xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย ปชช.ตอ.ยื่นข้อเรียกร้องพร้อมแจ้งความดำเนินคดีผู้ว่าฯ กนอ.-บีเอสที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกนำต้นกล้วยมอบต่อผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อให้นำไปปลูกหน้าการนิคมฯมาบตาพุด สำหรับทำแนวป้องกันสารเคมีจากโรงงาน ขณะเดียวกันยังมอบหนังสือขอเรียกร้อง 9 ข้อ พร้อมแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งโรงงานต้นเหตุของการระเบิดและเพลิงไหม้ จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (12 พ.ค.55) นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก พร้อมด้วยอาจารย์เรณู เวชชรัตน์พิมล และสมาชิกเครือข่ายกว่า 50 คน ได้ช่วยกันขนต้นกล้วยจำนวนหลายสิบต้น นำไปมอบให้กับ ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เพื่อนำไปปลูกเป็นแนวป้องกันสารพิษจากโรงงาน โดยมี ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพีระวัฒน์ รุ่งเรืองศรี รองผู้ว่าการฯ พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง และกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบจลาจลจำนวน 30 นาย รอรับที่หน้าสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง

นอกจากนี้ นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ยังได้ยื่นหนังสือต่อ ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกรณีเหตุระเบิดและเกิดเพลิงไหม้บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด จนมีผู้เสียชีวิต 11 ราย ผู้บาดเจ็บ 142 ราย รวมทั้งเกิดก๊าซรั่วในโรงงานบริษัท อดิตายาเบอร์ล่า เคมีคัลส์(ประเทศไทย)จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บนับร้อยราย ซึ่งเครือข่ายฯ ได้เสนอมาตรการเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืนดังนี้

1.ให้เปิดเผยข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างโปร่งใสต่อสาธารณชน เช่น จำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นจริง 2.ให้รัฐบาลและโรงงานอุตสาหกรรม นำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553 - 2557 มาบังคับใช้

3.ฟื้นฟูและบำบัดเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพและสังคม 4.สร้างระบบเรื่องการชดเชยเยียวยาอย่างระบบและเป็นธรรม รวมทั้งการชดเชยสวัสดิการแก่กลุ่มประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ใช้ในการดับเพลิงเหตุการณ์ระเบิดและเพลิงไหม้ ที่ไหลลงสู่ทะเล

5.ดำเนินคดีหน่วยงานที่กระทำผิดฐานละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 6.จัดทำประกาศผังเมืองรวมอย่างมีประสิทธิภาพ จัดทำแนวกันชนและแนวป้องกัน 7.จัดทำบัญชีการครอบครองวัตถุอันตราย บัญชีการระบายมลพิษ และแจ้งข้อมูลให้ประชาชน หน่วยงานสาธารณสุขรับทราบ

8.เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการไตรภาคี ชุดที่เข้าตรวจสอบโรงงาน และภาระหน้าที่ต่อสาธารณะชนและ 9. ทบทวน ระงับ นโยบายการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมและนอกนิคมฯ

ด้านนายจัตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ ประธานชมรมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จังหวัดระยอง กล่าวว่า กรณีเหตุการณ์ระเบิดของบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด ที่ได้มีฝนตกลงมาอย่างหนักในวันเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้น้ำที่ใช้ฉีดดับเพลิงสารเคมี ได้รั่วไหลออกมานอกโรงงาน และไหลลงสู่ทะเล ส่งผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านเรือเล็ก ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลง สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมง ตลอดจนความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในอาหารทะเลจังหวัดระยอง

ขณะที่หน่วยงานอิสระที่ตั้งขึ้นมาโดยภาครัฐ ไม่ให้ความสำคัญกับชาวประมงพื้นบ้านเรือเล็ก ซึ่งชาวประมงต้องการให้มีการแก้ไข พร้อมชดเชยความเสียหายและเร่งฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลโดยด่วน

เช่นเดียวกับอาจารย์เรณู เวชชรัตน์พิมล ที่เรียกร้องให้มีการเปิดเผยปริมาณสารโทลูอีนที่นำมาใช้สำหรับล้างถัง และสารเคมีที่ยังคงสต๊อกว่ามีสารใดบ้าง

"ดิฉันเชื่อว่าเราไม่สามารถจะสื่อสารให้คนทั่วประเทศรวมไปถึงนานาชาติทราบได้ว่าประเทศไทย ได้ทำงานอย่างไม่มีมาตรฐาน ดิฉันคิดว่ามาตรฐานของโรงงานที่เกิดอุบัติเหตุ จะต้องมีการรายงานข้อมูลที่แท้จริงว่าสารเคมีที่ไหม้ไฟมีสารเคมีอะไรบ้าง และระบบการจัดการต่างๆจะทำอย่างไร เรื่องนี้อยากให้การนิคมอุตสาหกรรมเอาใจใส่ และเปิดเผยข้อเท็จจริง เพื่อให้กรณีที่เกิดขึ้นของโรงงานแห่งนี้เป็นบทเรียนให้กับโรงงานอื่น ซึ่งจะทำให้การนิคมฯ ปกครองง่ายขึ้น และเรียกร้องเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องแรงงาน หามาตรการให้ความรู้กับคนงาน ว่ากำลังทำงานกับสารเคมี ประเภทใด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ “อาจารย์เรณู กล่าว

ขณะที่ ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าหนังสือที่ได้รับนั้น บางข้ออยู่ในอำนาจที่สามารถทำได้ทันที แต่บางข้อเป็นเรื่องในเชิงนโยบายที่จะต้องประสานกับหน่วยงานภาครัฐ โดยจะนำเรื่องดังกล่าว เสนอผ่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งในหลายข้อตรงใจนายกรัฐมนตรีที่ได้สั่งการไปแล้วว่าในพื้นที่จะต้องทำอะไรร่วมกันบ้าง

สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่เป็นข้อเรียกร้อง คือ การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบขบวนการไตรภาคี ซึ่งตนรับที่ดำเนินการ พร้อมประสานกับทางจังหวัดต่อไป

หลังจากนั้นผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ยังได้ยื่นหนังสือแจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ผู้อำนวยการสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และผู้อำนวยการ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ฐานละเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าทำให้เกิดความสูญเสียและความเสียหาย ตามมาตรา 157 รวมทั้งแจ้งความดำเนินคดีกับบอร์ดผู้บริหาร และผู้รับผิดชอบบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด

และบริษัท อดิตยาเบอร์ล่า เคมีคัล(ประเทศไทย) จำกัด เหตุประมาททำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยมี พล.ต.ต.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง เป็นผู้รับหนังสือแจ้งความ

พล.ต.ต.ปรีชา กล่าวว่า จะดำเนินการสอบสวนให้เรียบร้อย และจะไม่ปล่อยให้เรื่องดังกล่าวผ่านไป โดยใครผิดจะต้องว่าไปตามผิด และขอยืนยันว่าตำรวจจะทำงานอย่างเต็มที่


กำลังโหลดความคิดเห็น