คนโบราณทุกชาติมีตำนานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับงู อาทิ ชาวอียิปต์เชื่อว่า เมื่อสุริยเทพ (Ra) ทรงปรากฏพระองค์เหนือทะเล งูเป็นสัตว์ตัวแรกที่ตระหนักและน้อมรับว่าพระองค์คือเทพเจ้าสูงสุด นอกจากนี้คนอียิปต์ยังยกย่องงูเป็นเทพเจ้าแห่งการต่อสู้ป้องกันตัวด้วย ด้านพระนางคลีโอพัตรานั้นก็ทรงโปรดงูมาก ถึงกับมีพระราชเสาวนีย์ให้ช่างทำเครื่องประดับต่างๆ เป็นรูปงู
คนกรีกโบราณนับถืองูเป็นสัตว์พิเศษเช่นกัน เพราะงูสามารถเป็นมิตรทั้งกับเทวดาและซาตาน ชาวกรีกผู้มั่งคั่งมักให้จิตรกรวาดภาพปูนเปียกบนผนังรูปเป็นงูสองตัวสู้กัน ทั้งนี้เพราะนิยมการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจ โรงเรียนกรีกโบราณมีการสอนเรื่องงูเป็นวิชา ophiology (ophis ในภาษากรีกแปลว่างู) เทพนิยายกรีกมีงูยักษ์ชื่อ Ophion ซึ่งเวลาแลบลิ้นเลียหูของ Melampus ได้ทำให้เขาสามารถเข้าใจภาษานกและแมลงได้ เทพนิยายกรีกยังมีนางเมดูซาผู้มีเส้นผมเป็นงูพิษ และเมื่อนางถูกเทพ Perseus ตัดศีรษะ หยดเลือดที่หลั่งรินได้กลายเป็นงูพิษมากมาย และชาวกรีกยังมี Aesculapius ผู้เป็นเทพแห่งการรักษาไข้ ที่ทรงถือไม้เท้าซึ่งมีงูพันและไม้เท้านี้ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของสมาคมแพทย์ปัจจุบัน
ชาวอินเดียก็นับถืองู เพราะเชื่อว่าปราชญ์ Garga ผู้เป็นบิดาของวิชาดาราศาสตร์ของอินเดียได้รับศาสตร์ความรู้จากงู เมื่อถึงวันที่ 5 ของเดือน Shravan ทุกปี บรรดาชาวอินเดียที่นับถืองูจะจัดงาน Naga Panchami เฉลิมฉลองโดยการนำงูเห่ามาร่ายรำประกอบการบรรเลงปี่ (ในความเป็นจริงหูงูจะได้ยินเสียงที่มีความถี่ต่ำเท่านั้น ดังนั้นงูจึงไม่ได้ยินเสียงปี่เลย และการที่งูแสดงลีลาโยกย้ายส่ายตัวนั้นก็เลียนตามลักษณะการโยกตัวของคนเป่าปี่ นอกจากนี้การโยกตัวยังทำให้งูสามารถชูตัวตั้งได้ ดังนั้นทันทีที่เสียงปี่หยุด และคนเป่าปี่หยุดนิ่ง งูก็จะทรุดตัวลงกับพื้นตามธรรมชาติของมัน) ส่วนงูอื่นๆ ที่เลี้ยงตามศาสนสถานในอินเดีย ก็มักจะได้กินอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ในงานเทศกาลนี้เช่นกัน
ชาวแอซเตกมีเทพ Quetzalcoatl ผู้ทรงรอบรู้เรื่องศิลปกรรมและเกษตรกรรม คือเป็นผู้ปกป้องไร่ข้าวโพด พระองค์ทรงมีพระวรกายครึ่งนกครึ่งงู ชาวไวกิงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับงูยักษ์ที่ Midgard ซึ่งเป็นอาณาจักรที่อยู่ระหว่างนรกกับสวรรค์ เมื่อคนบนโลกตายทุกวิญญาณที่จะไปนรกหรือสวรรค์จะต้องเดินทางผ่านด่านงูตัวนี้ คัมภีร์ไบเบิลก็มีงู เป็นมารร้ายในสวนสวรรค์อีเดน เพราะงูได้ลวงให้ Eve กินผลไม้ต้องห้ามบนต้น Tree of Life เหตุการณ์นี้ทำให้พระเจ้าพิโรธ จึงทรงอัปเปหิทั้ง Adam และ Eve ออกจากสวนอีเดน
นอกจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับงูบกแล้ว เรื่องเล่าเกี่ยวกับงูทะเลก็มีมากเช่นกัน ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวยุโรปเดินทางผจญภัยในต่างแดน เพื่อล่าอาณานิคมและแสวงหาทรัพยากรใหม่ เมื่อกลับมาได้เล่าว่า ในประเทศแอฟริกาใต้ ณ บริเวณแม่น้ำ Orange มีถ้ำที่มีเพชรนิลจินดาซุกซ่อนอยู่ โดยมีงูยักษ์ชื่อ Grootslang เฝ้าที่ปากถ้ำ งูนี้มีลำตัวยาว 13 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของลำตัวยาว 1 เมตร ส่วน Hans Egede ผู้เป็นหมอสอนศาสนาชาวสแกนดิเนเวียก็ได้บันทึกในปี ค.ศ.1734 ว่า ขณะเดินทางใกล้ถึงเกาะกรีนแลนด์ ได้เห็นงูทะเลที่มีลำตัวยาว 3-4 เท่าของเรือ หลังจากที่งูได้ชูคอเหนือผิวน้ำจนศีรษะอยู่สูงถึงปลายเสากระโดงแล้วได้ดำน้ำหายไป ในอังกฤษมีรายงานคนเห็นงูทะเลเช่นกัน เช่น เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ.1817 ณ บริเวณปากอ่าว เมือง Gloucester กะลาสี 20 คนได้รายงานว่าเห็นงูยักษ์ขนาดยาว 13 เมตร ศีรษะมีขนาดใหญ่เท่าถังเบียร์ ว่ายน้ำเข้าหาเรือด้วยความเร็วประมาณ 30-40 กิโลเมตร/ชั่วโมง จนอยู่ใกล้ประมาณ 10 เมตร ความหวาดกลัวทำให้กะลาสีใช้ปืนยิง แต่กระสุนทำอะไรงูไม่ได้ จากนั้นงูได้ดำน้ำหายไปโดยไม่สนใจจะแก้แค้นคนที่มุ่งร้ายมันเลย
สืบเนื่องจากการมีความหมกมุ่นและปักใจเชื่อว่าโลกยังมีและเคยมีงูยักษ์ ความเชื่อนี้ได้ชักนำให้ชายหนุ่มชื่อ Albert Koch หลอกลวงประชาชนว่าเขามีหลักฐานเกี่ยวกับงูยักษ์ โดยในปี 1945 Koch ได้จัดงานแสดงซากกระดูงูที่ยาวเกือบ 40 เมตร ที่พิพิธภัณฑ์เบอร์ลิน ความมโหฬารของซากได้ทำให้ชาวเยอรมันทึ่งและแตกตื่นมาก แต่เมื่อ Jeffries Wyman นักชีววิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ดึกดำบรรพ์ได้ทดสอบกระดูกฟันของงูตัวนั้น ก็พบว่ามันเป็นฟันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หาใช่ฟันของสัตว์เลื้อยคลานไม่ และกระดูกงูทั้งหมด เป็นกระดูกวาฬที่ถูกนำมาวางเรียงกัน การหลอกลวงครั้งนั้นจึงทำให้ Koch ติดคุกด้วยข้อหาต้มตุ๋นประชาชน
ในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1848 Peter M’Quhae กัปตันชาวอังกฤษแห่งเรือรบหลวง Daedalus ได้แถลงในหนังสือพิมพ์ London Time ว่าเห็นงูทะเลที่ยาว 20 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง กว้าง 1.5 เมตร ชูศีรษะเหนือผิวน้ำที่ระดับสูง 1.5 เมตร คองูมีสีเหลือง-ขาว แล้วงูก็ดำน้ำหายไป ข่าวนี้มีคนทั้งเชื่อและไม่เชื่อ โดยคนที่เชื่ออ้างว่าผู้ที่เห็นงูเป็นทหาร เพราะทหารไม่โกหก ดังนั้นคำอ้างจึงมีน้ำหนัก แต่คนที่ไม่เชื่อก็ให้เหตุผลว่า คนเห็นมิใช่นักชีววิทยา จึงไม่มีวิธีสังเกตที่ดี ดังนั้นสิ่งที่อ้างจึงขาดรายละเอียดสนับสนุน แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดของการไม่เชื่อ คือ ทุกคำอ้างไม่มีหลักฐานเช่นภาพถ่ายหรือโครงกระดูกให้เห็น
ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2009 Jason J. Head แห่งมหาวิทยาลัย Toronto ในแคนาดาและคณะ ได้รายงานการพบซากฟอสซิลชองงูเหลือมที่ยาว 12.82 ±2.18 เมตร และมีน้ำหนักตั้งแต่ 1,135 ถึง 1,815 กิโลกรัม ว่างูนี้เคยมีชีวิตเมื่อ 58-60 ล้านปีก่อน ในป่าฝนซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศโคลอมเบียในอเมริกาใต้
ขนาดมโหฬารของซากฟอสซิลทำให้มันเป็นซากกระดูกงูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จึงได้รับการตั้งชื่อว่า Titanoboa cerrejonensis ชื่อแรกมาจากคำ Titan ในภาษากรีกที่แปลว่า ยักษ์ และ boa ที่แปลตรงๆ ว่า งูเหลือม ส่วนชื่อหลังบอกสถานที่พบซากกระดูกงูว่า คือที่เมือง Cerrejón ดังนั้นคำแปลเต็มยศของชื่องูตัวนี้คือ งูเหลือมยักษ์แห่งเมือง Cerrejón นอกจากซากงูแล้ว Head ยังพบกระดูกจระเข้และปลาในบริเวณนั้นด้วย ซากกระดูกเหล่านี้ทำให้นักชีววิทยารู้ว่างูยักษ์กินจระเข้และปลาเป็นอาหาร
การพบซากงูนอกจากจะให้ความรู้ด้านสัตว์วิทยาโดยตรงแล้ว ขนาดของงูยังช่วยให้นักอุตุนิยมวิทยารู้สภาพดินฟ้าอากาศเมื่อ 58 ล้านปีก่อนด้วย ดังที่เรารู้ว่าโลกกำลังร้อนขึ้นๆ ตลอดเวลาเพราะอิทธิพลของปรากฏการณ์เรือนกระจก นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนจึงหันมาสนใจศึกษาสภาพดินฟ้าอากาศในยุคดึกดำบรรพ์ ก่อนมนุษย์จะถือกำเนิดบนโลก และได้พบว่าในยุคพาลีโอจีน (Paleogene) คือเมื่อ 40-65 ล้านปีก่อน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงกว่าปัจจุบันมาก เขาได้ข้อสรุปนี้จากการขุดพบซากฟอสซิลจระเข้และต้นปาล์ม ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตเขตร้อนในบริเวณทวีปอาร์กติก ไซบีเรีย และรัฐไวโอมิงของอเมริกา และเมื่อนำตัวอย่างของอากาศที่แฝงอยู่ในน้ำแข็งในยุคนั้นมาประกอบการพิจารณา ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าบริเวณขั้วโลก ณ เวลานั้นมีอุณหภูมิสูงประมาณ 15 องศาเซลเซียส และถ้าอุณหภูมิอาร์กติกสูงปานนั้น อุณหภูมิแถบเส้นศูนย์สูตรจะสูงเพียงใด
ใครเลยจะคิดว่า คนที่ตอบคำถามนี้ได้คือ Head ผู้พบซากงูดึกดำบรรพ์ที่ Cerrejón ในโคลอมเบียในความเข้าใจของคนทั่วไป เขตร้อนคืออาณาบริเวณของโลกที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 30 องศาเหนือกับ 30 องศาใต้ และบริเวณนี้เป็นแผ่นดินที่มีพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นดินทั้งโลก ดังนั้นเขตร้อนจึงมีความสำคัญมากในการควบคุมและกำหนดสภาวะเรือนกระจกของโลก เพราะมีป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิดเป็นจำนวนมากกว่าบริเวณอื่นใดของโลก โดยเฉพาะสัตว์พวก Poikilotherm อันเป็นสัตว์บกขนาดใหญ่ที่หายใจในอากาศ ซึ่งนักชีววิทยาได้พบว่าอุณหภูมิร่างกายแปรตรงกับอุณหภูมิแวดล้อม ทั้งนี้เพราะระบบ metabolism ที่สร้างพลังงานโดยการเผาผลาญอาหารต้องทำงานอย่างสมดุลกับสภาพแวดล้อมตลอดเวลา ทำให้อัตราการสร้างพลังงานในร่างกายขึ้นกับอุณหภูมิ ด้วยเหตุนี้สัตว์ Poikilotherm เช่นงูยักษ์จึงต้องใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณที่มีอากาศอบอุ่น ส่วนงูขนาดเล็กต้องอยู่ในบรรยากาศที่เย็นกว่า
จากหลักการนี้ Head จึงได้ข้อสรุปว่า งูยักษ์แห่ง Cerrejón ในโคลอมเบียเคยใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงประมาณ 32-33 องศาเซลเซียส จึงนับว่าสูงกว่าสถิติที่ได้จากการศึกษาอื่นๆ ถึง 7 องศาเซลเซียส และนี่ก็คือการศึกษาแรกของโลกที่ใช้งูเป็นเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิยุคดึกดำบรรพ์
แต่นี่ก็อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของปริศนานี้ เพราะคำถามอื่นๆ ที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนก็มี เช่น กระดูกงูที่พบบอกขนาดที่แท้จริงของงูหรือไม่ และความเชื่อที่ว่าขนาดของสัตว์แปรโดยตรงกับอุณหภูมิแวดล้อมนั้นเป็นจริงที่ระดับความเชื่อมั่นเพียงใด แล้วเหตุใดนักชีววิทยาจึงยังไม่พบซากงูยักษ์ในเขตร้อนอื่นๆ ของโลกบ้าง เหล่านี้ถือเป็นปริศนาที่ต้องหาคำตอบครับ
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
"หนังสือ สุดยอดนักฟิสิกส์โลก โดย ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน
มีจำหน่ายแล้วตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป ในราคา 220 บาท"