xs
xsm
sm
md
lg

พบซาก “ช้างสเตโกคอน” อายุ 1.8 ล้านปี ในถ้ำมนุษย์หินโบราณสตูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สตูล - นักธรณีวิทยาพบซาก “ช้างสเตโกคอน” ดึกดำบรรพ์ อายุ 1.8 ล้านปี ตัวที่ 2 ของจังหวัดสตูล ในถ้ำมนุษย์หินโบราณ พร้อมฟอสซิล 215 ชิ้น เตรียมผลักดันเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยา

วันนี้ (22 เม.ย.) ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีวิทยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อม นายจรูณ ด้วงกระยอม นักธรณีวิทยา นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายก อบต.ทุ่งหว้า และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กว่า 20 คน เดินทางสำรวจภายในถ้ำ วังกล้วย บริเวณ ม.7 ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล ซึ่งเป็นการลงสำรวจเป็นครั้งที่ 11 นับตั้งแต่เริ่มต้นค้นหาซากดึกดำบรรพ์ มานานเกือบ 4 ปี

การลงพื้นที่ในครั้งนี้เจ้าหน้าค้นพบซากดึกดำบรรพ์ ที่มีอายุระหว่าง 1.8 ล้านปี เพิ่มเติมอีก 16 ชิ้น รวมทั้งหมด 215 ชิ้น ในพื้นที่ 5 จุดตลอดความยาวถ้ำ ซึ่งมีชิ้นส่วนของกระดูกสันหลังและฟันกรามของแรด ชิ้นส่วนของขวานหินขัดโบราณ อายุกว่า 5,000 ปี ที่สำคัญ มีการค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญของ ช้างสเตโกคอน ที่สูญพันธุ์ไปแล้วหลายพันปี คือ ฟันกรามส่วนที่ 2 และส่วนที่ 3 ซึ่งคล้ายคลึงกับตัวอย่างที่เคยเก็บได้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีวิทยา นำกลับไป

ด้าน นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายก อบต.ทุ่งหว้า กล่าวว่า “ถ้ำกล้วย” เป็นพื้นที่แห่งใหม่ที่ทาง องค์การบริหารส่วนตำบล ร่วมกับ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีวิทยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนักธรณีวิทยา สำรวจค้นหาซากดึกดำบรรพ์บริเวณภายในถ้ำ พบว่า ถ้ำแห่งนี้มีความสวยงามของหินงอกหินย้อย บรรยากาศมีลมพัดผ่าน และมีความกว้างขวาง เหมือนเป็นที่อยู่ของมนุษย์โบราณ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า ถ้ำเล มีลักษณะความยาวเป็นทางแยกคล้ายตัว วาย ความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร

เส้นทางทั้งหมดสามารถใช้เรือคายัค หรือเรือยางพายเข้าไปชมธรรมชาติด้านในได้ ซึ่งความยาวด้านหนึ่งสามารถทะลุ ออกบริเวณทะเลอันดามันและขึ้นฝั่งได้บริเวณ “ท่าอ้อย” ได้ ส่วนทางเข้าอีกด้านทะลุ บริเวณ ต.ทุ่งหว้า ส่วนฐานตัววายจะอยู่บริเวณปลายถ้ำ ซึ่งเป็นทางตัน

ทั้งนี้ นายจรูณ ด้วงกระยอม นักธรณีวิทยา และอาจารย์สถาบันสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีวิทยา ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ซากดึกดำบรรพ์ต่างๆ ภายในบริเวณถ้ำกล้วยแห่งนี้ มีคุณค่าทางการศึกษาด้าน “บรรพชีวิน” เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากการค้นพบซากฟอสซิลและซากดึกดำบรรพ์ครบทั้ง 6 ยุค ที่คาดว่า อยู่ในช่วง 1.8 ล้านปีแล้ว ยังพบซากฟอสซิลของวัตถุและสัตว์ครบทั้ง 6 ยุค ซึ่งสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน และทรัพยากรธรณีวิทยา ได้ลงสำรวจมา 11 ครั้งแล้ว สามารถเก็บฟอสซิลได้แล้วทั้งหมดประมาณ 215 ชิ้น ซึ่งสถาบันจะนำชิ้นส่วนที่พบในครั้งนี้ไปประกอบเข้ากับชิ้นส่วนที่มีอยู่แล้วต่อไป

“ช้างสเตโกคอน” นั้น จัดเป็นช้างโบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 1.8 ล้านปี และการค้นพบฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์ในพื้นที่ จ.สตูล ครั้งนี้ถือได้ว่า เป็นการค้นพบซากดึกดำบรรพ์เป็นจังหวัดแรกในพื้นที่ภาคใต้ สถาบันเห็นว่า สมควรที่จะมีการผลักดันให้เป็น พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยาต่อไปได้ ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนที่กำลังดำเนินการผลักดันอยู่



กำลังโหลดความคิดเห็น