เดิมกลุ่มเกษตรกรโคนมในมวกเหล็กได้พยายามเก็บข้อมูลโคนมเพื่อคัดหา “พ่อพันธุ์” ที่ดี โดยติดตามลูกๆ ว่าให้นมมากน้อยแค่ไหนเพื่อนำมาประเมินศักยภาพวัวตัวผู้ที่เป็นต้นพันธุ์ แต่วิธีดังกล่าวต้องใช้เวลานาน 7-8 ปี และยังมีความแม่นยำเกิน 50% เพียงเล็กน้อย จึงเกิดความร่วมมือของหน่วยงานวิจัยและ อ.ส.ค.เพื่อนำเทคนิคการหาจีโนมมาช่วยในการประเมินศักยภาพของพ่อพันธุ์โคนม
ทั้งนี้ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้มีความร่วมมือในโครงการร่วมวิจัยการพัฒนาระบบประเมินความสามารถทางพันธุกรรมจีโนมของโคนมในประเทศไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำเทคโนโลยีทางด้านพันธุกรรมมาใช้ประเมินศักยภาพทางพันธุกรรมในปศุสัตว์
นายสุวรัจน์ หงษ์ยันตรชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า อ.ส.ค.มีความร่วมมือกับ มก.ในเรื่องงานวิจัยมาตั้งแต่ปี 2539 ทั้งการวิจัยอาหารสัตว์ การวิจัยเกี่ยวกับเลี้ยง การรักษาโรค แต่ที่โดดเด่นคือการทำประวัติพ่อพันธุ์โคนมเพื่อประเมินว่าจะเป็นพ่อพันธุ์ที่ให้ลูกผลิตนมได้ดีแค่ไหน ที่เรียกว่า “ค่าการผสมพันธุ์โคนมเพศผู้” (Sire Summary)
วิธีการทำประวัติของ อ.ส.ค.คือการคัดแม่วัวที่ให้นมมากที่สุดของแต่ละฟาร์มในเครือข่าย จากนั้นให้ข้อเสนอแก่ฟาร์มในการผสมเชื้อพ่อพันธุ์ให้ เมื่อได้ลูกเป็นตัวผู้ก็จะนำเลี้ยง แล้วรีดน้ำเชื้อเพื่อขยายพันธุ์ต่อให้ได้ลูกวัว 2,000 ตัว จากนั้นติดตามว่าลูกวัวของพ่อพันธุ์ผสมนี้จะให้นมได้ดีหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบประวัติการให้นมของวัวรุ่นลูกแล้วก็จะประเมินได้ว่าวัวตัวผู้ตัวนั้นเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีหรือไม่ แต่ถ้าผสมแล้วได้ลูกวัวตัวเมียก็จะยกให้แก่เจ้าของฟาร์ม
อย่างไรก็ดี วิธีดังกล่าวใช้เวลานาน 7-8 ปี กว่าจะทราบว่าวัวที่ขยายพันธุ์ไปนั้นเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีหรือไม่ ทาง ผศ.ดร.ศกร คุณวิฒิฤทธิรณ จากภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงเสนอวิธีนำจีโนมมาประเมินความสามารถทางพันธุกรรมของโคนม โดยทีมวิจัยจะนำเลือดของวัวพ่อพันธุ์ที่ดีที่สุดของเกษตรกรมาวิเคราะห์ดีเอ็นเอกว่า 3,000 ตำแหน่ง แล้วนำข้อมูลมาย้อนดูว่ายีนใดที่สัมพันธ์กับการให้นมสูง
จากนั้นสร้างเป็นแบบจำลองเพื่อใช้ตรวจสอบลูกวัวว่ามีแนวโน้มเป็นพ่อพันธุ์ที่ดีหรือไม่ ซึ่งจะมีความแม่นยำประมาณ 70-80% โดยแม่นยำกว่าแบบจำลองเดิมจากเดิมที่ประเมินจากลักษณ์ภายนอกและมีความแม่นยำเพียง 58% เท่านั้น
สำหรับเทคโนโลยีนี้ ผศ.ดร.ศกรกล่าวว่ามีใช้ในสหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศสและประเทศในแถบยุโรปมาก่อน แต่ยังเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในขั้นตอนการวิจัยเช่นเดียวกัน และต่างประเทศมีการแข่งขันกันในเรื่องนี้มากเพราะเฉลี่ยแต่ละฟาร์มมีวัวนมมากถึงฟาร์มละ 1,000 ตัว ขณะที่ฟาร์มในไทยมีวัวเฉลี่ยเพียงฟาร์มละ 10 ตัวเท่านั้น
โครงการความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานนี้จะใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี โดยใช้งบประมาณ 6.3 ล้านบาท