สวทช.จับมือ “เจียไต๋” ทำโครงการถอดจีโนมแตงกวาสายพันธุ์ไทย เพื่อค้นหาตำแหน่งยีนต้านทาน “ราน้ำค้าง” ศัตรูสำคัญทำลายผลผลิต เพื่อพัฒนาเมล็ดพันธุ์ต้านทานโรค โดยลงทุน 3 ล้านบาท เพื่อให้นักวิจัย ม.เกษตรพัฒนาแผนที่จีโนมและหาตำแหน่ง “ยีนมาร์กเกอร์” ระบุ ต้นพันธุ์ที่ควรนำไปผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายต่อไปภายใน 3 ปี และบริษัทเมล็ดพันธุ์รับสิทธิ 1 ปีก่อนเปิดสู่สาธารณะ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัท เจียไต๋ จำกัด ทำโครงการร่วมวิจัยสร้างแผนที่จีโนม และค้นหาตำแหน่งยีนต้านทานโรคราน้ำค้างในแตงกวา โดยทีมนักวิจัยจากภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) รับผิดชอบในการทำวิจัยดังกล่าว ทั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ตามเป้าหมายของคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์ สวทช.ที่ต้องการเพิ่มบทบาทในการพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ของไทยเอง พร้อมกับมีเครื่องหมายการค้าของประเทศไทย
วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย สวทช. กล่าวว่า โรคราน้ำค้างนั้น เป็นศัตรูสำคัญในการผลิตแตงกวา ซึ่งเป็นหนึ่งในพืชเด่นของบริษัทเจียไต๋ โดยราน้ำค้างจะสร้างความเสียหายแก่แตงกวา 100% ด้วยการสร้างเส้นใยปกคลุมใบจนต้นแตงกวาเหี่ยวแห้ง ไม่สามารถสังเคราะห์แสงและตายในที่สุด จึงเกิดเป็นความร่วมมือนี้ขึ้น โดยใช้งบวิจัยประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งทาง สวทช.สนับสนุนทุนวิจัย 2.1 ล้านบาทในจำนวนนี้รวมค่าใช้จ่ายในการศึกษาของนิสิตปริญญาเอกในโครงการวิจัย และเจียไต๋สนับสนุนทุนวิจัย 8 แสนบาท ส่วน มก.สนับสนุนทีมวิจัยและเครื่องมือวิจัย
ทางด้าน ดร.ชัชวาล จันทราสุริยารัตน์ หนึ่งในทีมวิจัยทำแผนที่จีโนมและค้นหาตำแหน่งยีนต้านทานโรคราน้ำค้างกล่าวว่า ระยะเวลาในการทำวิจัยทั้งหมด 3 ปี โดย 1.5 ปีแรก จะเป็นการสร้างประชากรของแตงกวาพันธุ์ไทย โดยคัดเลือกแตงกวาทั้งจากพ่อแม่พันธุ์ที่ต้านทานต่อโรค และพ่อแม่พันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคอย่างสิ้นเชิง จากนั้นใช้เครื่องหมายโมเลกุลสร้างแผนที่จีโนม เพื่อค้นหายีนและตำแหน่งยีนที่ต้านทานราน้ำค้าง
“ประโยชน์ของงานวิจัยนี้ คือ ได้เครื่องหมายโมเลกุลที่เร่งก่ารพัฒนาพันธุ์แตงกวาต้านทานราน้ำค้างได้เร็วขึ้น และต่อยอดสู่การทำแผนที่จีโนมแตงกวาไทย เพื่อศึกษาลักษณะดีอื่นๆ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในอนาคต” ดร.ชัชวาล กล่าว
ส่วน นายมนัส เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการ บริษัท เจียไต๋ จำกัด กล่าวว่า เจียไต๋พยายามพัฒนาและมุ่งเน้นเรื่องนวัตกรรมและการพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาและขจัดอุปสรรคการปลูกให้แก่เกษตรกรและตอบโจทย์ผู้บริโภคมาตลอด และบริษัทได้เห็นถึงปัญหาของโรคราน้ำค้างในแตงกวา ที่สร้างความเสียหายแก่ผู้ปลูกแตงกวามากที่สุด จึงได้ร่วมมือกับ สวทช.และ มก.ทำโครงการวิจัยนี้ขึ้น และจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยแข่งขันได้อย่างยั่งยืนและก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์เขตร้อนของเอเชีย
ทางด้าน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวว่า ผลจากการวิจัยรี้จะเป็นสิทธิบัตรของ 3 หน่วยงาน ดดยในช่วง 1 ปีแรกที่งานวิจัยแล้วเสร็จทางเจียไต๋จะได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์แตงกวาปลอดโรคก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะต่อไป และ ผอ.สวทช.ยังคาดหวังว่าอนาคตอยากให้เจียไต๋นำเทคโนโลยีเดียวกันนี้ไปใช้กับพืชเด่นอื่นๆ ของบริษัทต่อไป คือ เมลอน แตงโม พรก มะเขือเทศ และ ฟักทอง
“ไทยได้ชื่อเสียงว่าเป็นเจ้าพ่อการผลิตแตงกวา เมื่อเอกชนมีรายได้ ประเทศชาติก็จะได้ภาษี” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับจากโครงการนี้