xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟ จับมือ สวทช. วิจัยพัฒนาด้านเกษตรและอาหาร หวังแข่งขันในตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ซีพีเอฟ จับมือ สวทช. วิจัยพัฒนาด้านเกษตรและอาหาร ย้ำภาพความปลอดภัยในอาหาร โดยจะให้ความสำคัญกับผู้บริโภคเป็นหลัก หวังผลักดันให้อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ของประเทศ สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

นายวีรชัย รัตนบานชื่น รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรและอาหาร กับ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีกรอบระยะเวลาความร่วมมือ 5 ปี โดยมุ่งเน้นที่เทคโนโลยีสำหรับควบคุมป้องกันโรคระบาดสัตว์ และแนวทางลดการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในอาหาร ด้วยการวิเคราะห์ความเสี่ยงของเชื้อโรคต่างๆ ที่สามารถปะปนเข้ามากับกระบวนการเลี้ยงสัตว์ตลอดเส้นทาง เพื่อขยายขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าแบรนด์ซีพีในตลาดโลก ณ อาคารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

นายวีรชัย เปิดเผยว่า ซีพีเอฟในฐานะผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ผลิตอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ที่ตระหนักถึงความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety) ตลอดกระบวนการผลิต และให้ความสำคัญกับผู้บริโภคเป็นหลัก โดยนอกจากส่วนของภาคการผลิตแล้ว งานวิจัยและพัฒนานับว่าเป็นเบื้องหลังความสำเร็จในการสนับสนุนให้ซีพีเอฟเติบโตได้อย่างยั่งยืน มีการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานสากล ตลอดจนพัฒนาสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค

“ซีพีเอฟ และ สวทช. ได้ร่วมมือกันเพื่อทำการศึกษาวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตของบริษัทแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาความเชี่ยวชาญ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับบุคลากรของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้ซีพีเอฟสามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นครัวของโลกได้อย่างแน่นอน”

ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือกับซีพีเอฟในครั้งนี้ นับเป็นนิมิตหมายที่ดีในการยกระดับการวิจัยและพัฒนาเชิงบูรณาการร่วมกับภาคการผลิตโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ ซึ่งนอกจากช่วยเพิ่มสมรรถภาพการผลิตสัตว์แล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยอาหารให้กับผู้บริโภค ผลักดันให้อุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ของประเทศสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ทั้งนี้ สวทช. มีพันธะกิจหลักในการสร้างความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จึงกำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนา “คลัสเตอร์เกษตรและอาหาร” ขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดความสูญเสียจากปัจจัยต่างๆ ช่วยยกระดับคุณภาพความปลอดภัย และสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าภาคเกษตรและอาหารของประเทศ โดยอาศัยกลยุทธ์สร้างความร่วมมือกับพันธมิตร และบริหารจัดการเชิงบูรณาการกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยที่ชัดเจน ร่วมสนับสนุนการวิจัยที่นำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น