xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวเยาวชนไทยตัวแทนแข่งผลงานวิทยาศาสตร์ Intel ISEF 2012

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวพรวิมล เสียบบำรุง จากโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ กับโครงงานการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของกิ้งกือในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
อินเทล- เปิดตัวนักเรียนไทย 9 คนที่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมงานประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ หรือ อินเทล ไอเซฟ ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองพิตส์เบิร์ก มลรัฐเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา วันที่ 13-18 พ.ค.นี้

นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อินเทล ไอเซฟ (Intel ISEF) เป็นเวทีการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับนานาชาติของอินเทล ที่มีความสำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับนักเรียนไทย เพราะเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงทักษะที่ล้ำเลิศ และทำงานร่วมกับเพื่อนๆ เพื่อนำเสนอนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดและแข่งขันกับนักเรียนชาติอื่นๆ บนเวทีระดับโลก

“สำหรับปีนี้ครบรอบปีที่ 12 ที่อินเทลสนับสนุนเด็กไทยในการเข้าร่วมประกวดผลงานในงาน อินเทล ไอเซฟ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นโครงการที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นของเราในการส่งเสริมและพัฒนานักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์รุ่นใหม่ๆ ให้กับประเทศและโลกของเราอย่างต่อเนื่อง” นายเอกรัศมิ์ กล่าว

ผลงานของนักเรียนไทยในปีนี้มีทั้งหมด 5 โครงงาน ที่ได้รับคัดเลือกส่งเข้าร่วมประกวดในงานอินเทล ไอเซฟ ประกอบด้วย โครงงานสาขาสัตววิทยา 3 โครงงาน รวมถึงสาขาคณิตศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมอีกสาขาละหนึ่งโครงงาน สำหรับหัวข้อของผลงานที่ส่งประกวดเป็นกลุ่ม ได้แก่ การศึกษาบทบาทของหอยทากในสวนยางพารา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการผลิตยางพาราในประเทศไทย, การทำอัญมณีเทียมจากเถ้าลิกไนต์ และเถ้าไม้มะขาม ซึ่งสามารถนำไปต่อยอด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้ และโครงงานในสาขาคณิตศาสตร์ที่มุ่งคิดค้น เพื่อนำทฤษฎีอัลกอริธึมมาประยุกต์ใช้กับ theta graphs ทุกประเภท

นอกจากนี้ ยังมีโครงงานที่ส่งเข้าประกวดประเภทเดี่ยว อีก 2 โครงงาน ซึ่งเน้นศึกษาในสาขาสัตววิทยา ได้แก่ ผลงานของ นายกิตติ์ธเนศ ธนรุ่งโรจน์ทวี จากโรงเรียนกันทรารมณ์ จังหวัดศรีสะเกษ นำเสนอในหัวข้อ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการย่อยสลายอาหารของมดแดงกับคุณค่าทางโภชนาการในไข่มดแดง เนื่องจากไข่มดแดงจัดเป็นอาหารที่ราคาแพง และได้รับความนิยมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ดังนั้น การศึกษาโครงงานนี้จะช่วยตอกย้ำถึงความสำคัญของการทำฟาร์มมดแดง ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งโปรตีนทางอาหารที่สำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งรายได้ของชาวนาในชนบท และช่วยลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศอีกด้วย สำหรับอีกหนึ่งโครงงาน คือ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความหลากหลายทางชีวภาพของกิ้งกือต่อการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่หน้าดิน ของ น.ส.พรวิมล เสียบบำรุง จากโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ จังหวัดนครสวรรค์

นักเรียนที่เข้าร่วมในงานประกวดครั้งนี้ เดินทางมาจากทั่วโลกเพื่อนำผลงานมาร่วมประกวดในหลากหลายสาขา อาทิเช่น สัตววิทยา วิยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมศาสตร์ พลังงานและการขนส่ง การจัดการสิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ในปีนี้ มีนักเรียนได้รับคัดเลือกผ่านเข้ารอบสุดท้ายจากการประกวดต่างๆ กว่า 443 งานทั่วโลก เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศในการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในงานอินเทล ไอเซฟ

ผลงานต่างๆ เหล่านั้นจะได้รับการพิจารณาและให้คะแนนจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับวุฒิดุษฎีบัณฑิต หรือเทียบเท่ากว่า 100 คน ที่มีประสบการณ์การทำงาน ที่ช่ำชองในสาขาวิทยาศาสตร์กว่า 6 ปี อินเทล ไอเซฟ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนร่วมกันระหว่างบริษัท อินเทลและมูลนิธิอินเทล รวมถึงหน่วยงานเอกชน องค์กรทางการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ อีกหลายหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์

สำหรับการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติของอินเทล หรือ อินเทล ไอเซฟ (Intel ISEF) เป็นการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ระดับโลกสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเป็นเวทีที่ชุมนุมของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาจากประเทศต่างๆ กว่า 1,500 คน จาก 65 ประเทศ ทวีป และส่วนการปกครองต่างๆ ทั่วโลก เพื่อมานำเสนอผลงานการค้นคว้าของตนเอง

การประกวดอินเทล ไอเซฟ นับเป็นการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3-6 จากจุดเริ่มต้นของการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ในระดับประเทศ ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรก โดยสมาคมเพื่อวิทยาศาสตร์และสาธารณะ (Society for Science & the Public: SSP) หรือมีชื่อเดิมว่า องค์กรบริการวิทยาศาสตร์ (Science Service) เมื่อปี พ.ศ.2493 และขยายสู่การแข่งขันระดับนานาชาติ โดยมีประเทศญี่ปุ่น แคนนาดา และเยอรมนี เข้าร่วมการแข่งขันในปี พ.ศ.2501

ปัจจุบัน มีนักเรียนกว่าล้านคนเข้าร่วมการประกวดในแต่ละปีจะต้องผ่านการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ในระดับท้องถิ่น หรือในโรงเรียนที่สนับสนุนให้จัดประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์ ผู้ชนะในการแข่งขันจะได้รับคัดเลือกให้ร่วมเข้าแข่งขันในการประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอินเทลเป็นผู้สนับสนุน ไม่ว่าจะในระดับมลรัฐ หรือภูมิภาค หลังจากนั้น ผู้ชนะจึงได้รับโอกาสพิเศษเพื่อเข้าร่วมการประกวดอินเทล ไอเซฟ ต่อไป

งานอินเทล ไอเซฟ เป็นเวทีชุมนุมดาวเด่นของนักวิทยาศาตร์รุ่นเยาว์ จากทั่วทุกมุมโลก เพื่อแสดงความสามารถบนเวทีระดับสากล และนำเสนอผลงานสู่สายตาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับวุฒิดุษฏีบัณฑิต ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ และเป็นโอกาสอันดีเพื่อชิงรางวัลและทุนการศึกษามูลค่ารวมกว่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

SSP ได้ร่วมกับอินเทล พร้อมด้วยหน่วยงานเอกชน องค์กรทางการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ อีกหลายหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เป็นผู้สนับสนุนหลักในการจัดการประกวดและมอบทุนการศึกษาสำหรับงานอินเทล ไอเซฟ 2012 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองพิตส์เบิร์กในปีนี้ และจะมีการขยายการสนับสนุนไปจนถึงปี 2019
นายธีรภัทร สัจจาลักษณ์ และนายสตวัตร อธิปัญญาพันธ์ จากโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง กับโครงงานการทำอัญมณีจากเถ้าลิกไนต์และเถ้าไม้มะขาม
(จากซ้ายไปขวา) นายจตุพร ฉวีภักดิ์ นายณัฐพงศ์ ชิณรา และนางสาวนันทากานต์ ล่องโลด จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา         นายวรภัทร ภัทรธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์           บริษัท อินเทลไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด           นายวรฐ ภควัตสุนทร และ นายกานต์อิ่มวัฒนา จาก โรงเรียน   เตรียมอุดมศึกษาวิทยา และนาย กิตติธเนศน์  ธนรุ่งโรจน์ทวี จากโรงเรียนกันทรารมณ์
โครงงานกลุ่ม เรื่องการศึกษาบทบาทของหอยทากในสวนยางพารา โดยนายณัฐพงศ์ ชิณรา นายจตุพร ฉวีภักดิ์ และนางสาวนันทากานต์ ล่องโลด จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น