ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาทั่วโลกต่างกังวลว่าดาวเทียมยูเออาร์เอสที่ลอยคว้างอยู่ในวงโคจรจะตกลง ณ จุดใด เพราะนาซาผู้เป็นเจ้าของขยะอวกาศขนาดเท่ารถบัสเองยังชี้ชัดไม่ได้ว่าวัตถุอวกาศชิ้นนี้จะตกลงที่ไหนและเวลาใด แม้ผู้เชี่ยวชาญจะย้ำว่าโอกาสที่คนบนโลกจะชิ้นส่วนตกใส่มีเพียง 1 ใน 3,200 แต่ก็คงไม่มีใครอยากได้รับโอกาสอันน้อยนิดนั้น
ก่อนดาวเทียมศึกษาบรรยากาศชั้นบนยูเออาร์เอส (UARS: Upper Atmosphere Research Satellite) จะตกประมาณ 1 สัปดาห์ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้แถลงให้โลกได้รับรู้ถึงคุกคามจากขยะอวกาศขนาดประมาณรถโดยสารและหนักกว่า 6 ตัน ซึ่งมีโอกาสที่จะตกใส่ผู้คนบนโลก 1 ใน 3,200 แม้ว่าเมื่อคำนวณโอกาสจากประชากรโลก 7 พันล้านคนแล้ว โอกาสที่ “คุณ” จะถูกชิ้นส่วนจากดาวเทียมที่แตกกระจายมีเพียง 1 ใน 22 ล้านล้าน แต่หลายคนก็อดลุ้นไม่ได้
ทั้งนี้ มีรายงานครั้งเดียวว่าชิ้นส่วนอวกาศตกใส่คนบนโลก นั่นคือ เหตุการณ์ที่ชิ้นส่วนจรวดเดลตา 2 (Delta2) ตกใส่ ลอตตี วิลเลียมส์ (Lottie Williams) ประชาชนที่อาศัยอยู่ในทูลซา โอกลาโฮมา สหรัฐฯ เมื่อปี 1997 ขณะที่เธอออกกำลังกายในสวนสาธารณะ แต่โชคดีว่าชิ้นส่วนดังกล่าวถูกแรงลมต้านทำให้ตกสู่พื้นโลกอย่างช้าๆ และไม่ทำให้เธอได้รับบาดเจ็บ
ดาวเทียมยูเออาร์เอสถูกส่งขึ้นไปโดยกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Discovery) เมื่อวันที่ 12 ก.ย.1991 และถูกปล่อยเข้าวงโคจรหลังจากนั้น 3 วัน และนับเป็นดาวเทียมดวงแรกที่มีอุปกรณ์ทำงานได้หลายอย่าง เพื่อใช้ศึกษาโอโซนและองค์ประกอบทางเคมีในชั้นบรรยากาศโลก และเป็นจุดเริ่มต้นในการเก็บข้อมูลองค์ประกอบเคมีที่สำคัญของชั้นบรรยากาศที่ใช้เวลายาวนานพอสมควร นอกจากนี้ยูเออาร์เอสยังเก็บข้อมูลปริมาณแสงที่ส่งตรงจากดวงอาทิตย์ในย่านรังสีอัลตราไวโอเลตและคลื่นแสงที่ตามองเห็นด้วย
จนกระทั่งปี 2005 ดาวเทียมยูเออาร์เอสเสร็จสิ้นหน้าที่ในการเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แล้วกลายเป็นขยะอวกาศที่ลอยอยู่ในวงโคจร และถูกแรงดึงดูดโลกลดระดับวงโคจรลงอย่างช้าๆ และนาซาได้ออกมาเผยว่าดาวเทียมดวงนี้จะตกสู่พื้นโลกในราววันที่ 23 ก.ย.11 ซึ่งอาจเร็วหรือช้ากว่านั้นประมาณ 1 วัน แต่นาซาคำนวณตำแหน่งที่ตกได้ล่วงหน้า 2 ชั่วโมงเท่านั้นเมื่อดาวเทียมเข้าสู่ชั้นบรรยากาศแล้ว
อย่างไรก็ดี หลังจากดาวเทียมตกสู่พื้นโลก ซึ่งคาดว่าน่าจะตกในช่วงเวลา 10.00-12.00 น.ของวันที่ 24 ก.ย.ตามเวลาประเทศไทย นาซายังไม่สามารถระบุตำแหน่งและเวลาที่ดาวเทียมตกได้อย่างชัดเจน แต่ไม่มีรายงานว่าพบผู้ได้รับบาดเจ็บหรือความเสียหายจากชิ้นส่วนอวกาศตก แต่มีข้อความทางทวิตเตอร์ที่ระบุว่าพบชิ้นส่วนอวกาศในแคนาดา รวมถึงคลิปที่อ้างว่าพบชิ้นส่วนอวกาศทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ
นาซาระบุว่า ช่วงเวลาที่ยูเออาร์เอสเข้าสู่ชั้นบรรยากาศนั้น ดาวเทียมได้ผ่านฝั่งตะวันออกของแอฟริกา มหาสมุทรอินเดีย จากนั้นผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วผ่านทางตอนเหนือของแคนาดา และตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก แล้วมุ่งหน้าไปทางตะวันตกของแอฟริกา โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ดาวเทียมผ่านนั้นเป็นพื้นน้ำ รวมทั้งบางเที่ยวบินที่อยู่ทางตอนเหนือของแคนาดาและตะวันตกของแอฟริกา
เนื่องจากยูเออาร์เอสโคจรอยู่ระหว่าง 57 องศาเหนือและใต้จากเส้นศูนย์สูตร บริเวณดังกล่าวจึงเป็นจุดที่ดาวเทียมมีโอกาสตก โดยนาซาชี้แจงว่าชิ้นส่วนส่วนใหญ่จะเผาไหม้ไประหว่างดาวเทียมเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และเหลือชิ้นส่วนที่เผาไหม้ไม่หมด 26 ชิ้น ตกสู่พื้นโลก ซึ่งคาดว่าน่าจะกินพื้นที่กว้างถึง 800 กิโลเมตร และคาดเป็นชิ้นส่วนหนักสุดที่ตกสู่พื้นนั้นหนักประมาณ 136 กิโลกรัม ส่วนข้อมูลของบีบีซีนิวส์คาดว่าชิ้นส่วนที่ตกสู่พื้นโลกคือถังเชื้อเพลิงกับแบตเตอรี อุปกรณ์ยึดเสาอากาศ และแท่นอุปกรณ์เคลื่อนย้ายได้
อย่างไรก็ดี นาซากำชับว่าชิ้นส่วนดาวเทียมยูเออาร์เอสเป็นสมบัติของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ห้ามใครเก็บไว้เป็นของส่วนตัว และหากใครพบชิ้นส่วนดังกล่าวให้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น แต่หากชิ้นส่วนอวกาศทำอันตรายหรือสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของใคร ตามกฎหมายแล้วนาซาจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น
การตกสู่พื้นโลกของดาวเทียมยูเออาร์เอสนี้เป็นการตกของดาวเทียมขนาดใหญ่ของนาซาในรอบ 32 ปี โดยก่อนหน้านั้นคือการตกของสถานีอวกาศสกายแล็บ (Skylab) ที่หนักกว่า 85 ตัน ของสหรัฐฯ เมื่อปี 1979 ซึ่งตกลงยังพื้นที่ฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย เป็นเหตุให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องจ่ายค่าทำความสะอาดแก่รัฐบาลออสเตรเลียเป็นเงิน 400 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนการตกของสถานีอวกาศมีร์ (Mir) ของรัสเซียที่หนัก 135 ตันเมื่อปี 2001 นั้น เป็นการควบคุมให้สถานีอวกาศตกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
นอกจากกรณีล่าสุดแล้วยังมีวัตถุอวกาศชิ้นใหญ่ที่ตกสู่พื้นโลกโดยไร้การควบคุมอีกหลายครั้ง เช่น การระเบิดของกระสวยอวกาศโคลัมเบีย (Columbia) เมื่อปี 2003 ที่คร่าชีวิตนักบินอวกาศทั้งหมด 7 คน แต่ชิ้นส่วนของยานไม่ได้ทำอันตรายคนบนโลก การตกของสถานีอวกาศซัลยุต 7 (Salyuz7) หนัก 22 ตันของรัสเซียเมื่อปี 1991 ที่มีเศษชิ้นส่วนตกที่อาร์เจนตินาแต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น
ทั้งนี้ วัตถุอวกาศขนาดดาวเทียมยูเออาร์เอสนี้มีโอกาสตกสู่ชั้นบรรยากาศปีละครั้ง ส่วนยานขนส่งอวกาศที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นจะตกจากวงโคจรปีละหลายครั้ง แต่ยานอวกาศเหล่านั้นจะถูกบังคับให้ตกสู่มหาสมุทรที่อยู่ห่างไกล และนาซาได้ออกแบบให้ยานอวกาศขนาดใหญ่รุ่นใหม่ๆ มีระบบที่สามารถควบคุมการตกสู่พื้นที่ห่างไกลผู้คนได้ ส่วนยูเออาร์เอสเป็นดาวเทียมรุ่นเก่าที่ไม่ได้ออกแบบระบบดังกล่าวไว้
การตกของยูเออาร์เอสโดยที่คนบนโลกไม่ทราบได้แน่ชัดว่าดาวเทียมเก่าดวงนี้จะตก ณ จุดใดและเวลาใด เป็นตัวอย่างของภัยคุกคามจากขยะอวกาศ ซึ่งเมื่อนับวัตถุอวกาศเฉพาะชิ้นส่วนที่ใหญ่กว่า 10 เซนติเมตรก็มีมากถึง 21,000 ชิ้น และเป็นดาวเทียมที่ยังใช้งานอยู่เพียง 1,000 ชิ้น แม้ว่าขยะชิ้นเล็กๆ จะไม่น่าเป็นกังวลต่อคนบนโลกมากนักเพราะจะเผาไหม้หมดไปในชั้นบรรยากาศ แต่ก็สร้างความเสียหายต่อยานอวกาศรวมถึงสถานีอวกาศที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวงโคจรได้
โชคดีที่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเกิดความเสียหายจากการตกของดาวเทียมเก่าของนาซา แต่เหตุการณ์นี้ทำให้เราได้เห็นอีกตัวอย่างของภัยคุกคามจากขยะอวกาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้แลกเพื่อความสะดวกสบายและเทคโนโลยีต่างๆ บนโลก
คลิปดาวเทียมยูเออาร์เอสที่โคจรอย่างเสียศูนย์อยู่ในวงโคจร
ชมคลิปจำลองเหตุการณ์ดาวเทียมยูเออาร์เอสตก