xs
xsm
sm
md
lg

ชมคลิปดาวเทียมเก่าของนาซาเสียศูนย์อยู่ในวงโคจร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพดาวเทียมยูเออาร์เอสขณะในวงโคจรที่ระยะต่างๆ บันทึกโดย ธีเออร์รี เลอเกาต์ (สเปซด็อทคอม/Thierry Legault)
ดาวเทียมเก่าของนาซายังโคจรรอบโลกรอบแล้วรอบเล่า ยังไม่มีใครรู้ว่าดาวเทียมจะตกลงที่ไหน เมื่อไร คร่าวๆ เศษซากจะแตกกระจายสู่โลกในราววันที่ 23 ก.ย.นี้ อาจก่อนหรือหลังนั้นเล็กน้อย แต่ระหว่างนี้นักดูดาวหลายคนเฝ้ากำลังจับตาดาวเทียมดวงนี้ และบันทึกคลิปขณะที่ดาวเทียมอยู่ในวงโคจรได้

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าดาวเทียมศึกษาบรรยากาศชั้นบนยูเออาร์เอส (UARS: Upper Atmosphere Research Satellite) ที่มีอายุ 20 ปีแล้วและหนักกว่า 6 ตันครึ่งนั้นจะตกยังพื้นที่ใดของโลก แต่ระหว่างนี้สเปซด็อทคอมรายงานว่า มีเครือข่ายนักสังเกตการณ์ท้องฟ้า (skywatcher) จากทั่วโลกเฝ้าจับตาดาวเทียมดวงนี้อยู่

ในจำนวนนั้นคือ ธิเออร์รี เลอเกาต์ (Thierry Legault) วิศวกรในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นนักถ่ายภาพดาราศาสตร์และนักสังเกตการณ์ท้องฟ้าด้วย เขาได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ 14 นิ้วของตัวเองบันทึกภาพดาวเทียมยูเออาร์เอสที่กำลัง โคจรแบบเสียศูนย์อยู่รอบโลกก่อนที่จะตกลงมาในไม่ช้า ซึ่งเขาบอกทางเว็บไซต์ spaceweather.com ว่า ดาวเทียมดวงนี้มีความสว่างที่เปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็วและยังสังเกตง่ายด้วยตาเปล่า

คลิปดาวเทียมยูเออาร์เอสที่โคจรอย่างเสียศูนย์อยู่ในวงโคจร
 








รายงานล่าสุดจากนาซาเมื่อ 21 ก.ย. ระบุว่า ดาวเทียมยูเออาร์เอสล่องลอยอยู่ในวงโคจรที่ความสูง 195-210 กิโลเมตร และคาดว่าตกสู่พื้นโลกราววันที่ 23 ก.ย. นี้ อาจจะเร็วหรือช้ากว่านั้น 1 วัน โดยจุดที่ดาวเทียมจะตกคือที่ใดก็ได้ระหว่างละติจูด 57 เหนือและใต้ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ตอนเหนือของแคนาดาไปจนตอนใต้ของอเมริกาใต้ ซึ่งประชากรทั้ง 7 พันล้านคนมีโอกาสที่จะถูกสะเก็ดจากดาวเทียมนี้หล่นใส่ 1 ใน 3,200 แต่โอกาสที่เศษดาวเทียมจะตกใส่ “คุณ” แน่ๆ คือ 1 ใน 22* ล้านล้าน (*Edited)

อย่างไรก็ดี จากการประเมินล่าสุดของนาซาซึ่งเผยแพร่เมื่อเช้าวันที่ 22 ก.ย.นี้ ระบุว่า ชิ้นส่วนดาวเทียมยูเออาร์เอสจะไม่ตกสู่ทวีปอเมริกาเหนือ และคาดว่าดาวเทียมเก่าดวงนี้จะตกสู่พื้นโลกตอนเที่ยงวันที่ 23 ก.ย.นี้ ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ

ลอตตี วิลเลียมส์ (Lottie Williams) ที่อาศัยอยู่ในทูลซา โอกลาโฮมา สหรัฐฯ คือประชาชนรายเดียวเท่าที่ทราบซึ่งถูกชิ้นส่วนจากขยะอวกาศหล่นใส่ โดยเมื่อปี 2540 เธอถูกชิ้นส่วนขนาดเท่าแผ่นดีวีดีซึ่งเป็นชิ้นส่วนของจรวดเดลตา 2 (Delta2) ตกใส่ขณะออกกำลังกายในส่วนสาธารณะ โชคดีที่ชิ้นส่วนดังกล่าวถูกแรงลมต้านจึงทำให้ชิ้นส่วนตกลงมาอย่างช้าๆ และไม่ทำให้เธอเจ็บตัว

ชมคลิปจำลองเหตุการณ์ดาวเทียมยูเออาร์เอสตก








อย่างไรก็ดี ดาวเทียมดังกล่าวจะเผาไหม้และแตกสลายไปมากแล้วก่อนตกสู่พื้นโลก ซึ่งตามรายงานของบีบีซีนิวส์นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะมีชิ้นส่วนจากดาวเทียม ดังกล่าว 26 ชิ้นตกสู่พื้นโลก และตกกระจายกินพื้นที่กว้าง 400-500 กิโลเมตร ซึ่งทางนาซาเผยว่านักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณตำแหน่งที่ซากดาวเทียมจะตกได้ ล่วงหน้าเพียง 2 ชั่วโมงก่อนดาวเทียมเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ

ดาวเทียมยูเออาร์เอสนั้นถูกส่งขึ้นไปเมื่อปี 2534 โดยกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Discovery) ของนาซา และหยุดทำงานเมื่อปี 2548 อย่างไรก็ดี ดาวเทียมที่จะตกสู่พื้นโลกนี้ยังมีขนาดน้อยกว่าสกายแล็บ (Skylab) สถานีอวกาศของสหรัฐฯ ซึ่งตกสู่โลกเมื่อปี 2522 โดยสถานีอวกาศดังกล่าวหนักกว่าดาวเทียมดวงนี้ถึง 15 เท่า และตกสู่พื้นที่ฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย เป็นเหตุให้สหรัฐฯ ต้องจ่ายค่าทำความสะอาดแก่รัฐบาลออสเตรเลีย
ภาพจำลองดาวเทียมยูเออาร์เอสในวงโคจร (สเปซด็อทคอม/นาซา)
ภาพจำลองดาวเทียมหลุดจากวงโคจรและพุ่งใส่โลก (สเปซด็อทคอม/นาซา)
ภาพดาวเทียมยูเออาร์เอสเมื่อครั้งที่กระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีนำขึ้นไปปล่อยสู่วงโคจร (สเปซด็อทคอม/นาซา)
กำลังโหลดความคิดเห็น