xs
xsm
sm
md
lg

พบซากไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ “ญาติกิ้งก่าทรราช”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลอง จูเฉิงไทแรนนัส แม็กนัส ของบรรดานักวิทยาศาสตร์จีน (ภาพเอเยนซี)
ไชน่า เดลี - นักวิทยาศาสตร์จีน พบซากฟอสซิลไดโนเสาร์สองชนิดในมณฑลซานตง ภาคตะวันออกของประเทศจีน และได้พิสูจน์และยืนยันแล้วว่าชนิดหนึ่งเป็นซากไดโนเสาร์ประเภทเทอโรพอดสายพันธุ์ใหม่ ที่มีสายเลือดใกล้ชิดกับที.เร็ก

กลุ่มสื่อจีนรายงานในวันเสาร์(14 พ.ค.) โดยอ้างผู้เชี่ยวชาญบรรพชีวินวิทยาว่า “พวกเราได้ตั้งชื่อแก่ซากฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ที่พบในเมืองจูเฉิง มณฑลซานตง นี้ว่า“จูเฉิงไทแรนนัส แม็กนัส” (Zhuchengtyrannus magnus) มีสายเลือดใกล้ชิดกับไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ หรือ ที.เร็กซ์ ประมาณว่ามีความยาว 11 เมตร สูง 4 เมตร มีน้ำหนักเกือบ 7 ตัน และหลังจากตรวจสอบกะโหลกและขากรรไกรแล้ว พบว่าขากรรไกรส่วนบนมีลักษณะทรงพลังโดดเด่น”

ทั้งนี้ ไทแรนโนซอรัส เรกซ์ หรือ ที.เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ ไทแรนโนซอรัส หรือ ทิแรนโนซอรัส ซึ่งเป็นสกุลหนึ่งของไดโนเสาร์ประเภทเทอโรพอด  สำหรับคำว่า “ไทแรนโนซอรัส” นี้ (Tyrannosaurus) มากจากภาษากรีก แปลว่า "กิ้งก่าทรราช" ส่วน เร็กซ์ (rex) แปลว่า "ราชา"


สีว์ สิง นักวิจัยแห่งสถาบันบรรพชีวินสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษวิทยาบรรพชีวิน (Institute of Vertebrate Palaeontology and Paleoanthropology) ภายใต้สถาบันสังคมศาสตร์จีน เผยว่า “เราได้ค้นพบซากฟอสซิลไทแรนโนซอรัสสองชนิดที่เมืองจูเฉิง โดยอีกชนิดหนึ่งยังไม่อาจพิสูจน์และยืนยันได้”

“จากการตรวจสอบซากฟอสซิล กระดูกของจูเฉิงไทแรนนัส มีขนาดเล็กกว่าไม่กี่เซนติเมตรของกระดูกที.เร็กซ์ จึงสันนิษฐานว่า ซากฟอสซิลดังกล่าวเป็นไดโนเสาร์ตระกูลเดียวกับไทแรนโนซอล์(tyrannosaur) 

 "จูเฉิงไทแรนนัสนั้น เป็นไดโนเสาร์เทอโรพอดขนาดมหึมา ที่เรียกว่าไทแรนนอเซอไรน์ (Tyrannosaurine) ซึ่งอยู่แถบทวีปอเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออก ระหว่างช่วงยุคปลายครีเตเชียส (Late Cretaceous Period) เมื่อ 65-99 ล้านปีก่อน"

ไดโนเสาร์กลุ่มนี้ ซึ่งรวมทีเรกซ์ และญาติสนิทอย่างไดโนเสาร์ ทาร์บอซอรัส (Tarbosaurus) ของเอเชียนั้น จัดเป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่มีแขนเล็ก มือมี 2 นิ้ว และมีขากรรไกรขนาดใหญ่ที่มีกำลังมาก ซึ่งสามารถบดเคี้ยวกระดูกได้ และนอกจากเป็นนักล่าแล้ว ไดโนเสาร์กลุ่มนี้ยังกินซากสัตว์อีกด้วย

แหล่งฟอสซิลในเมืองจูเฉิง เป็นหนึ่งในแหล่งกระดูกไดโนเสาร์ที่ชุกชุมที่สุดของโลก นับตั้งแต่ช่วงปี 2503 มีการค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ในที่แห่งนี้แล้วอย่างน้อยสิบสายพันธุ์ ซึ่งรวมทั้งไทแรนโนซอรัส ฮาโดรซอร์ (hadrosaur) หรือไดโนเสาร์ปากเป็ดขนาดใหญ่
ภาพขากรรไกรส่วนล่างของจูเฉิงไทแรนนัส (ภาพเอเยนซี
ภาพขากรรไกรส่วนล่างของจูเฉิงไทแรนนัส (ภาพเอเยนซี)
กำลังโหลดความคิดเห็น