xs
xsm
sm
md
lg

อัศวประวัติ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ม้า Eohippus เมื่อ 50 ล้านปีก่อน
มนุษย์มีความผูกพันกับม้าเป็นเวลานานหลายพันปีแล้ว โดยใช้ม้าทำการพาณิชย์และการสงคราม เทพนิยายของชาวบาบิลอนกล่าวถึงเอสทาร์ต (Astarte) ผู้เป็นเทพธิดาแห่งความรักว่าทรงม้าในสงคราม นิทานกรีกโบราณกล่าวถึงเทพธิดาดีมีเตอร์ (Demeter) ผู้ทรงมีหน้าที่พิทักษ์รักษาโลกว่า เมื่อถูกโพไซดอน (Poseidon) เทพแห่งท้องทะเลรบเร้าขอความรัก พระนางทรงแปลงกายเป็นม้าตัวเมียเพื่อหลบหนี แต่โพไซดอนรู้ทันจึงทรงแปลงร่างเป็นม้าตัวผู้ออกติดตาม เทพนิยายกรีกยังกล่าวถึงเพกาซัส (Pegasus) ว่าเป็นม้ามีปีกซึ่งถือกำเนิดจากโลหิตของนางเมดูซา (Medusa) เมื่อนางถูกตัดศีรษะ (นางเมดูซามีเส้นผมเป็นงูพิษ) และคนครึ่งม้าชื่อเซนทอร์ (Centaur) ว่ามีลำตัวท่อนล่างเป็นม้า แต่หัวและลำตัวท่อนบนเป็นมนุษย์ คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระราชินีชีบา (Sheba) ว่า เมื่อพระนางเสด็จเข้าเผ้ากษัตริย์โซโลมอน พระนางทรงนำม้าอาหรับรูปงามไปถวายเป็นราชบรรณาการเพราะทรงทราบว่า กษัตริย์โซโลมอนทรงโปรดปรานม้ามาก

ทุกวันนี้ม้าเป็นสัตว์ที่เรารู้จักดี แต่เมื่อ 4,000 ปีก่อน ม้าเป็นสัตว์ที่หายาก แม้แต่ชาวอียิปต์ซึ่งมีอารยธรรมที่รุ่งเรืองก็ไม่รู้จักม้า แต่เมื่อฟาโรห์ได้ทอดพระเนตรเห็นม้าเป็นสัตว์ทรงพลังและวิ่งเร็ว จึงทรงโปรดให้นำม้ามาใช้ในการทำสงคราม การขุดพบโครงกระดูกม้าอายุประมาณ 3,700 ปี ในบริเวณแหลมไซไน ก็เป็นหลักฐานยืนยันว่าชาวอียิปต์ในสมัยนั้นเลี้ยงม้ากันแพร่หลาย แม้แต่ตามผนังของพีระมิดที่ฟาโรห์ Akhenaten ทรงสร้างขึ้นเมื่อ 3,315 ปีก่อน ก็มีภาพวาดของม้าปรากฏอยู่เช่นกัน

ม้าซึ่งเป็นสัตว์ที่วิ่งเร็วและอดทน ได้มีบทบาททำให้จักรพรรดิเจงกีสข่านแห่งอาณาจักรมองโกลทรงสามารถขยายพระราชอาณาจักรออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ตั้งแต่เกาหลีซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกจรดฮังการีซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก และรัสเซียทางทิศเหนือจรดเวียดนามทางทิศใต้ ตำนานเล่าขานว่า พระองค์ทรงมีม้าศึกถึง 8 แสนตัว ในขณะที่มีทหารเพียง 2 แสนคนเท่านั้นเอง กองทัพม้าที่เกรียงไกรเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญในสงคราม เมื่อกองทัพมองโกลเพลี่ยงพล้ำ ทหารม้าจะสามารถหลบหลีกข้าศึกได้เร็วทันท่วงที แต่เวลากองทัพได้เปรียบ ทหารม้าก็จะควบม้าไล่ฆ่าศัตรูเป็นว่าเล่น ความสำคัญของม้าในลักษณะนี้ทำให้กองทัพม้าของเจงกีสข่านมีชัยในทุกครั้ง มีผลให้ชาวมองโกลรู้สึกรักและผูกพันกับม้ามาก จนมีกฎหมายให้เจ้าของม้าต้องเอาใจใส่ม้า สร้างคอกที่สบายให้ม้าอยู่ และให้อาหารม้าอย่างพอเพียง นอกจากนี้ ชาวมองโกลยังยกย่องม้าเป็นสัตว์ประจำชาติด้วย เพราะนอกจากใช้ม้าทำศึกแล้ว ผู้คนยังสามารถใช้นมม้าเป็นอาหาร และใช้เลือดม้าเป็นเครื่องดื่มในยามที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง และเมื่อใดก็ตามที่เจ้าของม้าเสียชีวิต ประเพณีมองโกลได้กำหนดให้ลูกหลานผู้ตายฆ่าม้าของผู้เสียชีวิต เพื่อส่งวิญญาณไปรับใช้เจ้านายในภพหน้า ดังเมื่อจักรพรรดิเจงกีสข่านสิ้นพระชนม์ กองทัพได้ฆ่าม้าถึง 40 ตัวเพื่อถวายแด่วิญญาณของพระองค์

ประวัติศาสตร์ยังได้บันทึกอีกว่า เมื่อนายพลเฮอนานโด คอร์เตซ (Hernando Cortez) แห่งสเปน ยกทัพถึงนคร Tenochtitlan (ปัจจุบันคือเม็กซิโกซิตี) แห่งอาณาจักรแอซเทก ในปี 2062 นายพลมีทหาร 500 คน ปืน 14 กระบอก และม้า 16 ตัว เมื่อชนเผ่าแอซเทกเห็นนายพลคอร์เตซและเหล่าทหารนั่งบนหลังม้าซึ่งเป็นสัตว์ที่คนแอซเทกไม่เคยเห็นมาก่อนเลย เพราะม้าได้สูญพันธุ์ไปจากทวีปอเมริกาเป็นเวลาร่วมล้านปีแล้ว การเห็นนายพลคอร์เตซทำให้ชาวแอซเทกคิดว่าองค์เทพ Quetzalcoatl ที่พวกตนเคารพ และนับถือแต่ได้ผละทิ้งพวกตนไป ได้หวนกลับมาอีก และบัดนี้องค์เทพกำลังประทับอยู่บนหลังสัตว์ประหลาด ชนแอซเทกจึงพร้อมใจกันยกอาณาจักรของตนให้ท่านนายพลทันที

จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์มหาราชก็ทรงโปรดใช้ม้าในการทำสงครามเช่นกัน โดยทรงม้าชื่อ Bucephalus ออกทำศึกสงครามทั่วทุกสารทิศ ทำให้อาณาจักรมาซีโดเนียของพระองค์ยิ่งใหญ่ไพศาลมาก เมื่อ Bucephalus ตาย อเล็กซานเดอร์มหาราชทรงเสียพระทัยมาก จึงโปรดให้สร้างเมือง Bucephalia เป็นอนุสรณ์แก่ม้าคู่ชีพของพระองค์
ยุโรปในสมัยกลางมียุคหนึ่งที่เรียกว่ายุค chivalry (คำนี้มาจาก cheval ที่แปลว่า ม้า) ซึ่งมีประเพณีว่า อัศวินต้องมีม้าคู่กาย ถ้าอัศวินประสบปัญหาการเงินถึงขั้นล้มละลาย สมบัติของเขาชิ้นที่ใครก็ไม่สามารถยึดครองได้ คือเสื้อเกราะและม้า ซึ่งอาจจะมีจำนวนมากถึงสี่ตัวตามความจำเป็น คือ ตัวแรกเป็นม้านำที่ต้องมีขนาดใหญ่ เพื่อให้แก่ผู้พบเห็นเกรงขาม อัศวินให้ม้าตัวนี้เดินนำในพิธีต่างๆ และอัศวินจะขี่ม้าตัวที่ 2 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ส่วนม้าตัวที่ 3 เป็นม้าศึกที่แข็งแรงและคล่องแคล่ว จึงเป็นม้าประจำตัวของอัศวิน และม้าตัวสุดท้ายเป็นม้าตาม ซึ่งอัศวินจะไม่ขี่ แต่ใช้ขนสัมภาระส่วนตัวของอัศวิน เช่น หอก ธนู และโล่ เป็นต้น

การแข่งรถศึกที่ใช้ม้าลาก (chariot) เป็นกีฬาประเพณีหนึ่งที่คนโรมันนิยมมาก ในวารสาร History Today ฉบับเดือนธันวาคม 2541 D. Bennett แห่งมหาวิทยาลัย Regensburg ในประเทศเยอรมนี ได้รายงานว่า ที่ผิวของเครื่องปั้นดินเผาที่เขาขุดพบที่เมือง Tiryns ในประเทศกรีซ มีภาพการแข่งขันรถศึกที่ใช้ม้าลากสองคัน การตรวจสอบพบว่าเครื่องปั้นดินเผานั้นมีอายุประมาณ 3,300 ปี อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ได้จารึกว่า การแข่งรถศึกที่ใช้ม้าลากได้รับความนิยมสูงสุดในรัชสมัยของจักรพรรดิ Romulus แห่งโรมในปี 643 เพราะผู้คนโรมันยุคนั้นมักจัดการแข่งขันรถม้าศึกบ่อยถึง 180 วันต่อปี แต่เมื่อคนขับรถม้าศึกประสพอุบัติเหตุถึงขั้นทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตบ่อย เพราะเวลาแข่งขันคนขับรถม้าศึกจะรู้สึกฮึกเหิม เมื่อได้ยินเสียงเชียร์กึกก้องของผู้ชม เขาจะลืมตายทำให้เกิดอุบัติเหตุ ในที่สุดความนิยม “กีฬา” ทารุณชนิดนี้ก็เริ่มลดลงและถึงกาลอวสานไปพร้อมกับการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน

เมื่อม้าและคนมีความผูกพันมาเนิ่นนานเช่นนี้ สิ่งที่นักประวัติศาสตร์ ใคร่รู้คือ วิวัฒนาการของม้าที่ได้เข้ามาข้องเกี่ยวกับชีวิตคนเมื่อไหร่ และอย่างไร

นักชีววิทยาสัตว์ดึกดำบรรพ์ได้พบว่า บรรพบุรุษของม้าปัจจุบันคือม้ายุคแรกๆ ชื่อ Eohippus ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hyracotherium ที่เคยมีชีวิตเมื่อ 50 ล้านปีก่อนนี้ ลักษณะทั่วไปของม้านี้คล้ายม้าปัจจุบัน แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก คือ ใหญ่เท่าสุนัขจิ้งจอก และเท้ามิได้เป็นกีบ แต่มีนิ้ว เท้าคู่หน้ามีสี่นิ้ว และเท้าคู่หลังมีสามนิ้ว การมีนิ้วทำให้มันดำรงชีวิตในป่าที่มีดินไม่แข็งได้ดี ม้ายุคนี้กินใบไม้และผลไม้ป่าเป็นอาหาร เลี้ยงลูกด้วยนม จนถึงเมื่อ 35 ล้านปีก่อน Eohippus ได้เริ่มเปลี่ยนรูปร่างเป็น Miohippus ที่เท้าคู่หน้ามีนิ้วเหลืออยู่เพียงสามนิ้ว และขายาวขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปอีก 10 ล้านปี พื้นที่โลกส่วนที่เป็นป่าได้ลดขนาดลง และทุ่งหญ้ามีพื้นที่เพิ่มขึ้น พฤติกรรมกินของม้า Merychippus ซึ่งวิวัฒนาการมาจาก Miohippus ก็เริ่มเปลี่ยนไปกินหญ้ามากขึ้น ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่เท้ายังมีนิ้วสามนิ้ว และนิ้วเท้าโดยเฉพาะนิ้วกลางมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้รับน้ำหนักตัวได้ดีขึ้น ทำให้สามารถวิ่งบนดินแข็งได้ดีขึ้น ลุถึงเมื่อ 5 ล้านปีก่อน นิ้วด้านข้างทั้งสองนิ้วได้หดหายไป เหลือแต่นิ้วกลางที่เป็นกีบเพียงนิ้วเดียวเป็นม้า Pliohippus ต้นตระกูลของม้าปัจจุบัน Equus ที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นสัตว์กีบเดียว สามารถวิ่งบนดินแข็งได้เร็วประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กระโดดได้สูง 2.5 เมตร และไกล 12 เมตรอย่างสบายๆ

ส่วนนักมานุษยวิทยาที่สนใจพฤติกรรมของมนุษย์ในการนำม้าป่ามาเลี้ยงก็พบว่า เมื่อมนุษย์ยุคหินฆ่าม้ากินเนื้อเป็นอาหารแล้ว แม่ม้าที่มีลูกอ่อนซึ่งตามปรกติจะเป็นสัตว์ที่เชื่อง ได้ทำให้มนุษย์รู้สึกสงสารจึงนำลูกม้าป่ามาเลี้ยง แต่มนุษย์ในสมัยนั้นต้องต่อสู้กับสัตว์ป่าและสภาพแวดล้อมที่เถื่อนตลอดเวลาเพื่อการอยู่รอด ดังนั้นจึงไม่มีเวลาฝึกสัตว์ป่าให้เป็นสัตว์เลี้ยง แต่เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักอยู่เป็นหลักแหล่ง เป็นหมู่บ้าน และรู้จักทำเกษตรกรรม มนุษย์ก็เริ่มนำลูกม้าป่ามาเลี้ยงเพื่อใช้งาน และเริ่มผสมพันธุ์ม้า ทำให้ม้าบ้านมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากม้าป่าทั้งๆ ที่สัตว์ทั้งสองจะเป็นสัตว์ชนิดเดียวกันก็ตาม

เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนนี้ D. Anthony แห่ง Hartwick College ในรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รายงานการพบกระดูกม้าในบริเวณลุ่มแม่น้ำ Dnieper ในแคว้นยูเครนว่า ชนเผ่า Sintasha Petrovka ได้รู้จักขี่ม้าเป็นครั้งแรกเมื่อ 6,300 ปีมาแล้ว เขาได้ข้อสรุปนี้จากการศึกษากระดูกฟันของม้าพบว่ามีรอยกร่อน ซึ่งมิได้มีสาเหตุจากฟันผุ และอธิบายว่ารอยกร่อนที่ลึก 3-4 มิลลิเมตรนี้ เกิดจากการที่คนขี่กระตุกบังเหียนเหล็กที่ใช้สวมเข้าช่องปากม้า ดังนั้นเวลาบังเหียนเสียดสีกับฟัน ฟันจึงมีรอยกร่อน Anthony ยังกล่าวเสริมอีกว่า เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักขี่ม้า อารยธรรมของมนุษย์ก็เริ่มเปลี่ยน เพราะว่าม้าเป็นสัตว์ที่แข็งแรงและวิ่งเร็ว ดังนั้นการเดินทางด้วยม้าจึงทำให้มนุษย์สามารถเดินทางได้ไกลถึง 130 กิโลเมตรต่อวัน จากเดิมที่เคยเดินได้วันละ 20 กิโลเมตร การติดต่อสื่อสารจึงเร็วขึ้น นอกจากนี้ ความแข็งแรงของม้าก็ทำให้คนนิยมใช้ลากรถและบรรทุกสัมภาระ แทนการใช้ลา หรือในสงคราม กองทัพที่มีม้าจะได้เปรียบกองทัพที่ไร้ม้า เพราะทหารม้าสามารถเข้าโจมตีข้าศึกแล้วถอยหนีได้อย่างรวดเร็ว

ในวารสาร Science ฉบับที่ 291 วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2543 C. Vila และ N. Ellegren แห่งมหาวิทยาลัย Uppsala ในประเทศสวีเดน ได้รายงานการพบหลักฐานเพิ่มเติมที่อธิบายว่า ม้าป่ากลายมาเป็นม้าบ้านได้อย่างไร

ตามความเข้าใจของนักโบราณคดี ผู้คนในยูเครน คาซักสถาน และมองโกเลีย เริ่มล่าม้าเป็นอาหารก่อน ต่อมาจึงจับมาเลี้ยง แต่นักโบราณคดีหลายคนไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้เพราะกระดูกม้าอายุ 5,000 ปีที่ขุดพบแสดงให้เห็นวิธีการที่คนยุคนั้นกินเนื้อม้าเท่านั้น หาได้แสดงเวลาที่คนรู้จักนำม้ามาเลี้ยงไม่ Vila จึงเสนอวิธีการใหม่ในการวิเคราะห์หาเวลาที่มนุษย์นำม้ามาเลี้ยงเป็นครั้งแรก โดยการเปรียบเทียบ DNA ที่ได้จากฟอสซิลม้า เพราะเขารู้ว่า mitochondrial DNA (mtDNA) อันเป็นสารพันธุกรรมที่ลูกได้จากแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่มีการถ่ายทอดพันธุกรรม ดังนั้นการศึกษาวิวัฒนาการของ mtDNA จะทำให้รู้ขั้นตอนการกลายพันธุ์ของม้าได้ และถ้าม้าถูกนำมาเลี้ยงเป็นครั้งแรกโดยชนกลุ่มเดียว แล้วถ้าม้าตัวนั้นได้กลายพันธุ์ไป mtDNA ของม้าทุกตัวที่กำลังมีชีวิตอยู่ ณ วันนี้ จะต้องมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่ไม่แตกต่างกันมาก แต่เมื่อเขานำตัวอย่างเลือดม้าสวีเดน 191 ตัว และม้าพันธุ์ Przewalski ซึ่งเป็นม้าป่าขนาดเล็กที่พบมากในมองโกเลียมาเปรียบเทียบกับ DNA ที่ได้จากกระดูกม้าแช่แข็งอายุ 12,000 ปี ในเอสโตเนีย เขาก็พบว่า mtDNA ของม้าปัจจุบันมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมาก ซึ่งนั่นก็หมายความว่า มนุษย์สมัยโบราณในที่ต่างๆ เริ่มนำม้ามาเลี้ยงเป็นครั้งแรกในเวลาต่างๆ กัน และการผสมพันธุ์กับระหว่างม้าป่ากับม้าบ้านจึงทำให้พันธุ์ม้าปัจจุบันมีหลากหลาย

สุทัศน์ ยกส้าน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ม้าปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น