xs
xsm
sm
md
lg

คกก.วิสามัญศึกษาฯ หารือ ศอ.บต. ผลักดันคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมภาคอื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันนี้ (24 พ.ค.) ที่ห้องประชุม OR ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ.สุขยางค์ เขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ผศ.วรวิทย์ บารู รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูการพัฒนาวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา พร้อมคณะฯ ได้เดินทางลงพื้นที่ เพื่อยื่นข้อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเจ้าหน้าที่จากกองการศึกษาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากกองการศึกษา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการเสนอแนวทางหลากหลายประเด็นในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า สำหรับในเรื่องการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญ เพราะทุกคนในพื้นที่เชื้อมั่นว่า การแก้ปัญหาระยะยาวต้องแก้ที่การศึกษา และศาสนา ก็ต้องเข้าใจว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอัตลักษณ์ และวัฒนธรรม ที่มีภาษาที่อยู่เฉพาะ ส่วนด้านการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ส่วนใหญ่คนในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม ก็ต้องเรียนด้านศาสนา ซึ่งสิ่งที่ต้องแก้ปัญหาร่วมกัน คือ การจัดการศึกษาจากเบื้องต้นเพียงอย่างเดียว คงจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด

สำหรับปัญหาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการตกเป็นจำเลยในเรื่องของการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ทุกยุคทุกสมัย ตนเองก็อยากเรียกร้องไปยังกระทรวงศึกษาธิการ ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่อยากจะให้มีกระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพัฒนา และยกระดับการศึกษาของนักเรียนในพื้นที่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ผศ.วรวิทย์ บารู รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูการพัฒนาวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา เปิดเผยว่า วันนี้ ทางคณะอนุกรรมาธิการพัฒนาการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและกฎหมาย ของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูการพัฒนาวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมประชุม และเสนอความคิดเห็นประเด็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเตรียมเข้าสู่เวทีประคมอาเซียนในปี 2558 เป็นประเด็นหลัก ซึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น เรื่องของบุคลากร หลักสูตร เวลาเรียน ซึ่งเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งสิ้น ในภาพรวมนั้น ต้องยอมรับก่อนว่า การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในมิติต่างๆ นั้น การที่จะเปลี่ยนความคิดเดิมๆ ในพื้นที่ หรือกระบวนทัศน์นั้น ถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง การแก้ไขปัญหาในพื้นที่คงจะเป็นไปได้ยาก

การศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน จะเอาพื้นที่คุณภาพการศึกษาในพื้นที่อื่นมาเปรียบเทียบก็คงจะยากลำบาก และต้องยอมรับว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีเรื่องของความยากจน เรื่องของพหุวัฒนธรรม ที่แตกต่างกัน และจะเห็นได้ว่าเป็นพื้นที่เดียวที่มีการศึกษา 2 ระบบ อย่างเข้มข้นในโรงเรียนเดียวกัน นั่นคือการศึกษาสายสามัญ และการศึกษาทางศาสนา ซึ่งทางคณะอนุกรรมาธิการมองว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาล ควรมีการจัดระบบการศึกษา 2 ระบบอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม มีการตราออกกฎหมายบังคับใช้ที่ถูกต้อง เพื่อที่จะเป็นทางเลือกใหม่ในการเปลี่ยนแปลง และแก้ไขการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งแนวทางและประเด็นนี้ ทางคณะอนุกรรมาธิการได้มีการยื่นข้อเสนอต่อ ศอ.บต.ส่งผ่านไปยังรัฐบาล

นอกจากนี้ ด้วยความคุ้นชิน โดยลักษณะของภูมิประเทศ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา เป็นจังหวัดที่พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ความได้เปรียบในเรื่องภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ในอนาคตอันใกล้ ปี 2558 เปิดประตูสู่อาเซียน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่พี่น้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเดินเข้าสู่เวทีประชาคมอาเซียนด้วยความเข้าใจ

ส่วนในเรื่องที่ 2 ที่ยื่นข้อเสนอคือ การให้ความสำคัญกับผู้นำศาสนาโต๊ะอิหม่าม บิหลั่น คอเต็บ ที่ทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องหลักการและแนวทางศาสนา ต่อภาครัฐและพี่น้องประชาชน นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง เมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา การเพิ่มค่าตอบแทนซึ่งทาง ศอ.บต.ได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ส่วนประเด็นที่ 3 คือ เรื่องของวัฒนธรรม คือ ทางคณะอนุกรรมกรรมาธิการต้องการให้ในแต่ละหมู่บ้าน มีการใช้ภาษามลายู อักษรยาวี ติดไว้ที่ป้ายชื่อของหมู่บ้าน เพื่อความเข้าใจของชาวบ้านในพื้นที่ จากที่เขียนผิด ความหมายผิด ก็ให้ถูกต้อง และในประเด็นสุดท้าย คือ เรื่องการบังคับใช้กฎหมายสำหรับพี่น้องชาวไทยมุสลิม นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่ เพราะว่าพื้นที่ส่วนใหญ่พี่น้องประชาชนนับถือศาสนาอิสลาม การร่าง พ.ร.บ.กฎหมายว่าด้วยข้อบังคับที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามนั้น

ทางสมาชิกวุฒิสภาที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้มีการนำร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 5 ฉบับ เข้าสู่ ครม.เพื่อพิจารณา และประกาศเป็นราชกฤษฎีกาใช้อย่างถูกต้อง แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล เกรงว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะไม่ได้รับการเสนอเพื่อพิจารณาประกาศใช้ อันเป็นผลให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่นับถือศาสนาอิสลาม ต้องเสียโอกาสตรงนี้ไป เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ซึ่งทางคณะอนุกรรมกรรมาธิการเห็นว่า ประเด็นทั้งหมดที่เสนอในวันนี้ ทาง ศอ.บต. จะนำเรื่องทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อให้รัฐบาลได้ร่วมพิจารณา แนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนต่อไป




พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.
ผศ.วรวิทย์ บารู รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูการพัฒนาวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น