นอกจากกรอกกระสอบทราย แพ็คถุงยังชีพ ออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว อาสาสมัครปั้น EM Ball เป็นอีกจิตอาสาที่จะช่วยบรรเทาทุกข์จากอุทกภัย เนื่องจากน้ำเน่าเหม็นเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ตามมา หากแต่ตอนนี้หลายคนคงกำลังสับสนว่าแท้จริงแล้ว EM Ball นั้นใช้แก้ปัญหาน้ำเน่าในภาวะน้ำท่วมนี้ได้หรือไม่ เพราะมีการถกเถียงทั้งจากฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน
ทั้งนี้ อีเอ็ม (EM: Effective Microorganisms) เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ค้นพบโดย ศ.เทรูโอะ ไฮกะ (Prof.Teruo Higa) จากมหาวิทยาลัยริวกิว (University of the Ryukyus) โอกินาวา ญี่ปุ่น ซึ่งได้พัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์ต้นแบบ EM-01 เพื่อประโยชน์ทางการเกษตรและเพื่อย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย โดยมีจุลินทรียที่ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ผลิตกรดแลคติก จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงได้ ยีสต์และจุลินทรีย์อื่นๆ ประมาณ 80 ชนิด แล้วผลิตในเชิงการค้าและใช้ EM เป็นเครื่องหมายการค้า
หากแต่น้ำอีเอ็มที่ชาวบ้านหมักกันเองนั้นไม่มีการตรวจสอบชนิดเชื้อจุลินทรีย์ และหมักขึ้นจากวัสดุเหลือทิ้งในท้องถิ่น จึงอาจทำให้เชื้อไม่มีประสิทธิภาพเหมือนต้นแบบ หรืออาจมีการปนเปื้อนของเชื้ออื่น รวมถึงเชื้อไวรัสด้วย ซึ่งนำมาสู่การตั้งคำถามต่อ EM Ball ว่าเชื้อที่ใช้นั้นเป็นเชื้อชนิดใด ได้จากอีเอ็มต้นแบบหรือเป็นเชื้อที่หมักกันเอง ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ รวมถึงการใช้งานเพื่อบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพนั้นยังต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ถามความเห็น น.ส.วิภาวี ดำมี นักศึกษาปริญญาเอกด้านชีววิทยาและผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านระบบนิเวศทางน้ำ ซึ่งบอกถึงกังวลต่อ EM Ball ในมุมนักวิทยาศาสตร์ว่า เป็นห่วงเรื่องการปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งคาดว่ามีอย่างแน่นอน เพราะเชื้อจุลินทรีย์ใน EM นั้นมีหลายประเภท ทั้งจุลินทรีย์ที่มีใช้ประโยชน์ได้และจุลินทรีย์ก่อโรค ซึ่งหากนำไปใช้ในที่เหมาะสม คือ ในแหล่งที่มีอินทรีย์มากจะทำให้จุลินทรีย์มีประโยชน์เจริญเติบโตได้ดี ส่วนจุลินทรีย์ไม่มีประโยชน์จะเจริญเติบโตได้ยาก หากแต่พบว่ามีการนำ EM Ball ไปโยนตามแหล่งน้ำใช้ ซึ่งปกติแล้วมีสารอินทรีย์ต่ำ ซึ่งเชื้อก่อโรคจะเจริญเติบโตได้เต็มที่
ส่วนข้อสงสัยว่า ใช้ EM Ball บำบัดน้ำเสียได้หรือไม่นั้น วิภาวีบอกว่า ใช้ได้ แต่ต้องใช้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ใช่โยนลงแหล่งน้ำแล้วเสร็จ ก่อนใช้ต้องวัดคุณภาพน้ำก่อน แต่เราก็แจก EM Ball ให้ใช้ราวกับเป็นของวิเศษที่ใช้ได้ในทุกสภาพ สิ่งที่ปราชญ์ชาวบ้านทำคือเริ่มจากการใช้ในปริมาณน้อยๆ เมื่อไม่ได้ผลก็เพิ่มปริมาณ ซึ่งก็ใช้ได้ แต่วิธีดังกล่าวไม่ใช่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตอนนี้ยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนว่าใช้ EM บำบัดน้ำเสียได้ผล มีเพียงงานวิจัยที่วัดว่าได้ผลในระบบปิดเล็กๆ แต่ปราชญ์ชาวบ้านอาศัยประสบการณ์ยืนยันว่าใช้ได้จริง แต่ไม่สามารถวัดผลออกมาเป็นตัวเลขหรือค่าที่แน่ชัด จึงเกิดการถกเถียงและการไม่ยอมรับ
“ใน EM มีจุลินทรีย์อยู่เยอะจนจำแนกไม่ได้ว่าเป็นชนิดใดบ้าง ไม่สามารถบอกได้ว่าจุลินทรีย์ชนิดใดที่ทำให้ใช้ได้ผล จึงไม่เป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ การใช้จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสีย ใช้ได้ แต่ต้องในสภาพที่เหมาะสม EM มีทั้งแบบน้ำและแบบลูกบอล ถ้าแหล่งน้ำมีสารอินทรีย์มากอยู่แล้ว เติมแบบบอลลงไปจะยิ่งทำให้น้ำเสีย บริเวณที่ใช้ได้คือแหล่งน้ำขนาดเล็ก เช่น ข้างบ้านเป็นทุ่งหญ้าแล้วหญ้ารกร้าง มีน้ำขังจนเน่าเสีย ใช้ EM Ball ตรงนั้นได้ผล ท่อระบายน้ำส่งกลิ่นเน่าเหม็น น้ำดำ มีสารอินทรีย์เยอะใช้ EM ตรงนั้นจะได้ผล แต่ใช้ในกรณีน้ำท่วมที่มีน้ำไหลไม่ได้ผล เพราะ EM Ball จะถูกพัดไปหมด ถ้าพื้นเป็นดินก็ใช้ได้ เพราะแบคทีเรียจะไปทำงานร่วมกับจุลินทรีย์เจ้าถิ่นในดิน แต่กรณีปูนซีเมนส์จะมีแต่ EM ที่ใส่และไม่มีที่ยึดเกาะ ทำให้ถูกกระแสน้ำพัดออกไป” วิภาวีกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่รวมกลุ่มกันแสดงความเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับ EM Ball ในกิจกรรม “ระดมสมองนักวิทย์: EM กับน้ำเสีย สู่สังคมอุดมปัญญา” ทางเฟซบุค ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อหาทางออกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยไม่ต่อต้านหรือทำให้ผู้หวังดีเสียกำลังใจ แต่ต้องการให้มีความรู้ที่ถูกต้องและปัญหาด้วยความเข้าใจ และเห็นตรงกันว่าลูกบอลจุลินทรีย์ดังกล่าวนั้นใช้ได้แต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทางกลุ่มเป็นกังวลต่อการใช้ลูกบอลจุลินทรีย์นั้น สรุปได้คร่าวๆ คือ
1.การใช้ในปริมาณที่มากเกินจะทำให้ออกซิเจนลดลงอย่างรวดเร็ว ถ้าใช้น้อยเกินไปก็ไม่เกิดผลอะไร การใช้งานในระยะแรกจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนอาจจะช่วยให้กลิ่นลดลง แต่เมื่อออกซิเจนหมด จุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนจะดึงสารอื่นมาใช้ ซึ่งอาจจะเกิดก๊าซไข่เน่าในปริมาณมาก
2.ทั้งนี้ จุลินทรีย์แต่ละกลุ่มทำงานได้ไม่เหมือนกัน แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าในก้อนลูกบอลจุลินทรีย์นั้นมีจุลินทรีย์อะไรบ้าง และผู้สนับสนุนให้ใช้ก็ตอบไม่ได้ ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นจุดอ่อน และ EM ยังเป็นหัวเชื้อทางการค้าที่มีการปกปิดความลับทางการค้า
3.มีความกังวลว่าอาจมีการปนเปื้อนของพยาธิและจุลินทรีย์ไม่พึงประสงค์ใน EM Ball
4.มีความกังวลว่าเมื่อใช้ EM Ball ในปริมาณมากแล้ว ซากจุลินทรีย์ที่ตายลงแล้วไหลลงสู่ทะเลในปริมาณมาก จะทำให้เกิด “แพลงก์ตอนบลูม” หรือการเจริญเติบโตของสาหร่ายที่ผิดปกติ เนื่องจากได้รับสารอาหารในปริมาณมากเกิน ทั้งนี้ น้ำเน่าที่ปล่อยลงสู่ทะเลก็มีสารอาหารที่ทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้มากอยู่แล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์เป็นกังวลว่า การย่อยสลายของ EM จะเร่งให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดเร็วขึ้นหรือมากขึ้น
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ในกิจกรรม “ระดมสมองนักวิทย์ฯ” ยังเสนอแนวคิดป้องกันน้ำเน่าเสียโดยไม่ใช้ EM ว่า ให้ช่วยกันจำกัดขยะโดยคนในชุมชนหรืออาสาสมัคร สูบน้ำออกจากพื้นที่ และใช้กังหันเพิ่มออกซิเจน หรือเป็นไปได้อาจช่วยกันประดิษฐ์จักรยานปั่นเพิ่มออกซิเจนในน้ำ และเป็นกิจกรรมคลายเครียดระหว่างน้ำท่วม
พร้อมกันนี้ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ยังได้แสดงความเห็นต่อการใช้ EM Ball ผ่านบล็อกส่วนตัวว่า ทาง สวทช.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ถกถึงปัญหาการเติมสารอินทรีย์ลงน้ำเน่าผ่านการใช้ลูกบอลจุลินทรีย์โดยไม่มีกระบวนการเพิ่มออกซิเจนร่วมด้วย ซึ่งจากการระดมสมองร่วมกับนักสิ่งแวดล้อม นักชีววิทยา นักเทคโนโลยีชีวภาพ แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ได้คำแนะนำใหม่ที่จะเสนอแก่รัฐบาลด้วยการใช้จุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ต้องเติมสารอินทรีย์แบบที่ใส่ลงใน EM Ball เพื่อเป็นอีกทางเลือก
ทั้งนี้ จากการหารือกับนักวิชาการ ดร.ทวีศักดิ์ระบุว่า ทุกคนเห็นตรงกันในการใช้จุลินทรีย์เพื่อย่อยสลาย แต่การย่อยสลายแบบไม่มีกลิ่นเหม็นนั้นต้องเติมอากาศลงในน้ำ แต่ต้องทำในบริเวณที่น้ำนิ่ง ส่วนในบริเวณที่น้ำไหลนั้นไม่เหมาะที่จะเติมจุลินทรีย์ เพราะเมื่อเติมลงไปแล้วไม่สามารถวัดผลได้ ทั้งนี้ เทคนิคการเติมอากาศมีหลากหลายวิธี แม้แต่การกวนเฉยๆ หรือการตักน้ำสั่งแล้วเทกลับที่เดิมก็ช่วยให้ได้อากาศเพิ่ม พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้นักวิชาการช่วยกันคิดทำกังหันน้ำชัยพัฒนาแบบไม่ต้องใช้ไฟฟ้า เพราะการเติมอากาศนั้นเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด และเรามีแนวพระราชดำริที่ดีให้เราได้ศึกษา
ส่วนใครที่มีข้อสงสัยในการใช้ EM Ball มีข้อสรุปง่ายๆ จากการ์ตูน โดย ดร.ดร.อาทิตย์ นันทขว้าง อาจารย์สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา คลิกที่นี่ http://astv.mobi/AqlpbdV