xs
xsm
sm
md
lg

พบญาติทีเร็กซ์ “จูเฉิงไทแรนนัส” ไดโนเสาร์นักล่าพันธุ์ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจูเฉิงไทแรนนัส ตามที่นักวิทยาศาสตร์จินตนาการ (บีบีซีนิวส์)
เปิดตัว “จูเฉิงไทแรนนัส” ไดโนเสาร์ยักษ์ใหญ่พันธุ์ใหม่ ญาติใกล้ชิดของ “ทีเรกซ์” ตัวอย่างสัตว์กินเนื้อในยุคปลายครีเตเชียส ที่พบหลักฐานฟอสซิลในเมืองจีน หนักถึง 6 ตัน ตัวยาวถึง 11 เมตร

ฟอสซิลของไดโนเสาร์เทอโรพอด (theropod) พันธุ์ใหม่นี้ ได้รับการยืนยันว่าเป็นญาติใกล้ชิดกับ ไทแรนอซอรัส เรกซ์ (Tyrannosaurus rex) หรือ ทีเรกซ์ โดยไดโนเสาร์นักล่าพันธุ์ใหม่ดังกล่าวคือ จูเฉิงไทแรนนัส แมกนัส (Zhuchengtyrannus magnus) ซึ่งคาดว่ามีความสูงถึง 4 เมตร ความยาวตลอดตัวเป็น 11 เมตร และหนักถึง 6 ตัน

เทอโรพอดพันธุ์นี้ คล้ายกับทีเรกซ์ตรงที่เป็นสัตว์กินเนื้อและมีขากรรไกรที่ทรงพลังมาก บีบีซีนิวส์ระบุว่า จูเฉิงไทแรนนัสวิ่งด้วยขาหลังที่แข็งแรง แต่ขาหน้ากลับเล็กและไม่แข็งแรง นักบรรพชีวินวิทยารายงานการค้นพบครั้งนี้ ลงวารสารครีเตเชียสรีเสิร์ช (Cretaceous Research)

ดร.เดวิด โฮน (Dr.David Hone) จากยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ดับลิน (University College Dublin) ในไอร์แลนด์ ซึ่งนำทีมค้นพบในครั้งนี้ และเป็นผู้ตั้งชื่อให้แก่ไดโนเสาร์กินเนื้อพันธุ์ใหม่นี้ กล่าวว่า จูเฉิงไทแรนนัสนั้น เป็นไทแรนนอเซอไรน์ (Tyrannosaurine) ขนาดมหึมาอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ด้วยกะโหลกและขากรรไกรนั้น ทำให้ยากที่จะวัดขนาดทั้งตัวของไดโนเสาร์ได้อย่างแม่นยำ

อย่างไรก็ดี กระดูกที่พวกเขามีนั้น เล็กกว่ากระดูกลักษณะคล้ายๆ กัน ของตัวอย่างทีเรกซ์ ที่มีเพียงไม่กี่เซนติเมตร

ชื่อของเทอโรพอดพันธุ์ใหม่นี้หมายถึง “จอมโหดแห่งจูเฉิง” (Tyrant from Zhucheng) เนื่องจากกระดูกฟอสซิลของไดโนเสาร์ตัวนี้ถูกพบในเมืองจูเฉิง (Zhucheng) ของมณฑลซันตง (Shandong) ทางตะวันออกของจีน

ทั้งนี้ ไทแรนเนอซอไรน์นั้น เป็นกลุ่มพิเศษของเทอโรพอดขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นไดโนเสาร์ที่มีความเป็นไปได้ว่า มีวิวัฒนาการมาเป็นนกในปัจจุบัน โดยไดโนเสาร์ชนิดนี้ เดิมมีถิ่นที่อยู่ในแถบอเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออก ระหว่างยุคปลายครีเตเชียส (Late Cretaceous Period) เมื่อ 65-99 ล้านปีก่อน

ไดโนเสาร์กลุ่มนี้ ซึ่งรวมทีเรกซ์ และญาติสนิทอย่างไดโนเสาร์ ทาร์บอซอรัส (Tarbosaurus) ของเอเชียนั้น จัดเป็นสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่มีแขนเล็ก มือมี 2 นิ้ว และมีขากรรไกรขนาดใหญ่ที่มีกำลังมาก ซึ่งสามารถบดเคี้ยวกระดูกได้ และนอกจากเป็นนักล่าแล้ว ไดโนเสาร์กลุ่มนี้ยังกินซากสัตว์อีกด้วย

อย่างไรก็ดี จูเฉิงไทแรนนัส มีความแตกต่างกับไทแรนนอเซอไรน์ชนิดอื่นๆ ตรงที่มีลักษณะผสมผสานที่เป็นเอกลักษณ์ในกะโหลก ซึ่งไม่พบในเทอโรพอดชนิดอื่นๆ นักวิทยาศาสตร์ขากรรไกรล่างที่มีฟันอยู่ 7 ซีี่ ขณะเดียวกันก็พบขากรรไกรที่มีฟันอยู่ 8 ซี่ด้วย และขนาดกับลักษณะของกระดูกที่แข็งแรงบ่งชี้ว่าตัวอย่างที่พบนั้น เป็นไดโนเสาร์โตเต็มวัย โดยวัดขนาดของฟันไดโนเสาร์นักล่าได้ 10 เซนติเมตร

ในการค้นพบครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ซึ่ง ศ.ซู ซิง (Xu Xing) ผู้ตั้งชื่อไดโนเสาร์มากว่า 30 ตัว จากสถาบันบรรพชีวินสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษวิทยาบรรพชีวินปักกิ่ง (Beijing Institute of Vertebrate Palaeontology and Paleoanthropology) ของจีนได้ร่วมทีมวิจัยในครั้งนี้ด้วย

กะโหลกและขากรรไกรของไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ ถูกพบอยู่ในเหมืองของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งกระดูกไดโนเสาร์ที่ชุกชุมที่สุดของโลก แต่ตัวอย่างส่วนใหญ่ที่ค้นพบจะเป็นฮาโดรซอร์ (hadrosaur) ซึ่งคือไดโนเสาร์ปากเป็ดขนาดใหญ่

อีกทั้ง งานวิจัยนี้ชี้ว่า พื้นที่ดังกล่าวมีฟอสซิลไดโนเสาร์จำนวนมาก เพราะบริเวณดังกล่าวถูกน้ำท่วมใหญ่และร่างของไดโนเสาร์ ถูกซัดมากองกันระหว่างน้ำท่วมและกลายเป็นฟอสซิลในที่สุด
ขากรรไกรล่างของจูเฉิงไทแรนนัสด้านซ้ายและขวา (บีบีซีนิวส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น