xs
xsm
sm
md
lg

พบ “องค์ประกอบชีวิต” ในอุกกาบาตจาก “ดาวอังคาร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พื้นผิวดาวอังคารที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีองค์ประกอบพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตมานานแล้วตั้งแต่อดีตจากการค้นพบล่าสุด (บีบีซีนิวส์)
ตื่นเต้นอีกแล้ว! นักวิทย์สหรัฐฯ ศึกษาหินจากดาวแดงอายุกว่า 4 พันล้านปี พบองค์ประกอบขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ยืนยันไม่ได้ปนเปื้อนบนโลกแน่นอน สันนิษฐานเกิดจากภูเขาไฟระเบิดบนดาวอังคารมากกว่าเกิดจากสิ่งมีชีวิต ไม่ฟันธงเคยมีชีวิตเกิดขึ้นบนดาวอังคารหรือไม่ ฝากความหวังกับยาน “คิวริออซิตี” ค้นหาต่อไป

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกี (Carnegie Institution for Science) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.สหรัฐอเมริกา ศึกษาหินและอุกกาบาตจากดาวอังคาร จำนวน 10 ชิ้น อายุกว่า 4.2 พันล้านปี ซึ่งในจำนวนนี้มีก้อนอุกกาบาต “ทิสสินท์” (Tissint) ที่ตกลงกลางทะเลทรายในประเทศโมร็อกโก เมื่อปี 2554 ด้วย พบ “คาร์บอนรีดิวซ์” (reduced carbon) ซึ่งเป็นหน่วยของธาตุคาร์บอนที่สามารถสร้างพันธะเคมีกับธาตุไฮโดรเจน หรือธาตุคาร์บอนด้วยกันเองได้ และถือเป็นองค์ประกอบขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต สร้างความตื่นเต้นในวงการนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาดาวแดง

บีบีซีนิวส์รายงานว่า ผลงานวิจัยดังกล่าวนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร “ไซน์” (Science) เมื่อไม่นานมานี้ โดยนักวิจัยยืนยันว่า คาร์บอนรีดิวซ์ที่พบในหินจากดาวแดงที่นำมาศึกษานั้นไม่ได้เกิดจากการปนเปื้อนบนโลกอย่างแน่นอน และผลจากการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า คาร์บอนรีดิวซ์ในหินที่พบนั้นไม่ได้มาจากสิ่งมีชีวิต หากแต่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟบนดาวแดง และสรุปได้ว่าบนดาวอังคารนั้นมีองค์ประกอบของสารเคมีอินทรีย์มานานแล้ว

ดร.แอนดรูว์ สตีล หัวหน้าทีมวิจัยได้ให้สัมภาษณ์แก่บีบีซีนิวส์ ว่า ในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหาแหล่งของคาร์บอนรีดิวซ์บนดาวอังคารว่ามันมีอยู่ที่ไหนบ้าง หากที่ไหนมีคาร์บอนรีดิวซ์ ที่นั่นอาจมีชีวิตดำรงอยู่ก็เป็นได้

“หากปราศจากคาร์บอนแล้ว องค์ประกอบพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตก็เกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งเมื่อคาร์บอนรีดิวซ์รวมตัวกับไฮโดรเจน, ออกซิเจน หรือไนโตรเจน ก็จะเกิดเป็นโมเลกุลของสารอินทรีย์ที่พบได้ในสิ่งมีชีวิต” ดร.สตีล อธิบาย

“งานวิจัยนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า มีคาร์บอนรีดิวซ์อยู่บนดาวอังคารจริง ซึ่งตอบคำถามแรกในข้อสงสัยของพวกเรา และตอนนี้เราก็กำลังก้าวเข้าสู่คำถามข้อถัดไป คือ เกิดอะไรขึ้นกับมัน ผลลัพธ์ของมันคืออะไร และถัดจากนี้ไปคือการก่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารใช่หรือไม่?” ดร.สตีล เผยถึงข้อสงสัยที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ต้องการค้นหาคำตอบกันต่อไป

หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์คาเนกีแสดงความคาดหวังว่า ภารกิจถัดไปในการลงจอดบนดาวอังคารของยาน “คิวริออซิตี” (Curiosity) หรือยานห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ดาวอังคาร หรือ เอ็มเอสแอล (Mars Science Laboratory : MLS) ที่องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ส่งไปสำรวจดาวอังคารเมื่อปลายเดือน พ.ย.54 จะช่วยไขปริศนาที่ยิ่งใหญ่นี้ได้ โดยยานนี้จะใช้เวลาประมาณ 8 เดือนครึ่ง ในการเดินทางจากโลกไปยังดาวอังคาร

คำถามที่ว่า “เราอยู่อย่างโดดเดี่ยวในจักรวาลหรือไม่?” เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญต่อวิทยาศาสตร์ ทว่ามันเกี่ยวโยงกับการย้อนกลับไปค้นหาต้นกำเนิดของเราบนดาวเคราะห์ดวงนี้ด้วย ซึ่งหากไม่มีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารแล้ว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มันจะทำให้เราอธิบายได้ดียิ่งขึ้นถึงการมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แทนการสันนิษฐานลอยๆ” ดร.สตีล กล่าวทิ้งท้าย
ยานคิวริออซิตีซึ่งถูกส่งขึ้นไปเมื่อปลายปีที่แล้ว จะไปถึงดาวอังคารในเดือนหน้า (บีบีซีนิวส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น