xs
xsm
sm
md
lg

มือสมัครเล่นเจ๋ง!! บันทึกภาพขณะชิ้นส่วนดาวเทียมก่อนชนโลก (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



บีบีซี/เดอะซัน - นักดาราศาสตร์สมัครเล่นรายหนึ่งสามารถบันทึกภาพชิ้นส่วนโลหะของดาวเทียมยูเออาร์เอสสหรัฐฯ กำลังดิ่งลงสู่พื้นโลกเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ก่อนหน้าที่ชิ้นส่วนใหญ่ของดาวเทียมปลดประจำการดวงนี้ได้รับคาดหมายว่าจะตกลงสู่พื้นโลกในช่วงสุดสัปดาห์ สื่อมวลชนรายงานและเผยแพร่คลิปวานนี้ (22)

เธียร์รี เลอเกาต์ จากปารีส บันทึกเทปวิดีโอเหตุการณ์นี้ไว้ได้ขณะที่เศษชิ้นส่วนดาวเทียมศึกษาบรรยากาศชั้นบนยูเออาร์เอส (Upper Atmosphere Research Satellite หรือยูเออาร์เอส) กำลังร่วงผ่านทางเหนือของฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา

ดาวเทียมอายุ 20 ปีที่มีน้ำหนัก 6 ตันดวงนี้หลุดออกจากวงโคจรและคาดหมายว่าจะตกสู่ที่ใดที่หนึ่งของโลกราวๆ วันที่ 24 กันยายน อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านอวกาศของสหรัฐฯ ยืนยันว่าความเสี่ยงต่อชีวิตที่เกิดจากชิ้นส่วนของยูเออาร์เอสมีเพียง 1 ใน 3,200 เท่านั้น

เลอเกาต์ ซึ่งมีอาชีพหลักคือวิศวกร ใช้กล้องที่ออกแบบมาเป็นพิเศษบันทึกภาพขณะที่ชิ้นส่วนดาวเทียมกำลังตกสู่โลกผ่านกล้องดูดาวขนาด 14 นิ้วและโพสต์วิดีโอนี้ลงบนเว็บไซต์ดาราศาสตร์ส่วนตัว

ตามความคาดการณ์นั้น ดาวเทียมจะตกลงมาสู่พื้นโลกระหว่าง 57 องศาเหนือ และ 57 องศาใต้ของเส้นศูนย์สูตร ซึ่งเป็นบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่ แต่นาซาบอกว่าดาวเทียมดังกล่าวจะเผาไหม้และแตกสลายไปมากแล้วก่อนตกสู่พื้นโลก

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะมีชิ้นส่วนจากดาวเทียมดังกล่าวราว 26 ชิ้นเล็ดลอดตกสู่พื้นโลก และตกกระจายกินพื้นที่กว้าง 400-500 กิโลเมตร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สามารถคำนวณตำแหน่งที่ซากดาวเทียมตกได้ล่วงหน้าเพียง 2 ชั่วโมงก่อนดาวเทียมเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่านั้น

ดาวเทียมดังกล่าวมีโอกาสทำอันตรายประชาชนถึง 1 ใน 3,200 ซึ่งสูงกว่าขีดกำจัดที่นาซากำหนดไว้คือ 1 ใน 10,000 แต่นาซาแจงต่อสื่อมวลชนว่าจะไม่มีใครที่ได้รับบาดเจ็บจากวัตถุอวกาศที่ตกกลับสู่พื้นโลก นอกจากนี้ประชาชนทั่วไปยังไม่สามารถเก็บชิ้นส่วนดาวเทียมที่ตกลงมาไว้เป็นสมบัติส่วนตัวหรือแม้แต่ประมูลขายผ่านทางเว็บไซต์อีเบย์ (eBay) เนื่องจากเศษซากเหล่านั้นยังคงเป็นสมบัติของรัฐบาลสหรัฐฯ

อนึ่ง ดาวเทียมยูเออาร์เอสนั้นถูกส่งขึ้นไปเมื่อปี 1991 โดยกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีของนาซา และหยุดทำงานเมื่อปี 2005 อย่างไรก็ดี ดาวเทียมที่จะตกสู่พื้นโลกนี้ยังมีขนาดน้อยกว่าสกายแล็บ (Skylab) สถานีอวกาศของสหรัฐฯ ซึ่งตกสู่โลกเมื่อปี 1979 โดยสถานีอวกาศดังกล่าวหนักกว่าดาวเทียมดวงนี้ถึง 15 เท่า และตกสู่พื้นที่ฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย เป็นเหตุให้สหรัฐฯ ต้องจ่ายค่าทำความสะอาดแก่รัฐบาลออสเตรเลีย
กำลังโหลดความคิดเห็น