ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ติงการใช้ EM ball ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียได้ แต่ยิ่งจะส่งผลกระทบ วอนปรึกษาผู้เชี่ยวชาญแก้อย่างถูกหลักวิชาการ
นายสนธิ คชวัฒน์ อนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงปัญหาน้ำท่วมขังและเน่าเสียในหลายๆพื้นที่ของประเทศไทยนั้น เกิดจากสารอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำมีปริมาณมาก เช่น สิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย ซากพืช ซากสัตว์ ที่จมอยู่ในน้ำ เป็นต้น และถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในน้ำ ที่ใช้ก๊าซออกซิเจนอิสระในการหายใจ (Aerobic Bacteria)
เมื่อก๊าซออกซิเจนในน้ำลดลงจนใกล้หมด จะเกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์ต่อไปโดยจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ก๊าซออกซิเจนอิสระในการหายใจ (Anaerobic Bacteria) จะเกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) ก๊าซแอมโมเนีย กรดอินทรีย์ เป็นต้น
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้น้ำมีสีดำและมีกลิ่นเหม็น ยิ่งน้ำท่วมขังนานมากขึ้น โดยไม่มีการระบาย เช่น ภายในบ้านไม่มีแสงแดด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีสารแขวนลอยมาก จะทำให้จุลินทรีย์ที่ย่อยสลายสารอินทรีย์โดยใช้ก๊าซออกซิเจนอิสระในการหายใจมีประสิทธิภาพน้อยลง เนื่องจากขาดก๊าซออกซิเจน แต่จุลินทรีย์ที่ย่อยสลายสารอินทรีย์โดยไม่ใช้ก๊าซออกซิเจนอิสระในการหายใจจะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ทำให้น้ำมีกลิ่นเหม็นและเน่าเสียมากยิ่งขึ้น
นายสนธิ กล่าวว่า ลูกบอลจุลินทรีย์ (EM ball ) หรือ Effective Microorganisms เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายสารอินทรีย์หลายชนิดมารวมกัน เช่น กลุ่มผลิตกรดแลคติก (Lactic Acid Bacteria) กลุ่มสังเคราะห์แสง (Photosynthetic) กลุ่มยีสต์ (Yeasts) กลุ่มบาซิลลัส (Bacillus Bacteria) เป็นต้น ซึ่งการทำ EM Ball นั้น ส่วนใหญ่ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ผสมกับกากน้ำตาล รำหยาบ รำละเอียด และแกลบ ปั้นเป็นก้อนกลมแล้วนำไปโยนลงแหล่งน้ำเพื่อลดกลิ่นเหม็นและปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น
นายสนธิ กล่าวต่อไปว่า กรณีการใช้ EM ball ใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมที่เน่าเสียในขณะนี้ จะไม่ช่วยในการย่อยสลายสารอินทรีย์ เนื่องจากความเร็วของน้ำจะทำให้จุลินทรีย์กระจายตัวในแหล่งน้ำมากจนเกิดการเจือจาง จึงทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการทำลายสารอินทรีย์ในน้ำ แต่พวกกากน้ำตาล รำข้าว แกลบที่ถูกปั้นเป็นก้อนกลมใน EM Ball กลับยิ่งไปเพิ่มสารอินทรีย์ในน้ำทำให้น้ำมีโอกาสเน่าเสียมากยิ่งขึ้น หากใส่ลงไปในปริมาณมาก
หากน้ำท่วมเน่าเสียแล้วอยู่ในภาวะนิ่ง(ท่วมขัง)
การใส่ EM Ball ลงไป ในระยะแรก จุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจน (Aerobic Bacteria) จะหายใจเอาก๊าซออกซิเจนอิสระที่อยู่ในน้ำเข้าไปและไปย่อยสลายสารอินทรีย์ ได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ และจะมีจุลินทรีย์เจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในช่วงระยะเวลา 2-3 วันแรก กลิ่นเหม็นจะลดลง คุณภาพน้ำดีขึ้น
จากนั้นจุลินทรีย์ที่เพิ่มขึ้นจะดึงเอาก๊าซออกซิเจนที่มีอยู่ในน้ำมาใช้อีก จนทำไห้ก๊าซออกซิเจนในน้ำลดลงจนเกือบหมด (น้ำเน่าเสียมีสารแขวนลอย ปกคลุมบนผิวน้ำจำนวนมาก ทำให้ ก๊าซออกซิเจนในอากาศละลายลงไปในน้ำได้น้อยลง)จุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ก๊าซออกซิเจนอิสระในการหายใจ(Anaerobic Bacteria) จะเริ่มทำงานโดยการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่เหลือ เกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) ก๊าซแอมโมเนีย กรดอินทรีย์ เป็นต้น ทำให้น้ำกลับมาเน่าและมีกลิ่นเหม็นเหมือนเดิม ถึงแม้จะใส่ EM Ball ไปอีกก็ตาม เนื่องจากในน้ำไม่มีก๊าซออกซิเจนเหลืออยู่กลับยิ่งเพิ่มสารอินทรีย์ลงไปในน้ำอีก
“หากใส่ EM Ball มากเกินไปโดยไม่มีการเติมอากาศช่วยสิ่งที่ตามมา คือการไปเพิ่มปริมาณสารอินทรีย์ในน้ำอาจทำให้น้ำเน่าเสียมากขึ้น นอกจากนี้ ในบางกรณีที่น้ำเริ่มจะเน่าเสียหรือเริ่มจะมีกลิ่นเหม็นในภาวะท่วมขังและมีแสงแดด การใส่ EM Ball จะช่วยยับยั้งการเกิดกลิ่นเหม็นของก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) ก๊าซแอมโมเนีย กรดอินทรีย์ ได้ดีในระยะแรก แต่หลังจากนั้นสิ่งที่ควรทำคือต้องรีบระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด” นายสนธิ กล่าว
สำหรับภาวะน้ำท่วมโดยปริมาณน้ำมาก และมีการไหลของน้ำไม่ควรใช้ EM Ball เพราะจะไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใดกลับยิ่งไปเพิ่มปริมาณสารอินทรีย์ เช่น กากน้ำตาล รำ แกลบ เป็นต้น ลงไปทำให้น้ำมีก๊าซออกซิเจนน้อยลง เมื่อมวลน้ำดังกล่าวไหลไปท่วมขังในที่ใด ประกอบกับมีปริมาณขยะหรือสารแขวนลอยปกคลุมผิวน้ำอีก กลับจะทำให้น้ำเน่าเสียเร็วและมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม การใช้ EM Ball จะช่วยบรรเทาปัญหาได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
นายสนธิ กล่าวย้ำว่า การใช้ EM Ball ต้องใช้หัวเชื้อที่ได้รับการรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้เท่านั้นไม่ใช่ทำหรือคิดกันเองจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ต้องออกมาอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ให้ประชาชนเข้าใจเรื่องEM Ball อย่างแท้จริง และอธิบายการลดการเน่าเสียของน้ำที่ท่วมขังที่ประชาชนสามารถช่วยทำได้อย่างถูกวิธี โดยมีข้อมูลทางวิชาการประกอบ