xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายการศึกษาของรัฐที่ไร้คุณค่า

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้ และพยายามส่งใครในสังกัดของตนมาทำงาน ณ กระทรวงแห่งปัญญาของประเทศ เช่น กระทรวงศึกษาธิการที่พยายามจะสร้างพลเมืองให้มีคุณภาพ ยังไม่เห็นวี่แววบ่งบอกว่า รัฐมนตรีที่มานั่งกำกับมันสมองของชาติ จะมีกึ๋นหรือสติปัญญา เพื่อพัฒนาคนของชาติได้ดีไปกว่านโยบายประชานิยมที่เน้นวัตถุ เพื่อใช้งบประมาณแผ่นดินที่เป็นภาษีของประชาชน เพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่หากินบนความหยาดเหงื่อแรงงานและลำบากของพี่น้องร่วมชาติ ทุกครั้งที่ได้ฟังคำพูดสวยหรูอย่างปาฐกถา สุนทรพจน์ที่กล่าวคือ นโยบายการศึกษาหลายครั้งจากรัฐมนตรีที่ “ดีแต่พูด” “พูดมากกว่าทำ” “ท่าดีทีเหลว” และไม่รู้จริงมาบริหารการศึกษา โดยมักจะพูดว่า วิสัยทัศน์ของการศึกษาประเทศนี้ เป็น “ความฝัน” ที่ไม่มีวันเป็นจริง เพราะว่าไม่มีตนก็ไม่ “รู้จริง” และ ไม่“เอาจริงเอาจัง” กับคุณค่าของการสร้างคนผ่านการศึกษาของชาติ

ในพื้นที่ชนบทและรอบนอกอย่างเช่น 5 จังหวัดชายแดนปักษ์ใต้ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่แน่ใจว่ารัฐมนตรีกระทรวงแห่งปัญญา ได้รับทราบความเป็นอยู่และวิถีชีวิตทางการศึกษาของเยาวชนและประชาชนในพื้นที่มากน้อยเพียงใด สภาพปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนรอบนอก (ชานเมือง-ชนบท) กำลังประสบปัญหาไม่มีนักเรียน ไม่มีครู และไม่มีทรัพยากรทางการศึกษา สาเหตุมาจาก

1) ระบบการจัดการศึกษาของประเทศที่ล้มเหลวในการควบคุมคุณภาพการจัดการศึกษา ที่เน้นการประเมินผลการศึกษาแต่ใน “กระดาษ” มากกว่าชีวิตที่มีลมหายใจอยู่จริง

2) การศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐานการศึกษา (เพราะมาตรฐานการศึกษามีหลายระดับเกินไป ตามอำนาจ ฐานะทางเศรษฐกิจ การเงินและสภาพแวดล้อม รวมทั้งมาตรฐานการศึกษาที่ใช้ตัวตั้งของส่วนกลางของประเทศสั่งการ)

3) สภาพสังคมไทย ที่ค่านิยมว่า เรียนในเมือง มีราศี มีเกียรติมากกว่าโรงเรียนชนบท ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนเพราะการศึกษาแยกคนออกจากชุมชน

4) ระบบการประเมินคุณภาพการศึกษา เช่น สทศ. ที่จัดสอบผลสัมฤทธิ์ระดับชาติ ยังไม่สะท้อนสภาพผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง และสมศ. ที่ใช้เกณฑ์เดียว ทั้งประเทศ แต่ไม่ได้ดูพื้นที่สำหรับการประเมินความมีความแตกต่างกันเป็นอย่างไร เป็นต้น รวมทั้งความไม่ใส่ใจจากต้นสังกัดของสถานศึกษานับลงมาตั้งแต่ สำนักงานต่างๆ ระดับชาติที่ดูแลการศึกษา ไล่มาถึงระดับจังหวัด เขตพื้นที่ กลุ่มการศึกษา และเครือข่ายการศึกษา ซึ่งยังทำงานแบบสุกเอา เผากิน หาผลประโยชน์บนคนพวกเดียวกัน และ

5) ปัญหาที่ระบบการบริหารจัดการสถานศึกษาในชนบทหรือรอบนอก ที่ขาดการให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ต้องระดมทุนและทรัพยากรทางการศึกษาตามมีตามเกิด โดยวิธีทอดผ้าป่า เรี่ยไรเลี้ยงน้ำชา นับว่าเป็นวิกฤตของการจัดการศึกษา

หากจะพูดให้เสียงดัง ขอให้ฟังกันจริงจังและลงมือเอาจริงเอาจังกันเสียที อย่าให้ใครมานั่งกำกับกระทรวงปัญญานี้แล้ว สร้างปัญหานำพานโยบายขยะ มาสร้างความไร้คุณค่าให้แก่ทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งควรจะเป็นผู้สร้างและพัฒนาชาติของตนแทนคนรุ่นเก่าที่กำลังโรยรา ฉะนั้นสิ่งที่ควรคิดให้มาก และทำให้มาก คือการสร้างพลเมืองของชาติ ที่มีคุณค่า (คุณธรรมบวกคุณภาพ) เพื่อใช้ชีวิตร่วมประชาคมอาเซียนและโลก ที่ไร้พรมแดน เพราะหากขืนใช้นโยบายประชานิยมเชิงวัตถุนิยมกันอยู่ที่จะให้เป็น เช่น การให้แท็บเล็ต สำหรับเด็ก ป. 1 เป็นต้น ไม่รู้ว่า จะตอบโจทย์การแก้ปัญหาการศึกษาข้างต้นหรือไม่ หรือจะสร้างความพิการซ้ำซ้อนในระบบการศึกษาอีกทางหนึ่ง แปลกแต่จริงสำหรับนโยบายการศึกษาของรัฐในประเทศไทย ที่ใช้วัตถุนิยมในการสอนคน ต่างจากบิล เกตส์ มหาเศรษฐีของโลก เจ้าของไมโครซอฟท์ ที่กล่าวว่า หากจะลงทุนเรื่องการศึกษา เขาจะพัฒนาบุคลากรและครู เป็นอันดับแรก...
กำลังโหลดความคิดเห็น