกกับห้องเรียนที่สังคมตีค่าว่าดี



รากเน่าๆ ของระบบ
ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ยิ่งยุคทุนนิยมด้วยแล้ว เงินทองสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น และเงินตัวเดียวนี้เองที่สามารถชี้โอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยได้ กับนโยบายที่คาดไม่ถึงว่ากระทรวงศึกษาธิการจะคิดได้!

กลายเป็นช่องทางของโรงเรียนชื่อดังที่จะเรียกเก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะเท่าไหร่ก็ได้ตามชื่อเสียงที่สร้างมา และแหล่งการศึกษาที่เก็บค่าแป๊ะเจี๊ยะได้แพงที่สุดในตอนนี้ก็คงต้องยกให้แก่ “โรงเรียนสาธิต” ซึ่งครองอันดับหนึ่งตลอดกาล ถือเป็นโรงเรียนยอดนิยมที่ผู้ปกครองต่างยอมรับถ้าวาดฝันให้ลูกเติบโตเป็นคนเก่ง โดยเรียกเก็บแป๊ะเจี๊ยะเป็นรายหัว หัวละไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทเลยทีเดียว!

แต่ถ้าผู้ปกครองคนใดกระเป๋าตุง การเงินอู้ฟู้ จะจ่ายสักแสน-สองแสนก็ไม่เป็นไร ถือเป็นหน้าเป็นตาในสังคม และเป็นสะพานให้ลูกได้อยู่รอดปลอดภัยในโรงเรียนดังๆ เพราะเงินให้เปล่าที่จ่ายมานี้กระทรวงการศึกษาก็ออกมาแก้ต่างให้แล้วว่าเป็นเงินบริจาค เงินบำรุงโรงเรียน ไม่ใช่แป๊ะเจี๊ยะใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อยอมรับกันเช่นนี้ กรรมจึงตกเป็นของตาสียายสาไปโดยปริยาย พวกเขาต้องเสาะหาเงินมาจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะให้ลูกหลานเพื่อโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม แต่ก็ต้องเข้าใจว่ามนุษย์ทุกคนมีไม่เท่ากัน เมื่อมีกำลังจะจ่ายได้แค่ไม่กี่พันบาท แล้วจะเอาเงินหลายหมื่นหลายแสนจากที่ไหนมาเป็นเครื่องรับประกันว่าลูกของตัวเองจะอยู่รอดปลอดภัยได้ศึกษาต่อสถานที่นั้นๆ เหมือนกับผู้มีอันจะกินซึ่งเตรียมเงินเป็นฟ่อนๆ เอาไว้แล้ว

คนรวยบางคนเอาแต่ผลักดันให้ลูกหลานได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของสังคมให้ได้ก่อน ไม่ว่าจะด้วยวิถีทางใดก็ยอม โดยไม่เคยคำนึงถึงศักยภาพของบุตรหลานตัวเองเลยว่าเมื่อเข้ามาเรียนแล้ว จะทนแรงกดดันและความเข้มงวดกวดขันด้านวิชาการระดับสูงๆ ได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อผลออกมาคือทำไม่ได้ สุดท้ายโรงเรียนแห่งนั้นจึงกลายสภาพเป็นแหล่งศึกษาที่ด้อยศักยภาพลงไปเรื่อยๆ

เมื่อเงินเป็นตัวแปร จึงทำให้เห็นความเลื่อมล้ำของสังคมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะโอกาสและความเท่าเทียมกันของระบบการศึกษาไทย พูดกันตามจริง มองให้ตรงจุด จะเห็นว่านโยบายนี้ไม่น่าเกิดขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ ว่าไปแล้วก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่สังคมเราต่อต้านระบบแป๊ะเจี๊ยะมาหลายยุคหลายสมัย แต่สุดท้ายก็ยังตัดรากแก้วเน่าๆ ที่ชอนไชระบบการศึกษามาจนถึงตอนนี้ได้ไม่ขาดเสียที เห็นทีว่าอาจถึงเวลาที่จะต้องยกเครื่องใหม่ทั้งคน...ทั้งระบบ

แม้พยายามมองให้เห็นข้อดีของแป๊ะเจี๊ยะ แต่ก็ไม่มีหนทางใดที่ชัดเจนไปกว่าการปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาของเด็กยากจนเลย...



---ล้อมกรอบ---
อัตราค่าแป๊ะเจี๊ยะ
สถานที่ตั้งของแหล่งศึกษา                ราคาขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ (บาท)
โรงเรียนชื่อดังย่านสุขุมวิท                     50,000
โรงเรียนชื่อดังย่านสาทร                        50,000
โรงเรียนสตรีชื่อดังย่านราชดำเนิน       130,000
โรงเรียนคริสต์ชื่อดัง                            150,000
โรงเรียนสาธิตชื่อดัง                            500,000

ข่าวโดย Manager LIVE



สู้เพื่อความยุติธรรม



กำลังโหลดความคิดเห็น