กรมวิทยาศาสตร์บริการ - “ศูนย์เชี่ยวชาญด้านแก้ว” เปิดให้บริการวิเคราะห์ทดสอบภาชนะแก้วบรรจุยาเพื่อความปลอดภัยแล้ว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการที่จะนำภาชนะบรรจุยาไปใช้ได้อย่างเหมาะสมกับลักษณะและชนิดของยา และมีความปลอดภัยต่อชีวิตของประชาชน
ดร.สุทธิเวช ต. แสงจันทร์ กล่าวว่า ศูนย์เชี่ยวชาญด้านแก้วได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน 2553 และเป็นศูนย์แห่งแรกของประเทศ ซึ่งได้มีการพัฒนางานวิเคราะห์ทดสอบและงานวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดทางศูนย์ฯ สามารถให้บริการทดสอบรายการความปลอดภัยของภาชนะแก้วบรรจุยาแก่ผู้ประกอบการผลิตยาและผู้สนใจทั่วไป
“ปัจจุบันศูนย์เชี่ยวชาญด้านแก้วของกรมวิทยาศาสตร์บริการ มีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรเฉพาะด้านและเครื่องมือทันสมัย เพื่อวิเคราะห์ทดสอบภาชนะแก้วบรรจุยาให้ครอบคลุมตามความต้องการของผู้ใช้บริการ และสามารถจำแนกประเภทของภาชนะแก้วให้เหมาะสมกับยาแต่ละชนิด” ดร.สุทธิเวชกล่าว
นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังมีความร่วมมือกับสถาบันเชี่ยวชาญในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และได้เป็นสมาชิกขององค์กรด้านแก้วระหว่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2548 รวมทั้งเป็นสมาชิกของคณะทำงานด้านวิชาการ (TC 02) ที่ทำงานเกี่ยวกับการทดสอบด้านเคมีของแก้วโดยตรง
ภายในประเทศศูนย์เชี่ยวชาญด้านแก้วมีความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยทำหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติการกลางในการแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยของภาชนะแก้วบรรจุยา ผู้ผลิตยาและผู้ผลิตขวดบรรจุมีหน้าที่ต้องส่งตรวจสอบภาชนะแก้วบรรจุยาก่อนนำออกจำหน่าย
“อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปในฐานะผู้บริโภคควรมีความตระหนักต่อความปลอดภัยของภาชนะแก้วบรรจุยา โดยผู้บริโภคสามารถสังเกตเห็นสัญลักษณ์แสดงประเภทของภาชนะแก้ว ขณะนี้มีเพียงแก้วประเภท I *** เท่านั้นที่สามารถเห็นสัญลักษณ์แสดงบนขวดได้ เนื่องจากแก้วประเภท I ใช้สำหรับบรรจุยาฉีดสำหรับมนุษย์เท่านั้น ในอนาคตผู้บริโภคอาจสังเกตเห็นสัญลักษณ์เพิ่มเติมที่ครอบคลุมภาชนะแก้วทุกประเภทต่อไปด้วย”
ว่าที่ ร.ต.สรรค์ จิตรใคร่ครวญ ผู้อำนวยการโครงการฟิสิกส์และวิศวกรรม กล่าวถึง สถานภาพของหน่วยงานที่ดำเนินการวิเคราะห์ทดสอบภาชนะบรรจุยาว่า หน่วยงานภาครัฐ มีบทบาทสำคัญในการให้บริการทดสอบภาชนะบรรจุยา โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้บริการทดสอบแต่ภาชนะพลาสติกบรรจุยา แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดเปิดให้บริการทดสอบภาชนะแก้วบรรจุยาแก่หน่วยราชการและภาคเอกชน ส่วนองค์การเภสัชกรรมทดสอบเฉพาะ
“ภาชนะบรรจุยาที่ใช้ในหน่วยงานตนเองเท่านั้น กรมวิทยาศาสตร์บริการ เห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยให้ศูนย์เชี่ยวชาญด้านแก้วดำเนินการให้บริการทดสอบภาชนะแก้วบรรจุยาให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ เช่น สภากาชาดไทย
กรมปศุสัตว์ เป็นต้น นอกจากจะให้บริการในรายการที่ครอบคลุมแล้ว ผลทดสอบยังได้รับความเชื่อถือเนื่องจากเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลด้วย” ร.ต.สรรค์กล่าว
ดร.เทพีวรรณ จิตรวัชรโกมล หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านแก้ว กล่าวถึง ความสำคัญของการเลือกใช้ภาชนะบรรจุยาเพื่อให้มีความเหมาะสมกับยาแต่ละชนิด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตผู้บริโภค ภาชนะแก้วบรรจุยานั้นเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ผิวมีความทนทานต่อสารเคมีสูง ผิวไม่เปลี่ยนแปลงสภาพง่ายมีความเสถียรสูง การนำมาใช้บรรจุยาต้องวิเคราะห์ทดสอบสมบัติทั้งทางกายภาพและสมบัติทางเคมี เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าปลอดภัยจริง
“ผู้ใช้หรือผู้ผลิตยาต้องรู้ประเภทของภาชนะแก้วเพื่อใช้บรรจุยาอย่างถูกต้อง การวิเคราะห์ทดสอบทางกายภาพ เป็นการตรวจสอบมิติ ขนาด ความหนา น้ำหนัก ความจุหรือปริมาตร การส่องผ่านแสง สีของแก้ว ความทนทานต่อความดันภายใน ความแข็งแรง ทนทานต่อการขีดข่วน ด้านเคมีเป็นการทดสอบความทนทานต่อกรด ด่าง น้ำ และสารเคมี การวิเคราะห์ปริมาณของโลหะหนัก ที่เป็นโลหะหนักที่อาจถูกปล่อยจากผิวแก้วเมื่อสัมผัสกับสารละลาย หรือโลหะหนักในเนื้อแก้ว” ดร.เทพีวรรณกล่าว
***
การแบ่งประเภทของภาชนะแก้วบรรจุยา กำหนดตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แบ่งเป็น ๔ ประเภทคือ
ประเภท I เป็นแก้วบอโรซิลิเกต มีความทนทานทางเคมีสูง ผิวมีความเป็นกลางมากที่สุด ใช้กับยาได้ทุกชนิดรวมทั้งที่เป็นด่างอ่อนๆ แต่เนื่องจากราคาแพง โดยทั่วไปจึงใช้ทำภาชนะแก้วบรรจุยาฉีด
ประเภท II เป็นแก้วโซดาไลม์หรือแก้วโซดาไลม์ซิลิกาที่ผ่านกรรมวิธีดีอัลคาไลส์หรือกำจัดด่างที่ผิวแก้วบางส่วนออกอย่างเหมาะสม ใช้ทำภาชนะบรรจุยาฉีดที่มีความเป็นกรดหรือเป็นกลาง โดยเฉพาะใช้ทำขวดน้ำเกลือ
ประเภท III เป็นแก้วโซดาไลม์หรือแก้วโซดาไลม์ซิลิกาที่ใช้ทำภาชนะบรรจุยาที่ใช้รับประทาน แต่ไม่ใช้ทำภาชนะบรรจุยาฉีด ยกเว้นทดสอบแล้วมีความคงตัวเหมาะสม
ประเภทNP เป็นแก้วโซดาไลม์หรือแก้วโซดาไลม์ซิลิกาที่ใช้ทำภาชนะบรรจุยาที่ใช้รับประทานหรือยาที่ใช้ภายนอกเฉพาะที่ แต่ไม่ใช้ทำภาชนะบรรจุยาฉีด
อย่างไรก็ตาม ภาชนะแก้วบรรจุยา ประเภท I และ ประเภท II พบว่าไม่มีการผลิตภายในประเทศ จะต้องสั่งเป็นสินค้านำเข้าเท่านั้น ในอนาคตประเทศไทยสามารถพัฒนาแก้วภายในประเทศให้เป็นประเภท II ได้เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ