xs
xsm
sm
md
lg

วิวอัศจรรย์! บน “ดาวอังคาร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิวพาโนรามาบนดาวอังคารที่ประกอบขึ้นจากภาพ 817 ภาพ ซึ่งบันทึกโดยยานออพพอร์จูนิตี (นาซา/สเปซด็อทคอม)
นาซาเผยภาพพาโนรามาอันน่าอัศจรรย์ของ “ดาวอังคาร” บันทึกโดยยาน “ออพพอร์จูนิตี” ที่สำรวจพื้นผิวดาวแดงมานานกว่า 8 ปี โดยเผยมุมมอง 360 องศาของจุดที่ยานหยุดนิ่งตลอดหน้าหนาวของดาวเคราะห์เพื่อนบ้าน

ภาพพาโนรามาของดาวอังคารที่องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยออกมาล่าสุดนี้ สเปซด็อทคอมระบุว่า เป็นภาพประติดประต่อจากภาพ 817 ชิ้นที่ยานออพพอร์จูนิตี (Opportunity) บันทึกไว้ระหว่าง 21 ธ.ค.2011- 8 พ.ค.2012 ขณะยานจอดนิ่งใกล้ๆ จุดที่เรียกว่า “กรีลีย์ ฮาเวน” (Greeley Haven) ตลอดฤดูหนาวของดาวอังคาร

จิม เบลล์ (Jim Bell) จากมหาวิทยาลัยอาริโซนาสเตท (Arizona State University) ในเทมพี สหรัฐฯ และเป็นหัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้ดูแลระบบบันทึกภาพของกล้องแพนแคม (Pancam) ที่ติดตั้งบนยานออพพอร์จูนิตี กล่าวว่าภาพดังกล่าวแสดงถึงสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยาที่ให้รายละเอียดทางด้านเคมีและข้อมูลเกี่ยวกับแร่

ภาพที่เผยออกมานี้ยังแสดงหลุมอุกกาบาตใหญ่ที่สุดบนดาวอังคารที่ยานออพพอร์จูนิตีได้ขับไปสำรวจแล้ว ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์ได้สั่งบันทึกภาพนี้ระหว่างฤดูหนาวรอบที่ 5 บนดาวอังคารของยานออพพอร์จูนิตี โดยภาพที่ได้เป็นเหมือนการต่อจ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ให้ออกมาเป็นภาพขนาดมหึมา ซึ่งนอกจากภาพทิวทัศน์แห้งๆ แล้วยังมีร่องรอยล้อและแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของยานด้วย

อย่างไรก็ดี ภาพสีแดงหลายเฉดแซมด้วยสีน้ำเงินประปรายนี้ เจ้าหน้าที่นาซาอธิบายว่าเป็นภาพที่แต่งสีขึ้นตามชนิดวัสดุต่างๆ ในภาพ

สำหรับกรีลีย์ฮาเวนนั้นเป็นหินที่โผล่ออกมาบริเวณขอบของหลุมเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ขนาดใหญ่ ซึ่งหลุมดังกล่าวคือเป้าหมายหลักในการสำรวจดาวอังคารของยานออพพอร์จูนิตีมาตั้งแต่เดือน ส.ค.2011 โดยชื่อของหินดังกล่าวนั้นตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ โรนัลด์ กรีลีย์ (Ronald Greeley) นักวิทยาศาสตร์ดาวอังคารผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1939-2011 และเป็นสมาชิกทีมของปฏิบัติการ รวมถึงสอนด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างดวงดาวที่มหาวิทยาลัยอาริโซนาสเตท

“รอน กรีลีย์ เป็นมิตรรักและเพื่อนร่วมงานที่ดี และภาพนี้ได้เก็บวิวของเนินทรายและกองดินที่ลมพัดพามา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้รอนหลงรักดาวอังคาร” สตีฟ สไควเรส (Steve Squyres) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) ในอิธาคา นิวยอร์ก สหรัฐฯ และเป็นผู้ตรวจการหลักในโครงการออพพอร์จูนิตีและสปิริตกล่าว

ทั้งนี้ นาซาได้ส่งยานออพพอร์จูนิตีและสปิริต (Spirit) ยานน้องไปดาวอังคารด้วยภารกิจเบื้องต้นที่กำหนดไว้เพียง 90 วัน แต่ยานทั้งสองก็ปฏิบัติภารกิจได้ยาวนานกว่าที่ระบุไว้ โดยยานสปิริตได้ทำการสำรวจหลุมกูเซฟ (Gusev Crater) ซึ่งเป็นจุดลงจอดของยาน จนกระทั่งจมอยู่ยนพื้นทรายของดาวอังคาร และนาซาได้ประกาศสิ้นสุดปฏิบัติการของยานสปริตในเดือน พ.ค.2011

ส่วนยานออพพอร์จูนิตีก็ยังคงเดินหน้าขุดผิวดาวอังคารมาสำรวจ และเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมาออพพอร์จูนิตีก็ปฏิบัติหน้าที่ครบ 3,000 วันดาวอังคาร (Martian day) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ในภารกิจนี้เรียกวันบนดาวอังคารที่ยาวนานไม่เท่ากับวันบนโลกว่า “ซอล” (sol) และนับแต่ลงจอดบนพื้นดาวอังคารยานออพพอร์จูนิตีก็ขับสำรวจดาวแดงเป็นระยะทั้งสิ้น 34.4 กิโลเมตร แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น