เอเอฟพี/เอเจนซี - องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซาเผย ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรปลดประจำการ ขนาด 6 ตัน ซึ่งเป็นชิ้นส่วนขยะอวกาศที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี ร่วงสู่ผืนโลกแล้ว โดยอาจตกอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่แคนาดา แอฟริกา ออสเตรเลีย และมหาสมุทรเปิด
องค์การด้านอวกาศของสหรัฐฯ โพสต์บนเว็บไซต์ทวิตเตอร์ว่า ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรและภูมิสารสนเทศ หรือยูเออาร์เอส ผ่านชั้นบรรยากาศของโลกเข้ามาแล้วในเช้าวันนี้ (24) ตามเวลาท้องถิ่น ทว่ายังไม่ทราบสถานที่แน่ชัด
นาซาเผยข้อมูลว่า ดาวเทียมดังกล่าวเข้าสู่บรรยากาศโลกในระหว่างเวลา 23.23 น.วันศุกร์ (23) - 1.09 น. วันเสาร์ ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ หรือราว 10.23-12.09 น.วันนี้ ตามเวลาไทย โดยในช่วงเวลานี้ ดาวเทียมเคลื่อนที่ผ่านแคนาดา แอฟริกา ออสเตรเลีย และพื้นที่ส่วนใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิก แอตแลนติก และอินเดีย
ขณะที่ ศูนย์ศึกษาการโคจร และการกลับสู่พื้นโลก ขององค์การความร่วมมือด้านอวกาศในแคลิฟอร์เนีย คาดว่า ดาวเทียมจะกลับสู่โลกในเวลาประมาณ 11.04 ตามเวลาของไทย โดยอาจคลาดเคลื่อนประมาณ 3 ชั่วโมง
ทั้งนี้เชื่อว่าขณะผ่านชั้นบรรยากาศโลกดาวเทียมยูเออาร์เอสดวงนี้น่าจะถูกเผาไหม้เสียส่วนใหญ่ จนเหลือชิ้นส่วนทั้งหมด 26 ชิ้น ที่จะตกสู่พื้นโลกดวงนี้ โดยอาจมีขนาดเล็กสุด ซึ่งหนักประมาณ 1 กิโลกรัม หนักสุด ด้วยน้ำหนัก 158 กิโลกรัม และอาจตกกระจายในรัศมี 800 กิโลเมตร
การเคลื่อนที่ของดาวเทียมนั้นทำให้ยาก ที่จะระบุตำแหน่งชัดเจนได้ว่าดาวเทียมจะร่วงลงมาที่ใด แต่เมื่อพิจารณาจากผิวโลก ซึ่งมีน้ำถึง 70% จึงเป็นไปได้มากว่าขยะอวกาศนี้น่าจะร่อนลงในมหาสมุทร
ดาวเทียมยูเออาร์เอสดวงนี้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในปี 1991 โดยยานดิสคัฟเวอรี มีขนาด 35x15 ฟุต หนัก 13,000 ปอนด์ พร้อมอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สำหรับวัดกระแสลม อุณหภูมิ และองค์ประกอบเคมีในโอโซน อีก 10 ชิ้น และถูกปลดประจำการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2005